ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ จะทำเพื่อ?
อากาศร้อนไม่พอ ยังมีเรื่องให้เดือดร้อนกันอีก เมื่อ บช.น. สั่งห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ งานนี้ชาวสองล้อบ่นกันอุบ เพราะเดินทางยากลำบากกว่าเดิมอีกเยอะ!!
เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลงานจราจร กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีปัญหารถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนขับขี่ขึ้นไปบนสะพานข้ามทางแยกและอุโมงค์ลอดทางแยก ซึ่งขาดความเป็นระเบียบและส่งผลต่อปัญหาการจราจร แต่เรื่องที่อันตรายที่สุดคือทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง และเพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จึงได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
โดยการออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรนี้มีผล 90 วัน เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลที่ได้รับจากการบังคับใช้นี้ ว่าควรที่จะประกาศเป็นข้อบังคับการจราจรต่อไปหรือไม่ และต้องมีการพูดคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างทาง ว่าควรมีการปรับปรุงการสร้างทางอย่างไรให้ปลอดภัยและรองรับการจราจรที่มีจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มากขึ้นให้ใช้ทางร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
เพราะปัจจุบันในส่วนของการจัดระบบทางเดินรถทั้งบนสะพานและในอุโมงค์ ไม่ได้จัดเอาไว้สำหรับรถที่มีความเร็วต่ำ อาทิ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถลากเข็น เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วบนสะพานหรือในอุโมงค์เมื่อไม่มีการกำหนดช่องทางให้รถเหล่านี้วิ่ง นั่นคือ หากมีรถเข้ามาวิ่งจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถจับกุมได้ตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาเป็นการอนุโลม จึงเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน”
สะพานและอุโมงค์แห่งไหนบ้างที่ประกาศห้ามเดินรถ
สำหรับสะพานข้ามแยกที่ห้ามเดินรถทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครมีทั้งสิ้น 39 สะพาน คือ สะพานยกระดับข้ามแยกคลองตัน, สะพานยกระดับข้ามแยกอโศกเพชร, สะพานข้ามแยกรามคำแหง, สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์, สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง, สะพานข้ามแยกตึกชัย, สะพานข้ามแยกราชเทวี, สะพานข้ามแยกประตูน้ำ, สะพานข้ามแยกยมราช, สะพานข้ามแยกกำแพงเพชร, สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว, สะพานข้ามแยกสุทธิสาร, สะพานข้ามแยกรัชโยธิน, สะพานข้ามแยกประชานุกูล, สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง, สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน, สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์, สะพานยกระดับข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคำแหง, สะพานยกระดับข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคำแหง, สะพานยกระดับข้ามแยกมีนบุรี, สะพานข้ามแยกสถานีบรรทุกสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร, สะพานข้ามแยกลำสาลี, สะพานยกระดับถนนรามคำแหง, สะพานข้ามแยกศรีอุดม, สะพานข้ามแยกประเวศ, สะพานข้ามแยกบางกะปิ, สะพานไทย-เบลเยียม, สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่, สะพานข้ามแยกรัชดาพระราม4, สะพานภูมิพล1, สะพานข้ามแยกคลองตัน, สะพานข้ามแยกศิครินทร์, สะพานไทย-ญี่ปุ่น, สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี, สะพานข้ามแยกบางพลัด, สะพานข้ามแยกพระราม2, สะพานข้ามแยกตากสิน, สะพานข้ามแยกนิลกาจ และ สะพานข้ามแยกบางพฤกษ์
ส่วน อุโมงค์ลอดแยก ที่ห้ามเดินรถ มีทั้งหมด 6 อุโมงค์ คือ อุโมงค์วงเวียนบางเขน, อุโมงค์พัฒนาการรามคำแหง 24, อุโมงค์ศรีอุดม, อุโมงค์บรมราชชนนี, อุโมงค์บางพลัด และอุโมงค์ท่าพระ (แค่เห็นรายชื่อสะพานและอุโมงค์แค่นี้ก็ทำให้ผู้ที่ขี่รถจักรยานยนต์ต้องปวดหัวกับการใช้เส้นทางกันพอสมควร)
