ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คือการคุ้มครองผู้ใช้รถเมื่อเกิดอุบัติเหตุเบื้องต้นโดยทันที การใช้สิทธิ์การรักษาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่ความยุ่งยากน่าจะเป็นการเตรียมเอกสารมากกว่า ถ้าเกิดขาดตกบกพร่องอะไรไปการเบิกจ่ายจะล่าช้าไปด้วย เพื่อความครบถ้วนของเอกสารที่ใช้ยื่น พ.ร.บ. เรามาดูกันดีกว่าว่าต้องเตรียมอะไรกันบ้าง
เอกสารที่จะต้องใช้เวลาการเคลม พ.ร.บ. มีดังนี้ กรณีบาดเจ็บ
- สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ
กรณีเบิกค่าชดเชย หรือ ผู้ป่วยใน
- สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
กรณีทุพพลภาพ
- สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือ หลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ
กรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
- ใบมรณะบัตร
- สำเนาบัตรประชาชนทายาทสำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากรถ
เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว สามารถทำเรื่องขอเบิกเงิน จากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เราซื้อ พ.ร.บ.มา ซึ่งสามารถดูได้ที่กรมธรรม์ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายเงินภายใน 7 วัน โดยพ.ร.บ.จะคุ้มครองผู้เสียหายในส่วนของคนเท่านั้น ส่วนทรัพย์สิน หรือ ตัวรถจะไม่ได้รับการคุ้มครอง
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th