รถสวมทะเบียน ดูอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก…
ในครั้งนี้จะพูดถึงการ “สวมทะเบียนรถยนต์” เรื่องสุ่มเสี่ยงที่หลายท่านมองข้าม ไม่ใส่ใจ จนกว่าจะได้สัมผัสกับตัวเองหรือ ญาติสนิท มิตรสหาย คนใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพที่หากินกับการสวมทะเบียนเหล่านี้ ได้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายเป็นวงกว้าง ซึ่งในครั้งนี้เรามีเทคนิคขั้นตอนกลโกงต่างๆ รวมไปถึงวิธีป้องกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ “รู้เท่าทัน” และหลีกเลี่ยงการติดต่อซื้อขายรถกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มาฝากกัน
การสวมทะเบียน
มักทำกันเป็นขบวนการ เป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน วิธีการที่พบเจอบ่อยที่สุด คือการ ‘รวมร่าง’ ในขั้นตอนแรกก็คือ การหาซื้อหรือประมูลซากรถจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำเอกสารสมุดทะเบียนรถและเลขตัวถังของซากรถที่มีสภาพยับเยินคันนั้นมา เตรียมไว้ เพื่อตอกใส่รถอีกคัน แต่ก็อาจจะเป็นปีที่ใหม่กว่าสักเล็กน้อย เพราะจะทำให้ขายได้ราคาดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนต่อมาคือ การหาซื้อ “รถหนีไฟแนนซ์” ที่มีมาพร้อมเอกสารจากไฟแนนซ์และทะเบียนรถ โดยเลือกรถรุ่นปีเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับซากที่ซื้อมาเตรียมไว้ก่อนหน้า นำมาลบเลขตัวถังเดิม เพื่อตอกเลขตัวถังของซากรถที่ใช้งานไม่ได้ลงไปใหม่ เพื่อส่งเข้าสู่ตลาดค้ารถมือสองต่อไป ในส่วนของเต็นท์รถ ก็จะมีทั้งรู้ และไม่รู้ว่าเป็นรถสวมทะเบียน ซึ่งเต็นท์ที่รู้ก่อนหน้า ก็จะรับมาและขายไป ในลักษณะผ่านมือ เพราะทำกำไรได้ดี มีส่วนต่างมาก ส่วนคนที่ไม่รู้ ก็มักจะตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็คือ ในตอนที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีข้อหา “รับซื้อของโจร” ซึ่งก็มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่มากมาย…
โคลนนิ่ง รถแฝด เลขทะเบียนเดียวกัน…
เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการสวมทะเบียน ซึ่งวิธีนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้โดนผู้ร้ายหลอก แต่เจ้าของทำตัวเป็นผู้ร้ายเสียเอง ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ควรเลียนแบบอย่างยิ่ง โดยเกิดจากคนที่อยากมีรถใช้หลายคัน แต่ไม่อยากจ่ายแพง ตัวอย่างเช่น มีรถอยู่แล้ว 1 คัน ที่ซื้อมา จดทะเบียน เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องการมีรถรุ่นเดียวกันเพิ่มอีกสักคันสองคัน แต่ไม่อยากเสียภาษีเพิ่ม
ก็เลยใช้วิธีการ “โคลนนิ่ง” โดยการหาซื้อรถหนีไฟแนนซ์ หรือรถหลุดจำนำราคาถูก ที่เป็นรุ่นเดียวกัน มาทำการแก้ไขเลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ ให้ตรงกับรายละเอียดในเล่มทะเบียนของคันแรก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเลขตัวถัง จะมีทั้งการขูด ตัด ตอก หรือปั๊มใหม่ ก็ว่ากันไปตามความสามารถทางมิจฉาชีพ เพื่อให้ได้รถฝาแฝดอีกคัน ส่วนเรื่องของทะเบียน ไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหมาทำปลอม แต่ใช้วิธีแจ้งทะเบียนหาย* แล้วขอให้กรมการขนส่งทางบกทำป้ายทดแทน หรือออกให้ใหม่เท่ากับรถคันนี้จะมีป้าย และเล่มทะเบียนเป็นของจริงทันที…
