เกาะสี อีกสัญลักษณ์จราจรที่คนใช้รถยังไม่เข้าใจ
เชื่อว่าหลายคนที่ใช้รถใช้ถนนไม่ว่าจะมือใหม่หรือเก่า อาจจะไม่คุ้นเคยหรือคุ้นหูกับคำว่า ‘เกาะสี’ เลยก็ได้ แต่นี่คืออีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยที่ทุกคนผ่านตากันมาแล้วเพียงแต่อาจจะไม่ใส่ใจหรือสนใจ เพราะนี่คือพื้นที่แห่งความปลอดภัยสำหรับการใช้งานบนท้องถนนเลยก็ว่าได้
เกาะสี (Painted Medians / Flush Medians)เป็นสัญลักษณ์จราจรที่อยู่บนถนน โดยนิยามก็คือการกำหนดในเชิงสมมุติให้เป็นเกาะกลางถนนประเภทหนึ่ง โดยจะมีลักษณะเป็นเส้นทึบสีขาวหรือสีเหลืองที่ตีเส้นทแยงกับแนวทิศทางจราจร ซึ่งการที่เกาะสีถูกออกแบบให้มีเส้นทเเยงเหลือง หรือ เส้นก้างปลาโดยอยู่บนพื้นถนนไม่ว่าจะเป็นไหล่ทางหรือกลางถนนคือพื้นที่ซึ่งรถไม่สามารถวิ่งสัญจรได้ ก็เพราะในการใช้งานแล้วนี่คือพื้นที่ปลอดภัย หรือ เกาะกลางสมมุติ ซึ่งหากคุณพบเห็นเส้นทแยงสีเหลือง หรือขาวตีแนวทเเยงไปตามทางเดินรถแบบนี้บนถนน หรือแบบลักษณะก้างปลา ควรเข้าใจได้ทันทีว่าห้ามมิให้ผู้ขับขี่ล้ำเข้ามาในบริเวณดังกล่าว
จุดเรามักจะมองเห็นเกาะสีบนพื้นทางห้ามแซง ห้ามหยุด ห้ามจอด และห้ามกลับรถ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง โดยหน้าที่ของเกาะสี หรือ เส้นทแยงเหลือง มีไว้เพื่อแบ่งทิศทางการจราจรเเละจัดช่องการเดินรถ คือ
-ควบคุมทิศทางจราจรสำหรับเลี้ยว
-แยกการจราจรที่สวนกัน หรือแยกการจราจรที่วิ่งทิศทางเดียวกัน
-ให้เป็นที่พักสำหรับคนเดินข้าม
-ป้องกันการชนเกาะกลาง หรืออุปสรรคในการเดินรถ
ตาม พรบ.การจราจรทางบก 2522 มีการระบุข้อห้ามเกี่ยวกับเกาะสีดังนี้
1) มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่น
2) มาตรา 53 ห้ามกลับรถ
3) มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
4) มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ
5) มาตรา 119 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถเข้าไปในเขตปลอดภัย เว้นแต่ในกรณีจำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เรามักจะเห็นคนใช้รถใช้ถนนจำนวนมากละเลยต่อการปฏิบัติตามกฎตรงนี้ และมักจะใช้เกาะสีเป็นพื้นที่สำหรับจอดรอในกรณีที่กลับรถ หรือที่แย่กว่านั้นคือ การขับทับผ่านไปเลยจนเหมือนกับเป็นอีกช่องทางเดินรถช่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและนำไปสู่การทบทวนในเรื่องของการใช้เกาะสีบนถนน 4 เลน คือ ความรุนแรงของอุบัติเหตุ เพราะคนใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่มักจะใช้เกาะสีเป็นที่หยุดรอดเลี้ยวหรือกลับรถ และถนน 4 เลนมักจะมีเล่นเร็วหรือใช้ความเร็วสูง ดังนั้นอุบัติเหตุจึงรุนแรงตามไปด้วย นั่นยังไม่รวมถึงการเหาะข้ามฝั่งของรถยนต์อีกฝั่งแบบไม่มีอะไรมาหยุดไว้หรือกันเอาไว้อีกด้วย
ในต่างประเทศพบรายงานการสร้างเกาะกลางถนนหลายแห่งของรัฐยูทาห์ ในสหรัฐ พบว่าทำให้อุบัติเหตุลดลง 25% โดยอุบัติเหตุรุนแรงลดลง 36%, รัฐฟลอริดา มีรายงานว่าเกาะกลางถนนที่สร้างขึ้นแทนที่เกาะสีที่เอาไว้ให้รถเลี้ยวแบบมุมฉากที่ตัดผ่านเส้นทางที่รถวิ่งสวนกัน (TWLT) พบว่าเกาะกลางถนนทำให้อุบัติเหตุลดลง 28.5%, ในรัฐเท็กซัส มีรายงานว่าเกาะกลางถนนทำให้อุบัติเหตุบริเวณ TWLT ลดลง 37.5% และบริเวณทางตรงลดลง 36% โดยรายงานขององค์การบริหารทางหลวงสหรัฐอเมริกา (FHWA) ที่ศึกษาจากงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มา พบว่าเกาะกลางถนนสามารถลดอุบัติเหตุรถชนกันได้ 15% นอกจากนั้น รายงานนี้ยังพบว่าเกาะกลางถนนส่งผลให้อุบัติเหตุรถชนคนเดินข้ามถนนที่มีทางม้าลายและมีที่ยืนรอตรงเกาะกลาง ลดลง 46% และเกาะกลางถนนยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับติดตั้งป้ายจราจรและแสงไฟเพิ่มเติมด้วย ซึ่งก็พบด้วยว่าการปรับปรุงแสงสว่างตรงทางคนข้ามถนนลดการเสียชีวิตจากเหตุรถชนคนได้ถึง 78%
สำหรับบ้านเราก็เริ่มมีการทำวิจัยและรณรงค์ในเรื่องของการใช้งานของเกาะสีบนถนนกันแล้ว แต่คราวนี้ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วเราจะหันกลับมาใช้รูปแบบไหนในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th