ข้อดี ข้อเสีย ลมยางไนโตรเจน และ ลมยางธรรมดา เติมผสมกันได้หรือไม่
ลมยาง สิ่งที่อยู่ภายในยางของรถทุกคัน และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยางรถทุกชนิด ซึ่งถ้าไม่มี หรือมีลมยางน้อยเกินไป รถยนต์ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มประสิทธิภาพ หรือถ้ามีมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายเช่น ยางระเบิด เป็นต้น
ในปัจจุบันหลายท่านคงอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ลมยางไนโตรเจน” แต่หลายๆ คนก็อาจจะยังไม่ทราบว่า ลมยางไนโตรเจนคืออะไร แตกต่างจากลมยางธรรมดาอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับลมยางไนโตรเจน ว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร และถ้าเติมผสมกับลมธรรมดาจะมีปัญหาหรือไม่
ลมยางไนโตรเจน
ลมยางไนโตรเจน นั้นจะประกอบด้วยไนโตรเจนมากกว่า 93% และจะเป็นไนโตรเจนแบบ Dry Nitrogen ซึ่งมีไอน้ำปนอยู่น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ต่างจากลมยางธรรมดาที่มีไนโตรเจน 78% และออกซิเจน 21% ส่วนที่เหลือเป็นไอน้ำ และก๊าซต่างๆ
ข้อดีของลมยางไนโตรเจน
- ลมยางไนโตรเจนกัดกร่อนเนื้อยางได้น้อยกว่าลมยางธรรมดา
- ขับขี่ได้นุ่มนวล และลดการเกิดเสียงของยางรถยนต์ที่กระแทกกับพื้นและตะเข็บรอยต่อถนน
- แรงดันในยางรถยนต์อยู่ได้นานกว่าปกติ และมีโอกาสน้อยที่ยางจะระเบิด
- แรงดันลมยางจะรั่วซึมน้อยกว่า จึงไม่ต้องเติมลมยางบ่อยๆ
- ลมยางไนโตรเจนเป็นก๊าซแห้ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำ จึงไม่ทำให้กระทะล้อเป็นสนิม
- ช่วยยืดอายุการใช้งานของยางได้มากกว่าการเติมลมยางแบบปกติ
ข้อเสียของลมยางไนโตรเจน
- หาเติมค่อนข้างยาก
- ไม่สามารถใช้ร่วมกับลมยางธรรมดาได้ หากจะเติมลมไนโตรเจนต้องถ่ายลมยางธรรมดาออกให้หมดก่อน
- หากเติมลมธรรมดาเข้าไปในยางที่มีลมไนโตรเจน ยางนั้นก็จะมีแต่ลมธรรมดาไปเลย
- มีศูนย์บริการที่รับเติมลมยางไนโตรเจนไม่ค่อยมาก ต้องเติมที่อู่หรือศูนย์บริการเท่านั้น
ลมยางธรรมดา
ลมยางธรรมดา จะประกอบไปด้วย ไนโตรเจน 78% และอ็อกซิเจนอีก 21% ส่วนที่เหลือจะเป็นไอน้ำ และก๊าซต่างๆ
ข้อดีของลมยางธรรมดา
- หาแหล่งเติมลมยางได้ง่าย โดยเฉพาะในปั๊มน้ำมัน
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเติมลมยาง
ข้อเสียของลมยางธรรมดา
- หากเทียบกับลมไนโตรเจนแล้ว ลมยางธรรมดาจะมีการขยายตัวได้มากกว่า และเมื่อใช้ไปในระยะนานๆ อุณหภูมิความร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้ยางขยายตัวและมีโอกาสระเบิดได้มากกว่า
ถ้าเติมไนโตรเจนไปแล้วจะเติมลมธรรมดาผสมกันได้หรือไม่
สำหรับคนที่เติมลม ไนโตรเจนแล้ว มาเติมลมยางธรรมดาเข้าไปผสมด้วยกัน บอกเลยว่าไม่มีปัญหา หรือไม่เกิดผลเสียแน่นอนครับ เพียงแต่มันก็แค่กลายเป็นลมธรรมดา และคุณสมบัติของไนโตรเจนก็จะลดลงไปเท่านั้นเอง
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th