มาสด้า-ซูซูกิ-ยามาฮ่า เรียงคิวสารภาพปลอมผลทดสอบค่าไอเสีย
มาสด้า, ซูซูกิ มอเตอร์ และยามาฮ่า มอเตอร์ กลายเป็นอีก 3 ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำแดนซามูไรที่ออกมาสารภาพว่ามีความผิดพลาดในขั้นตอนทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และตัวเลขค่าไอเสียของรถยนต์ที่ผลิตขายในประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นอีกความอื้อฉาวที่สร้างความสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า “Made in Japan” อีกครั้ง
ความอื้อฉาวรอบล่าสุดนี้ได้รับการยืนยันจากกระทรวงที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งของประเทศญี่ปุ่น (เอ็มแอลไอที) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม โดยทั้ง 3 บริษัท และบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมดได้รับการแจ้งจากเอ็มแอลไอที ให้ตรวจสอบขั้นตอนการทดสอบคุณภาพรถยนต์ในกระบวนการผลิตทั้งหมด หลังจากเมื่อช่วงต้นปีนี้ นิสสัน มอเตอร์ และซูบารุ สารภาพว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบรถยนต์ รวมทั้งการเกิดคดีเกี่ยวกับคุณภาพการผลิตรถยนต์ที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
อ่านข่าว: ค่ายรถญี่ปุ่นสะเทือน-ใช้อลูมิเนียมเกรดต่ำผลิตรถนานร่วมปี
อ่านข่าว: โตโยต้าพ้นวิกฤตโกเบ สตีล-ทดสอบทุกชิ้นส่วนปลอดภัย 100%
ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ซูซูกิ ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2012 มีรถยนต์ 6,401 จากทั้งหมด 12,819 คัน ที่นำมาทดสอบอัตราสิ้นเปลื้องน้ำมัน และค่าการปล่อยไอเสียไม่ได้ผ่านขั้นตอนการขับตามสภาวะที่กำหนด เช่นเดียวกับกรณีของมาสด้า มีตัวเลขความผิดพลาดที่ 72 คันใน 1,875 คัน นับจากปี 2014 และยามาฮ่า ตรวจพบว่ามีมอเตอร์ไซค์ 7 คันจาก 335 คันของพวกเขาที่ไม่ถูกตรวจสอบตามมาตรฐานนับจากปี 2016
หลังจากข้อมูลทั้งหมดได้รับการยืนยัน Toshihiro Suzuki ประธานบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ออกมากล่าวข่าวขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในงานแถลงข่าวช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยระบุว่าตอนนี้ยังไม่มีแผนการเรียกคืนรถยนต์เพื่อกลับมาแก้ไข “มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวนมากของบริษัทไม่ได้ผ่านขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้อง และเรากำลังมุ่งมั่นจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น เราล้มเหลวในการให้ความรู้กับพนักงานทั้งในแง่ความละเอียด และความรอบคอบ”
ทางด้านมาสด้า ที่เผชิญความผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์เป็นครั้งแรก ส่งกรรมการบริหารอาวุโส Kiyotaka Shobuda ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพื่ออธิบายว่าบริษัทไม่ได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงข้อมูล และยืนยันว่าขั้นตอนการตรวจสอบที่ไม่ได้มาตรฐานจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพรถยนต์ “บริษัทของเราตรวจสอบเหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง และจะหามาตรการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต”
ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งแดนซามูไร Keiichi Ishii เตรียมออกกฎข้อบังคับใหม่เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกบริษัทต้องบันทึกผลการทดสอบรถยนต์ที่ซุ่มตรวจระหว่างการผลิต และวางมาตรการที่จะไม่ให้เกิดการปลอมแปลงข้อมูล “เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่เกิดสถานการณ์ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเผชิญความวิตกกังวลในคุณภาพของรถยนต์ และคุณภาพในการควบคุมการผลิตรถยนต์”
ความผิดพลาดครั้งล่าสุดทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของสินค้าที่ปั๊มตรา “Made in Japan” เพิ่มมากขึ้น หลังจากเมื่อปลายปี 2017 โกเบ สตีล บริษัทผลิตโลหะรายใหญ่ของญี่ปุ่น ออกมายอมรับว่าพวกเขาส่งมอบอลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากให้ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก, ปัญหาถุงลมนิรภัยของบริษัททากาตะ ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) โดยคดียังยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ และโตโย ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ บริษัทผลิตยางรถยนต์ยอมรับเจ้าหน้าที่ว่ามีการแก้ไขข้อมูลของเครื่องรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่ติดตั้งในอาคารหลายแห่ง เมื่อปี 2015
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: asia.nikkei.com/ft.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th