เลือกซื้อเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก แบบไหนดี ธรรมดา หรือ ISOFIX
อีกสิ่งที่ทำให้หลายคนเวียนหัวกับการเลือกซื้อ คือ คำว่า ISOFIX ว่าจริงๆ แล้วจะต้องซื้อแบบไหน ถ้าเป็นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วต้องบอกว่า ให้ลืมไปได้เลย (ทั้งที่จุดยึดประเภทนี้สำคัญมาก) เพราะในบ้านเรา มาตรฐานจุดยึด ISOFIX แทบจะไม่มีให้เห็นในรถยนต์ที่ประกอบในประเทศระดับราคา 1-2 ล้านบาทซึ่งคนทั่วไปซื้อหามาใช้งาน นอกจากในระดับที่หรูมากๆ หรือไม่ก็รถอิมพอร์ตจากผู้นำเข้ารายย่อย แต่ปัจจุบัน ISOFIX กลายเป็นมาตรฐานที่ แม้แต่รถจ่ายกับข้าวก็มีมาให้จากโรงงาน
ISOFIX เป็นมาตรฐานจุดยึดที่มีติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และรวมถึงบ้านเรา (ถ้ามี) หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า UCSSS- Universal Child Safety Seat System แต่ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า LATCH หรือ Lower Anchors and Tethers for Children และในแคนาดาใช้ชื่อว่า Canfix หรือ Luas Lower Universal Anchorage System
ดังนั้น คนที่ซื้อเบาะนั่งจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ควรดูรายละเอียดให้ดีว่านอกจากการใช้กับระบบ LATCH แล้ว เบาะนั่งเหล่านี้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดยึดรั้งตัวเบาะได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็รวมถึงเบาะที่ใช้กับจุดยึด ISOFIX ด้วย เพราะบางรุ่นถูกออกแบบมาเฉพาะกับรถยนต์ที่มีระบบนี้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดได้ ต่างจากเบาะนิรภัยที่ใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ซึ่งบางยี่ห้อจะมีชุดติดตั้ง ISOFIX เข้ากับตัวเบาะเพื่อใช้กับรถยนต์ที่มีจุดยึด ISOFIX แยกขายต่างหาก
ISOFIX เป็นมาตรฐานของ International Organisation for Standardisation โดยเป็นมาตรฐานสำหรับหัวข้อ ISO 13216-1 เกี่ยวกับเรื่องของการยึดรั้งในตัวรถ และก็รวมถึงเบาะนั่งเด็กใน Group I ซึ่งตรงตัวเบาะบางรุ่นจะถูกออกแบบให้มีแท่งยาวๆ อยู่ตรงด้านล่างฝั่งซ้ายและขวาของตัวเบาะ โดยวิธีใช้ก็เสียบแท่งนี้เข้ากับตัวล็อกของระบบที่ติดตั้งมาจากโรงงานในรถยนต์ และตรงด้านบนของตัวเบาะนั่งนิภัยของเด็กก็จะมีการยึดรั้งด้วยสายคาด ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงแผงลำโพงด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เบาะหน้าคะมำไปทางด้านหน้าในกรณีที่เกิดการชน
จุดประสงค์ของการออกแบบ ISOFIX คือ วิธีที่สะดวกและถูกต้องในการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยเด็กเข้ากับตัวรถ เพราะแค่เสียบเข้ากับช่อง ISOFIX บนเบาะก็เสร็จแล้ว เพราะก่อนที่จะมีการออกแบบตัวยึดนี้ มีการเซอร์เวย์และพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ถูกต้อง และการยึดรั้งโดยใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุดของตัวรถยังไม่แน่นหนาพอ เพราะเข็มขัดสำหรับรถยนต์บางรุ่นอาจจะสั้นกว่าหรือยาวกว่าบางรุ่น และส่วนใหญ่แล้ว
จากการสำรวจของ The German Insurance Institute GDV พบว่ามีเพียง 30% เท่านั้นที่ผู้ปกครองติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กกับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของตัวรถได้อย่างถูกต้อง ขณะที่จุดยึด ISOFIX พบว่า มีการติดตั้งถูกต้องถึง 96% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความง่ายของระบบในการใช้งาน
อีกทั้งในคู่มือประจำรถหรือของเบาะนั่งเด็ก ผู้ผลิตมักแนะนำให้ยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเข้ากับ ISOFIX จะดีกว่า เพราะจากการที่จุดยึด ISOFIX ยึดเข้ากับตัวถังของตัวรถทำให้มีความหนาแน่นกว่า (ตรงนี้ในบ้านเราต้องทำใจ) ลดการเคลื่อนตัวทั้งพุ่งไปข้างหน้าหรือออกทางด้านข้างได้เป็นอย่างดี
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th