*วิธีการดังกล่าว เข้าข่ายแจ้งความเท็จ โดยมีตัวบทกฏหมายอ้างอิง ตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ซึ่งส่วนใหญ่รถประเภทนี้จะไม่นำไปซื้อขายตามท้องตลาด เพราะถ้าโดนจับได้ รถคันจริงจะเดือดร้อนไปด้วย อย่างเช่น ขายคันที่สวมทะเบียนให้คนอื่นไป แล้วเค้าเกิดไปขับชนคนแล้วหนี ตามต้นขั้วมา มันก็จะมาจบที่หน้าบ้านคุณพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อีกวิธีของการสวมทะเบียนคือ “ปลอมทุกอย่าง” นั้นก็หมายถึง การปลอมเอกสารและเลขทะเบียนหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียน แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี ซึ่งวิธีการนี้ เมื่อคนร้ายได้รถที่โจรกรรมมาแล้ว ก็จะจ้างคนทำเอกสารปลอมขึ้นสวมแล้วนำรถไปขายต่อ ซึ่งเอกสารปลอมที่มีการซื้อขายกันในราคาไม่แพงนัก ถ้าเหมาแบบยกเซ็ต ก็สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท
การป้องกันตัวเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั้น ถ้าจะให้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาใช้ ไร้ปัญหารบกวนจิตใจแน่นอน แต่ถ้าคำนวณเงินในกระเป๋าดูแล้วพบว่าไม่เหมาะแก่การซื้อรถป้ายแดง หรือบอกว่าราคารถป้ายแดงมันแพงเวอร์เกินไป ใช้รถมือสองดีกว่า แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัด หากไม่มั่นใจ แนะนำให้นำสำเนารถไปตรวจสอบได้ที่กรมขนส่งทางบก…
วิธีการตรวจสอบด้วยตนเองในขั้นแรกคือ สังเกตด้วยสายตาเพราะเอกสารปลอมของรถคันนี้อาจจะมีข้อผิดพลาด บกพร่อง ไม่สามารถทำให้เหมือนของจริงได้ 100 % อย่างเช่น แผ่นป้ายทะเบียนรถ หากเป็นของจริง ด้านหน้าจะมีตัวเลข 10 หลัก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะยิงด้วยเลเซอร์อยู่ด้านล่างแผ่นป้ายมองเห็นได้ชัดเจน มีพรายน้ำสัญลักษณ์ตราขนส่งทางบกระยิบระยับอยู่บนแผ่นป้าย ถ้าเอาไฟฉายส่องหรือมองกลางแดดจะเห็นชัดเจน รวมทั้งจะมีตัวอักษร ขส.ปั๊มนูนอยู่ที่มุมแผ่นป้ายด้วย แต่ของปลอมจะไม่มีตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ว่านี้ ส่วนแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี จะมีวงกลมคล้ายสติ๊กเกอร์สีเงินเล็กๆ เป็นตราสัญลักษณ์ของกรมการขนส่งทางบกอยู่ ถ้าเอียงดูจะเห็นเป็นประกายรุ้งแบบสามมิติ ถ้าหากเป็นของปลอมจะไม่มี ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว หากลองลูบของจริงดู จะลื่นมือ แต่ของปลอมจะด้านๆ ส่วนตัวอักษรถ้าเป็นของปลอม เส้นจะไม่ชัดเจน ขูดลอกได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธีเอาแผ่นตัวอักษรแบบมาขูดลอกติด หรือไม่ก็ตัดตัวอักษรจากแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของปีที่ผ่านมา แล้วเอากาวมาแปะติดไว้
