รถไฟฟ้า มาแน่นะเทอ EP7. ไม่อยาก “พัง” ก็อย่า “ทำ” กับ EV
ก็มาเรื่อยๆ กันนะครับ สำหรับเรื่องราวของ EV หรือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ ที่เกิดมาเพื่อ “ลดมลพิษ” เป็นหลัก ซึ่ง EV สมัยนี้ ถูกปรับปรุงให้ทันสมัย และ “แรง” แถม “วิ่งได้ไกลขึ้น” รวมไปถึง “การชาร์จแบตเตอรี่ที่รวดเร็วขึ้น” จึงกลายเป็นกระแสอันแพร่หลาย ครั้งนี้ จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สำคัญกับ “ไม่อยากพัง ก็อย่าทำกับ EV” พูดถึงสิ่งที่ “หลีกเลี่ยง” และ “ไม่ควรทำ” เอาแค่ 3 ข้อ ง่ายๆ !!! จะได้ไม่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สินครับ…
- ไม่ควรปล่อยแบตเตอรี่เหลือไฟน้อยมากเป็นประจำ : เมื่อพลังไฟเหลือน้อย ใกล้จะหมด แบตเตอรี่เองก็ต้องทำงานหนัก พอชาร์จไฟทีก็ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้น ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติมาก เอาง่ายๆ คุณลองใช้ Smart phone จนแบตเหลือน้อย และ ชาร์จแบตไปเล่นพวก Multimedia ที่กินกระแสไฟมากกว่าปกติไปด้วย จะรู้สึกเลยว่าแบตมันร้อนมากกว่าปกติ EV ก็หลักการเดียวกัน เพราะฉะนั้น ควรชาร์จไฟอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้แบตของ EV มีไฟเหลือน้อยมากประจำ อารมณ์ว่า กลับบ้านเหนื่อยๆ เมาๆ ก็ขี้เกียจบ้าง ลืมบ้าง ระวังนะจ๊ะ วิ่งไปไฟหมดกลางทาง แบตเสื่อมไว จะโทษใครไม่ได้นะ…
- อย่าใช้การชาร์จแบบ “ด่วน” บ่อยเกินไป : จะมีการชาร์จแบบ “Quick Charge” หรือ “Rapid Charge” พูดง่ายๆ ก็ “ชาร์จด่วน” โดยใช้เวลาน้อยกว่าการชาร์จแบบปกติมากๆ ชาร์จปกติ ก็หลายชั่วโมง ชาร์จด่วนๆ ก็อาจจะ “ครึ่งชั่วโมง” อะไรประมาณนั้น (แล้วแต่เครื่องชาร์จและระบบของรถแต่ละแบรนด์) การชาร์จลักษณะนี้ จะกำหนดไว้ให้ใช้สำหรับ “กรณีจำเป็น” เท่านั้น เช่น “การชาร์จไฟระหว่างการเดินทาง” ที่ “ลดการเสียเวลา” ถ้าจะชาร์จแบบปกติก็คงไม่ต้องไปกันต่อพอดี แต่แบบนี้จะต้อง “ปล่อยกระแสไฟแรงมากๆ” ทำให้แบตเตอรี่รับภาระหนัก ความร้อนสูง ดังนั้น การชาร์จด่วน ไม่ควรทำบ่อยๆ บางคนอย่างที่บอก ลืม ขี้เกียจ ปล่อยไฟเหลือน้อย พอรู้ตัวจะใช้รถทีก็ตาลีตาเหลือกชาร์จด่วนบ่อยๆ จนทำให้แบตเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติมาก…
- พยายาม “หลีกเลี่ยง” ในการขับรถลุยน้ำท่วมลึก : ไอ้เรื่องนี้ก็ว่ากันยากครับ เพราะเป็นที่ถกเถียงกันจนจะเป็นดราม่า ว่า “EV ลุยน้ำท่วมได้ไหม” จริงๆ แล้ว ทางบริษัทผู้ผลิต ก็ต้องบอกว่า “ได้” แต่ “ไม่ควรเกินระดับที่สเป็กรถรุ่นนั้นๆ กำหนดไว้” ก็เหมือนกับรถเครื่องยนต์ มันก็ลุยได้ระดับหนึ่งเช่นกัน ถ้าใช้รถในเขตน้ำท่วมบ่อยๆ ถ้าจะซื้อ EV จริงๆ ก็ต้องออกแนว Cross Over SUV ไว้ก่อน เพราะตัวรถจะสูงกว่ารถเก๋งปกติ ทำให้ “หนีน้ำ” ได้มากกว่า ส่วนเรื่องที่ว่า “ไฟจะช็อตหรือไม่” ผู้ผลิตให้ข้อมูลว่า “ถ้าไม่เกินกว่าที่กำหนด ก็ไม่มีปัญหา” เพราะแบตเตอรี่ รวมไปถึง อุปกรณ์ไฟฟ้า ก็ต้องผ่านการ “ปิดผนึก” หรือ “ซีล” มาแล้ว แต่ถ้าเกิดพลาดไปลงน้ำลึกมากเกินไปจริงๆ ระบบที่ตัวรถก็จะมี Breaker หรือ Cut out คอย “ตัดไฟ” จากเกิดกระแสไฟรั่ว หลักการเดียวกับไฟบ้านนั่นละครับ แต่ว่า ถ้าจะให้ปลอดภัย “เลี่ยงได้ก็เลี่ยง” เพราะถ้าน้ำลึกเกินไปเกินกว่ารถคันนั้นจะลุยได้ ลงไปก็มีแต่เสียกับเสีย ส่วนการขับลุยน้ำในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ถ้ากะแล้วไม่เกิน ก็ทำได้ครับ พยายามอย่า “จอดสนิทกลางน้ำ” ให้ขับด้วย “ความเร็วต่ำคงที่” ค่อยๆ ไหลไปนิ่มๆ ให้กันชนกับใต้ท้องด้านหน้า ช่วงล่าง ล้อหน้าของรถ ช่วยกันแหวกน้ำออกไปด้านข้าง โซนด้านหลังที่มีแบตเตอรี่อยู่ก็จะปะทะกับน้ำน้อยลง โอกาสเสี่ยงก็น้อยลงเช่นกัน…
ไม่ยากใช่ไหมครับ สำหรับสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำให้ EV มัน “ปัง” หรือ “ปังปินาศศศศ” เร็วกว่าปกติ จริงๆ แล้ว มันอาจจะไม่ได้พังในทันที แต่แน่นอนว่า “ระยะยาวมีผลแน่ๆ” หากใช้อย่างผิดวิธีบ่อยๆ เน้นว่า “ใช้ให้ถูกเรื่อง” ดีกว่าครับ ทุกสิ่งอย่างจะได้อยู่กับเราไปนานๆ และช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคุ้มค่าในการใช้รถครับ…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th