เริ่มประชันความแกร่ง ซูบารุ Last Palm Standing ที่สิงคโปร์ ทีมไทยกำลังใจดีเยี่ยม
เริ่มต้นขึ้นแล้วกับกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องกันทุกปีกับการแข่งขับแตะรถ ชิงรถ หรือในปีนี้ใช้ชื่อว่า “Last Palm Standing- Mediacorp Subaru Car Challenge” การแข่งขันประชันความอดทนและความแกร่งที่โหดที่สุดในเอเชีย โดยรางวัลสำหรับผู้ที่ยืนแตะรถได้เป็นคนสุดท้ายจะได้รับรถยนต์ Subaru Forester 2.0i-L ไปครอง พร้อมเงินรางวัล และหากทีมไทยยืนหยัดอยู่ถึง 10 คนได้นานที่สุดจะมีเงินรางวัล Country Winner ไปครองอีกด้วย
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ยังคงจัดกันที่ Ngee Ann City ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชอปปิ้งชั้นนำของสิงคโปร์ บนถนน Orchard ซึ่งคนอึดชาวไทยทั้ง 10 คนจะต้องแข่งขันกับผู้เข้าแข่งขันจากสิงคโปร์, กัมพูชา, จีน, ฮ่องกง, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และเวียดนาม อีก 390 คน ท่านกลางอากาศที่ร้อนระอุ ที่อาจจะมีฝนตกลงมาได้ด้วยเช่นกัน
โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้ฝ่ามือขวาแตะไว้อยู่บนสติ๊กเกอร์รูปมือที่ตัวรถเอาไว้ตลอดเวลา ห้ามให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสโดนรถ และห้ามมือขวาหลุดออกมาจากสติ๊กเกอร์เด็ดขาด ซึ่งจะถือว่าตกรอบในทันที และสิ่งที่โหดที่สุดคือ ทุกคนจะต้องแตะรถเป็นเวลานานถึง 6 ชั่วโมง จึงจะได้พักเป็นเวลาเพียง 5 นาที เท่านั้น เมื่อหมดเวลาต้องกลับมาแตะรถต่อ อย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดพักใดๆ ทั้งสิ้น แน่นอนว่าจะต้องอดนอนด้วยเช่นกัน งานนี้ใครเผลอหลับแล้วมือหลุดออกจากตัวรถก็จะตกรอบไปตามระเบียบ
10 นักแข่งคนอึดทีมประเทศไทยกำลังใจดีเยี่ยม
สำหรับปีที่ผ่านมาผู้ชนะเป็นผู้หญิงชาวสิงคโปร์ “อนาลิซ่า บินท์ มอกทาร์” ทำเวลาไป 75 ชั่วโมง 17 นาที เฉือนเอาชนะ “ไพรทูน สงวนนาม” คนอึดชายไทยไปอย่างน่าเสียดาย แต่ทีมไทยสามารถคว้ารางวัล Country Team Winner พร้อมเงินรางวัลกลับไปได้ และมีสถิติที่น่าสนใจคือ ทีมไทยสามารถคว้ารางวัล Country Team Winner ได้ถึง 4 ครั้ง ในปี 2009, 2011, 2014 และ 2018 (ทีมไทยยืนแตะรถอยู่ครบ 10 คน นับเวลารวมนานที่สุด) และรางวัล Asian Winner 2 ครั้ง ในปี2010 และ 2012 (รางวัลนี้ผู้เข้าแข่งขันไทยสามารถยืนแตะรถอยู่เป็นคนสุดท้ายของอาเซียน ยกเว้นสิงคโปร์)
รางวัลสำหรับผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว Subaru Forester 2.0i-L
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทีมไทยสามารถผ่านเข้ารอบในอันดับ 5 คนสุดท้ายได้หลายครั้ง และทำเวลาแตะอึดได้นานตามสถิติด้านล่างนี้
ปี 2012 นายสมัชญ์ เทพเสน 76 ชั่วโมง 9 นาที
ปี 2013 นายสากล ภูมิเลิศ 59 ชั่วโมง 29 นาที
ปี 2014 นายไพรทูน สงวนนาม 72 ชั่วโมง 41 นาที
ปี 2015 นายสากล ภูมิเลิศ 68 ชั่วโมง 51 นาที
ปี 2016 นายศิริพงศ์ ทุษดี 54 ชั่วโมง 1 นาที
ปี 2017 นายพลไพศาล ประภาเศรษฐี 49 ชั่วโมง แต่เคยทำเวลาไว้ได้สูงสุดที่ 59 ชั่วโมง 40 นาที
ปี 2018 นายไพรทูน สงวนนาม 75 ชั่วโมง 15 นาที
ส่วนปีนี้ 2019 ใครจะเป็นผู้ทำเวลาได้นานที่สุดของไทย และจะสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาครองได้สำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามและให้กำลังใจเชียร์กันด้วย ในฐานะของตัวแทนประเทศไทยกับ 10 คนอึดที่ตอนนี้กำลังแข่งขันกันอย่างอดทนอย่างที่สุด
เรื่อง/ภาพ : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th