คาร์บูหรือหัวฉีด แบบไหน “ดีด” กว่ากัน…
ชีวิตวัยรุ่นหมกมุ่นอยู่กลางถนน หลายคนเติบโตมาจากยุคมอเตอร์ไซค์เครื่องคาร์บูเรเตอร์จนกระทั่งมาถึงยุคเครื่องหัวฉีดเริ่มแพร่หลาย แต่ความนิยมของรถที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ก็ยังไม่น้อยลงไป การใช้งานทั่วไปหรือการโมดิฟายตกแต่งเพิ่มสมรรถนะหรือเพื่อการแข่งขัน ล้วนแต่มีหลายเหตุผลที่มีมารองรับ
บางคนอนุรักษ์นิยมว่าระบบคาร์บูเรเตอร์มันไม่ต้องมีระบบไฟฟ้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ซ่อมแซมบำรุงรักษาง่าย บางครั้งปั้นแต่งเพิ่มความแรงก็ทำได้โดยความเข้าใจระดับหนึ่งไม่ยุ่งยาก อีกทั้งอะไหล่ทดแทนหรืออะไหล่ตกแต่งมีรองรับค่อนข้างมากทำให้มันยังพบเห็นระบบคาร์บูเรเตอร์ใช้งานอยู่ทั้งบนถนนหรือในสนามแข่ง
ส่วนระบบหัวฉีดนั้นมีความทันสมัยแต่ถ้าในรถเดิมๆ ที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน การใช้งานดูจะไม่แตกต่างสักเท่าไหร่ การดูแลบำรุงรักษาถ้าเป็นหัวฉีดยุคแรกจะยังพอมีความเข้าใจที่ยุ่งยากอยู่บ้างด้วยความใหม่ในการปรับตัว แต่ในปัจจุบันแล้วระบบหัวฉีดทันสมัยขึ้นมากในมอเตอร์ไซค์ แถมการใช้งานเองก็จะไม่แตกต่างดูแลรักษาง่าย จึงจะเห็นอย่างมากมายและรถรุ่นใหม่จะก้าวเข้าใช้ระบบหัวฉีดแทบทั้งสิ้นด้วยความเกี่ยวข้องหลายอย่าง
การใช้งานทั่วไปกับประเด็นความแตกต่างนั้นดูจะไม่ใช่ข้อขัดแย้งอะไรสักเท่าไหร่ แต่กับการพัฒนาทำให้เครื่องยนต์มีสมรรถนะที่ดีขึ้น ในแง่มุมของทั้งผู้ใช้หรือผู้ที่เป็นคนทำ มองว่าทั้งสองแบบนั้นอย่างไหนมันจะ “ดีด” มันจะแรงกว่า ซึ่งมันต้องรวมไปถึงแบบไหนมันทำได้ง่าย ทำได้ขึ้นกว่า เข้าไปด้วย บางคนชอบระบบคาร์บูเพราะมันมีมานานคุ้นเคยกว่า
การใช้งานทั่วไปคาร์บูเรเตอร์ กลไกไม่ซับซ้อน การดูแลรักษาล้างทำความสะอาดตรวจเช็คการรั่วซึม การโมดิฟายเพิ่มชิ้นส่วนสำหรับการจ่ายเชื้อเพลิงให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนขนาดของมันให้ทำงานได้เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ที่เราเพิ่มความจุหรือเพิ่มพื้นฐาน ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ไม่ยาก แต่เมื่อมันเป็นระบบหัวฉีด การจะดูแลรักษาการตรวจเช็คจะต้องเพิ่มในส่วนของระบบควบคุมการทำงาน ระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาอีก ระบบพวกนี้ยิ่งทันสมัยยิ่งแม่นยำให้สมรรถนะที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อจะต้องตรวจเช็กแก้ไขต้องใช้ความเข้าใจรวมไปถึงเครื่องมือเข้ามารองรับ เรียกว่ายุ่งยากต้นทุนสูงกว่า บางครั้งแค่ไฟรั่วบางจุดเล็กๆ ทำให้การทำงานมันรวนไปได้หมด การจะโมดิฟายมีทั้งแบบที่ทำได้ด้วยการปรับแต่งระบบควบคุมการทำงานด้วยโปรแกรมเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว หรือจะต้องผสมผสานกับการเปลี่ยนชิ้นส่วนกลไกเข้าไปรองรับด้วย
เมื่อมีการเปลี่ยนส่วนประกอบเข้าไปในเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด ค่าที่เป็นข้อมูลซึ่งใช้ในการประมวลผลควบคุมการทำงานจะเปลี่ยนไป ทำให้ต้องไล่เรียงข้อมูลกันจนกว่าจะลงตัว บางครั้งทำให้การจัดเต็มให้เครื่องยนต์หรือโมดิฟายแบบสุดโต่ง จะทำให้ลงตัวได้ยากกับเครื่องยนต์แบบหัวฉีด บางคนจึงไม่นิยมที่จะทำการโมดิฟายเครื่องหัวฉีด แต่จะหันไปแต่งเครื่องคาร์บูเรเตอร์เพราะถึงจะอัดใส่ความแรงเข้าไปเท่าไหร่ มันจะทำงานให้คุณได้แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง บางคันยัดลูกโตเกินพิกัด ปลอกสูบเสื้อบาง คาร์บูโลกใหญ่เท่ามะพร้าวเผา เรียกว่าเต็มไม่มีหมก อาจจะวิ่งได้รายการเดียวแล้วเลิกกัน เพราะนั่นคือจบภารกิจ
ถึงตรงนี้คงพอเข้าใจ เรื่องว่าระบบไหนจะ”ดีด”กว่ากันอยู่ที่พื้นฐานในการตกแต่ง แต่ถ้าการใช้งานทั่วไป ไม่ว่าระบบอะไรต้องดูแลรักษาใส่ใจสักเล็กน้อยก็จะใช้ได้ยาวนานไม่ว่ารถระบบไหน…
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
เครดิต: ภาพ: www.jipata-1973.com / www.pantip.com/ www.kzhparts.com / www.drakesmotors.com /www.iamlivingit.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th