ปัญหาที่อาจเกิดเมื่อซื้อรถยนต์ไว้ใช้เชิงธุรกิจ
สิ่งหนึ่งที่มักถูกซื้อไว้ในธุรกิจหรือซื้อในนามบริษัทมากที่สุดสิ่งหนึ่งก็คือรถยนต์ โดยอาจมีทั้งที่ใช้จริงและมีทั้งที่เพื่อนำค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์มาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท อย่างไรก็ตามรถยนต์ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งที่ซื้อไว้ในเชิงธุรกิจอาจสร้างปัญหาตามมาได้เมื่อมีการคำนวณภาษีหากรถที่ซื้อมีราคาแพง มีการใช้งานไม่นาน และมีการขายต่อ เพราะตัวเลขเกี่ยวกับรถยนต์นั่งทางบัญชีและทางภาษีอาจไม่เหมือนกัน
รถยนต์นั่งคืออะไร มีผลอย่างไร
ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจกับคำว่ารถยนต์นั่งดูก่อน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต คำว่ารถยนต์นั่งจะหมายถึง รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งปกติ รวมไปถึงรถยนต์ในลักษณะเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวรด้านข้าง หรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด ซึ่งถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือรถยนต์ทั่วไปที่ใช้งานทั้งรถเก๋ง รวมทั้งรถกระบะ 4 ประตูเป็นรถยนต์นั่ง แต่อย่างไรก็ตามภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงของกรมสรรพสามิตซึ่งทำให้รถกระบะ 4 ประตูพ้นจากการเป็นรถยนต์นั่งตามกฏหมายตามพิกัดภาษีสรรพสามิต
ซึ่งการเป็นรถยนต์นั่งจะส่งผลต่อการคิดค่าเสื่อมราคา เพราะตามมาตรา 65 ตรี (20) และพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 315 ระบุไว้ว่า “ให้กิจการสามารถหักค่าเสื่อมราคามูลค่าต้นทุนของรถยนต์นั่งได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท”
ความแตกต่างทางมูลค่าระหว่างทางบัญชีกับภาษี
ด้วยการที่สามารถหักค่าเสื่อมราคามูลค่าต้นทุนของรถยนต์นั่งได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จึงทำให้เกิดความแตกต่างทางบัญชีและภาษีได้ เมื่อซื้อรถที่มีราคาสูงกว่า 1 ล้านบาท เช่นกิจการที่ดำเนินอยู่ซื้อรถยนต์ใหม่ราคา 5 ล้านบาทและประมาณอายุการใช้งานไว้ที่ 5 ปี จะมีความแตกต่างทางบัญชีและภาษีเกิดขึ้นทันทีคือ ในทางบัญชีต้นทุนค่าที่คิดค่าเสื่อมราคาคือ 5 ล้าน บาทตามราคาจริงของรถ และมีค่าเสื่อมราคาต่อปี 1 ล้านบาทตามอายุการใช้งานที่ประมาณไว้ แต่ในทางภาษี ต้นทุนที่คิดค่าเสื่อมราคาของรถคันเดียวกันนั้นจะอยู่ที่ 1 ล้านบาท ทำให้ค่าเสื่อมราคาของการใช้งาน 5 ปีอยู่ที่ 200,000 บาทต่อปี
ความแตกต่างทางบัญชีและภาษีเมื่อขายรถ
ปัญหาความแตกต่างของต้นทุนที่คิดค่าเสื่อมราคาระหว่างทางบัญชีของธุรกิจและภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายรถคันนั้นออกไป โดยในทางบัญชีรถคันเดียวกับข้างต้นที่มีต้นทุนที่คิดค่าเสื่อมราคา 5 ล้านบาทเท่ากับราคาของรถ และมีค่าเสื่อมราคา 1 ล้าน บาทต่อปี เมื่อใช้งานไป 1 ปีจะหักค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 1 ล้านบาท ทำให้มีต้นทุนคงเหลือ 4 ล้านบาท แต่พอใช้รถครบ 1 ปีก็มีการขายรถคันนั้นไปในราคา 3 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นในทางบัญชีคือขาดทุน 1 ล้านบาท
แต่ในทางภาษีรถคันเดียวกันนี้มีต้นทุนที่คิดค่าเสื่อมราคา 1 ล้านบาท เมื่อผ่านการใช้งาน 1 ปีจะหักค่าเสื่อมราคา 200,000 บาท ทำให้มีต้นทุนคงเหลือของรถ 800,000 บาท และเมื่อขายรถไปในราคา 3 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นในทางภาษีคือได้กำไรจากการขายรถคันนั้น ซึ่งแตกต่างกับทางบัญชีที่บริษัทขาดทุนหลังจากขายรถไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าต้องมีการเสียภาษีจากกำไรที่ได้มาจากการขายรถ
สรุปก็คือรถยนต์นั่งที่มีราคาเกินกว่า 1 ล้านบาทจะใช้เป็นต้นทุนทางภาษีได้เพียง 1 ล้านบาท และหากมีการขายรถยนต์นั่งคันนั้นไปในราคามากกว่าต้นทุนทางภาษี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกำไรทางภาษีที่ต้องยึดตามต้นทุนที่เกิดขึ้น ขณะที่ทางบัญชีของธุรกิจอาจรับรู้รายการนี้เป็นการขาดทุน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th