โดยข้อบังคับนี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2559 เป็นต้นไป ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกวดขันจับกุมผู้กระทำผิด อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะมีอัตราโทษปรับ ตั้งแต่ 500 – 1,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นทาง
เปิดใจมองปัญหาและสาเหตุ
ตอนนี้อยากให้หยุดขัดแย้ง มาวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุกันก่อน จริงอยู่ที่ปัจจุบันใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ในการบังคับใช้ ซึ่งเป็น พรบ.จราจรที่เก่าและล้าสมัย ไม่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงจึงทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ตามมา นี่คือปัญหาเรื่องที่หนึ่ง
แต่หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้รถบางประเภทอย่างรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถลากเข็น ใช้ทางขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ นั่นเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผลกระทบหลักๆ ตอนนี้อยู่ที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยจากสถิติการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพ ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวนรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลอยู่ที่ 3,308,512 คัน คิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนรถทั้งหมดที่จดทะเบียนในกรุงเทพ รถจักรยานยนต์เหล่านี้ปัจจุบันถูกพัฒนาไปมากและสามารถทำความเร็วได้สูงกว่าในอดีตหลายเท่าตัว กลายเป็นปัญหาเรื่องที่สองคือ ช่องทางเดินรถบนสะพานและในอุโมงค์ กลับไม่ได้แบ่งช่องทางเฉพาะไว้รองรับให้รถจักรยานยนต์ได้เข้าไปใช้ทาง แม้ว่ารถจักรยานยนต์จะทำความเร็วได้มากกว่าในอดีต เพราะด้วย พรบ.จราจรทางบกได้กำหนดเรื่องการห้ามเอาไว้นี่จึงกลายเป็นเรื่องที่ขัดกันกับการใช้งานจริงอย่างชัดเจน
ส่วนปัญหาที่น่าจะหนักที่สุดคือ เรื่องของอุบัติเหตุ อาจจะยังไม่มีตัวเลขอย่างชัดเจนว่ารถมอเตอร์ไซค์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการขับขึ้นสะพานและลงอุโมงค์มีจำนวนเท่าไหร่ แต่หากเป็นผู้ที่ขับรถยนต์จะรู้สึกว่าขับยากและต้องคอยระวังมากขึ้น เพราะกลัวว่าจะไปเกี่ยวรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ซึ่งหากล้มบนทางทั่วไปยังไม่เท่าไหร่ แต่หากล้มบนสะพานอาจตกลงมาจากสะพานทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนในอุโมงค์นั้นก็อันตรายไม่แพ้กัน โดยปกติภายในอุโมงค์จะมีแสงสว่างค่อนข้างน้อย หากเกิดรถล้มขึ้นมา โอกาสที่รถคันหลังตามมามองไม่เห็นก็เป็นไปได้
รับฟัง ร่วมแก้ไข คือทางออก
ในฐานะที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางด้วยการขับรถยนต์ในหลายประเทศ มีสิ่งที่เสนอเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการเปลี่ยนข้อบังคับใช้ตามกฎหมาย นั่นคือ แนะนำให้มีการสร้างสะพานและอุโมงค์ให้มีพื้นที่กว้างขึ้นเพื่อแบ่งเป็นทางสำหรับรถมอเตอร์ไซค์เอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะในต่างประเทศ ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่ติดกับประเทศไทยนี่ล่ะ จะมีทางเฉพาะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์เอาไว้วิ่งคู่ไปกับทางปกติที่รถยนต์ใช้กัน แม้กระทั่งเส้นทางที่เหมือนกับมอเตอร์เวย์ ก็จะมีทางเฉพาะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์วิ่งขนานไปเช่นกัน แต่จะมีแนวรั้วกั้นเอาไว้เป็นทางเฉพาะ ซึ่งการออกแบบการใช้ทางร่วมกันแบบนี้ จะทำให้เป็นระเบียบและป้องกันอุบัติเหตุได้ดีกว่า
เอาเป็นว่าในแนวคิดของเจ้าหน้าที่ ท่านก็พยายามสร้างให้เกิดความเป็นระเบียบและความปลอดภัย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจรให้คล่องตัวขึ้น ส่วนประชาชนผู้ใช้รถควรทำความเข้าใจกับข้อบังคับต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันก็มาจากผู้ใช้รถที่ไม่สนใจกฎจราจรและไร้น้ำใจบนท้องถนน จริงมั้ยล่ะ
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
ภาพ : จาก Internet
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th