ในจุดนี้ควรระมัดระวังรอบคอบให้มาก กรุณาทำตัวเป็นนักสืบก่อนซื้อรถ สืบย้อนไปดูประวัติของรถด้วยวาจาของคุณได้เลย ขั้นแรก ดูเลยว่ารถคันนี้มีประกันรถยนต์หรือไม่เพราะถ้ามี อย่างน้อยจะได้ช่วยค้นไปได้ว่ารถคันนี้เคยมีประวัติอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ ถึงเคยขนาดเป็นซากไปแล้วหรือไม่
ต่อมาคือ ถ้าสามารถนำรถเข้าไปจัดไฟแนนซ์ได้ก็ทำไปเลย เสียค่าดำเนินการเล็กน้อยเพื่อความชัวร์ เพราะว่าส่วนใหญ่ไฟแนนซ์จะมีข้อมูลของรถเหล่านี้อยู่พอสมควร เช็กปุ๊บ รู้ปั๊บ ว่าที่ผ่านมารถคันนี้มีประวัติอย่างไร เคยผ่านมือใครมาบ้าง มีช่วงเว้นห่างหายของการเสียภาษีไปบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่รถหายไปจากสารบบ 5 ปี อยู่ดีๆ โผล่มาแบบไม่มีปีมีขลุ่ย อันนี้ก็น่าสงสัยเกินไป
สุดท้าย วิธีนี้น่าจะชัวร์สุด โดยก่อนจะซื้อรถคันงาม ผู้ซื้อควรตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก ว่ารายละเอียดในคู่มือทะเบียน เลขแชสซี เลขเครื่องยนต์ สี และยี่ห้อตรงกับรถที่ตนเองซื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่ได้จากผู้ขายด้วย ว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรติดขัด ก็พอจะอุ่นใจได้ว่ารถที่เราจะซื้อไร้มลทินแน่ๆ
แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรถสวมทะเบียนเพิ่มเติม นั่นก็คือ
- มีการคัดแทนเล่มเดิม เนื่องจากสูญหายหรือชำรุดเพราะบางครั้ง ประวัติของรถที่ระบุในเล่มอาจจะถูกล้างได้ ทำให้เราไม่ทราบประวัติจริงๆของรถที่จะซื้อ
- มีการแจ้งจอด ยกเลิกทะเบียน แล้วจดใหม่กรณีที่จะไปแจ้งจอดอาจเป็นเพราะรถมีปัญหาหนักๆ ใช้เวลาซ่อมเป็นเวลานาน ถ้าหากไม่อยากเสียภาษีรถ จะต้องไปแจ้งจอดที่กรมขนส่ง หากพบกรณีดังกล่าว แนะนำให้หลีกเลี่ยง
แม้ในช่วงหลังเจ้าหน้าที่จะเข้มงวดและปราบปรามอย่างจริงจังมากขึ้น แต่คนพวกนี้ก็มีการพัฒนาวิธีการหลบหนีหลีกเลี่ยงเอาตัวรอดกันอยู่ตลอดเวลา นั้นเพราะรายได้ของอาชีพนี้ มันเย้ายวนเกินห้ามใจ ลงทุนต่ำ แต่กำไรสูงกว่า 2 – 3 เท่าตัว เอาเป็นว่า ให้ได้เรียนรู้กันไว้อย่างคร่าวๆ เพื่อป้องกันตนเองจากผู้ไม่หวังดี จึงต้องรอบคอบ และระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น…
ความผิดเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงป้ายทะเบียนรถยนต์
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง ตามประมวลกฎหมายอาญา
– มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
– มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
– มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
เรื่อง : สมโภชน์ นันทโรจน์
ขอบคุณข้อมูล : www.bangkokmotorshowgroup.com
ขอบคุณภาพ : กรมขนส่งทางบก dlt.com , www.haaksquare.com ,www.pxhere.com , www.siamcardeal.com , www.weekendhobby.com , www.bangkokbiznews.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th