รถยนต์ไฟฟ้าโดนภาษีกี่ต่อ-ทำไมอยากขับ Nissan LEAF ต้องจ่าย 1.99 ล้านบาท?
มีภาษีอะไรบ้างที่ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้า ต้องถูกเรียกเก็บจนทำให้ต้องตั้งราคาขายที่ 1.99 ล้านบาท หากเทียบกับรถยนต์นำเข้า และผลิตในประเทศแตกต่างกันขนาดไหน ลองมาดูรายละเอียดกันเลย…
นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดราคาของ Nissan Leaf อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็นหลายทาง ทั้งคนที่มองว่าเป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับการเป็นเทคโนโลยีใหม่เหมือนกับสมาร์ตโฟนรุ่นแรกๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในขณะที่อีกหลายคนมองว่านิสสัน น่าจะทำราคาลงมาให้ถูกกว่านี้ได้
อ่านข่าว-คนไทยตอบรับเกินคาดจอง Nissan Leaf 26 คันใน 2 สัปดาห์!!!
แต่ความจริง Leaf ที่นำเข้ามาขายในบ้านเราตอนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ (Completely Built Units: CBU) ทำให้โดนเรียกเก็บภาษียุบยับไปหมดกว่าจะเป็นราคาขายให้คนไทยอย่างที่เห็น โดยสรุปง่ายๆ มี 4 ตัวคือ: ภาษีอากรขาเข้า-ภาษีสรรพสามิต-ภาษีเพื่อมหาดไทย-ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขั้นตอนการคิดภาษีของ Leaf เหมือนกับรถนำเข้าปกติ โดยราคาที่ขายในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในราว 3.2-4 ล้านเยน แปลงเป็นเงินไทยจะตกอยู่ที่ 928,000-1,160,000 ล้านบาท แต่ตามข้อกำหนดของสินค้านำเข้าจะต้องคิดจากราคา Cost Insurance Freight (CIF: ราคาสินค้า+ค่าขนส่ง+ ค่าประกันภัย)
หากตีราคาของ Leaf เป็นตัวเลขกลมๆ 1,000,000 บาท บวกกับค่า CIF 100,000 บาท* จะกลายเป็น 1,100,000 บาท ก่อนจะคำนวณภาษีตัวแรกคืออากรขาเข้า แต่โชคดีที่ได้สิทธิพิเศษตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้เสียภาษีในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์จากที่ปกติเก็บ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับรถยนต์นำเข้า
หลังจากนี้จะเริ่มซับซ้อนแล้ว โดยขั้นตอนภาษีหลังจากบวกอากรขาเข้าจะต้องมาเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 8% สำหรับกลุ่มรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (เครื่องยนต์สันดาปภายใน/ไฮบริด จะเก็บตามการปล่อยค่าไอเสีย CO2) โดยภาษีตัวนี้จะลดลงเหลือ 2% หากนิสสัน ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
พอได้ราคาภาษีสรรพสามิตจะต้องคำนวณเป็นภาษีมหาดไทย 10% ก่อนจะนำภาษี 2 ตัวนี้มารวมกันแล้วจับไปบวกกับราคา CIF-อากรขาเข้าอีกรอบ และตบท้ายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จนกลายเป็นราคา 1.99 ล้านบาทอย่างที่เห็น
ตัวอย่างการคำนวณภาษี Nissan Leaf*
1. Nissan Leaf ราคา 1,000,000 บาท + CIF 100,000 บาท = 1,100,000 บาท*
2. ภาษีอากรขาเข้า 20%: 1,100,000x 20% = 220,000 บาท = 1,320,000 บาท
3. ภาษีสรรพสามิต 8%: 1,320,000x 8% ÷ 0.45 = 234,666 บาท
4. ภาษีมหาดไทย 10% คำนวณจากภาษีสรรพสามิต: 234,666x 10% = 23,466 บาท
>> ภาษีสรรพสามิต+ภาษีมหาดไทย = 258,132 บาท; + ราคาหลังคำนวณอากรขาเข้า 1,320,000 = 1,578,132 บาท
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%: 1,578,132x 7% = 110,469 บาท
6. ราคาหลังจากผ่านขั้นตอนทางภาษี 1,578,132 + 110,469 = 1,688,601 บาท*
*ทั้งหมดเป็นตัวเลขประมาณการ
เพื่อความเข้าใจลองมาดูตารางเปรียบเทียบขั้นตอนการเรียกเก็บภาษีระหว่าง Nissan Leaf กับรถยนต์นำเข้าปกติทั้งเครื่องยนต์สันดาป (เบนซิน/ดีเซล) และรถยนต์นำเข้าไฮบริด/ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ตอนนี้เสียภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ถูกมากๆ รวมทั้งรถยนต์ประกอบในประเทศ
ตารางเปรียบเทียบอัตราภาษี
*ข้อมูลจาก car.go.th
คงพอจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าทำไม Nissan Leaf รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์อื่นๆ ที่ขายในประเทศไทยตอนนี้ถึงมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากวันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตในบ้านเราอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วันนั้นรถยนต์ไฟฟ้าคงจะมาหาคนไทยจริงๆ อย่างแน่นอน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th