ช็อปยางช่วยชาติ ไร้เงาแบรนด์ดัง กยท.แนะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารักษาสิทธิ์
2 ผู้ผลิตยางรถยนต์แบรนด์ดัง มิชลิน และ ดันลอป ส่งหนังสือด่วนถึงดีลเลอร์ทั่วประเทศชี้แจ้งลูกค้าเหตุไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ด้าน กยท.ยังเดินหน้ามาตรการช็อปยางรถยนต์ช่วยชาติ แม้นไร้เงาผู้ประกอบการแบรนด์ดัง แนะทำสัญญาซื้อขายไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อรักษาสิทธิ์
ขณะนี้มาตรการ ช็อป ช่วย ชาติ ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562 มีสินค้าเข้าร่วม 3 ประเภท ได้แก่ หนังสือ สินค้าโอท็อป และยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย โดยประชาชนที่ซื้อสินค้าดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาทนั้น ในส่วนของยางรถยนต์ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ขณะนี้มีภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการยาง ตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้วจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัทบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีสโตน จำกัด และบริษัท ยางโอตานิ จำกัด
สำหรับการซื้อยางรถยนต์จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ ซึ่งหากซื้อช่วงปีไหนก็จะหักลดหย่อนภาษีในปีนั้น ในวงเงินไม่เกินคนละ 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน
ล่าสุด มีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์อย่างน้อย 2 ราย ส่งหนังสือถึงผู้แทนจำหน่าย โดย บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ชี้แจงว่า “เนื่องด้วยประกาศคณะรัฐมนตรีกำหนดว่าสินค้ายางล้อที่ผู้บริโภคสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2561 ได้นั้น ต้องซื้อจากบริษัทผู้ผลิตที่ซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยเท่านั้น และจากการประชุมร่วมกับทางภาครัฐปรากฎว่าจะต้องเป็นการซื้อ 15 วันก่อนและภายในช่วงเวลาที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 16 มกราคม 2562 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สินค้าของบริษัทฯ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจะนำไปขอลดหย่อนภาษีได้เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพวัตถุดิบและเปลี่ยนช่องทางการจัดซื้อได้ทันภายในเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง จึงเรียนมาเพื่อให้ผู้แทนจำหน่ายทุกรายทราบว่ายางล้อที่บริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายไม่ตกอยู่ในเกณฑ์ที่จะขอรับคูปองเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินบุคคลธรรมดาได้ จึงขอให้สื่อสารไปยังร้านค้าและลูกค้าผู้ซื้อยางให้เกิดความเข้าใจตรงกัน”
ส่วน บริษัท ดันลอป ไทร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ส่งหนังสือถึงร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ระบุว่า “ทางบริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าสินค้ากว่า 90% ของบริษัทฯ เป็นยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย และใช้น้ำยางพาราจากผู้ประกอบการภายในประเทศ เพียงแต่ไม่ได้สั่งซื้อผ่านการยางแห่งประเทศไทย เบื้องต้นจึงถือว่า ยังไม่เข้าข่ายที่จะได้รับคูปองตามเงื่อนไข เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาสิทธิการลดหย่อนภาษี ในกรณีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ บริษัทฯ ขอความร่วมมือร้านค้าตัวแทนจำหน่ายออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้กับผู้ซื้อยางรถยนต์ในช่วงระยะเวลาโครงการ กล่าวคือ 15 ธันวาคม 2561 ถึง 16 มกราคม 2562 จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือร้านค้าตัวแทจำหน่ายในการชี้แจงไปยังลูกค้าผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และหากมีความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ ทางบริษัทฯ จะออกจดหมายชี้แจงอีกครั้ง”
ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า “บริษัทเหล่านี้ไม่เคยซื้อยางโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร และซื้อยางผ่านบริษัทเอกชนที่ขายยางเท่านั้น ซึ่งถ้าหากจะเปลี่ยนมาซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่ผลิตยาง บริษัทจะต้องส่งยางตรวจคุณภาพก่อนซึ่งใช้เวลานาน ในเบื้องต้นกยท.จึงมีแนวทางให้บริษัทเหล่านี้ทำสัญญาซื้อขายไว้ก่อนล่วงหน้า และส่งมอบยางให้ทีหลัง”
เรื่อง :ณัฐพล เดชสิงห์
ภาพ :blog.kingofcarstx.com /www.falkentire.com/freeiconspng.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th