ตลาดน้ำมันยังทรงตัว พร้อมหวั่นการระบาด COVID-19 ระลอกสอง
นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM) ให้จับตาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของหลายประเทศ โดยตลาดน้ำมันยังกังวลการระบาดระลอกสองที่มีโอกาสทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง ส่งผลราคาน้ำมันทรงตัวต่อเนื่องในเดือนก.ค. 63 ที่ผ่านมา ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจของโลก ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
เพจ PTT news ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM) เกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันของโลกที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย โดยมองว่า ราคาน้ำมันปรับขึ้นเล็กน้อยหลังโอเปกและพันธมิตรยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิต แต่ตลาดยังกังวลโควิด-19 ระบาดรอบสอง
ทั้งนี้ทีม PRISM ให้จับตาดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของหลายประเทศ เนื่องจากการระบาดระลอกสองมีโอกาสทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังควรจับตาดูสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจของโลกต่อไป
สำหรับราคาน้ำมันดิบในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังการฟื้นตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด -19 เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของนานาประเทศ ประกอบกับสัญญาณเศรษฐกิจต่างๆ ที่สะท้อนว่าอุปสงค์น้ำมันกำลังฟื้นตัวตาม แต่ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการระบาดระลอกสองของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ ที่ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทรงตัวต่อเนื่อง
ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการร่วมตรวจสอบในระดับรัฐมนตรี (Joint Ministerial Monitoring Committee หรือ JMMC) เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส)เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติทำการปรับลดกำลังการผลิตลงมาอยู่ที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2563 ซึ่งลดจากระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ตัดสินใจคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่แน่นอนและแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม
ในด้านของอุปสงค์ สหรัฐอเมริกาเริ่มกลับมาใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ (US Energy Information Administration หรือ EIA) ฉบับล่าสุด ระบุว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเหลวในเดือนมิถุนายน เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจสูงถึง 18.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปี จากการที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น (จากระดับ 17.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งปีแรก)
นอกจากนี้ EIA ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้าถึง 0.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนถึง 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 92.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 จนถึงปี 2565
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th