เปรียบเทียบราคาน้ำมันไทย-เพื่อนบ้าน ทำไมราคาไม่เท่ากัน
ประเด็นเรื่อง ราคาน้ำมัน ในเมืองไทย มักจะมีการถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะบ้านในภูมิภาคอาเซียน และส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่ประเทศมาเลเซียเป็นหลักเพราะถือว่ามีพรมแดนติดต่อกัน แน่นอนว่าน้ำมันก็เหมือนกับสินค้าอื่นๆ อย่างเช่น รถยนต์ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี เราจะพบว่าราคาขายในบ้านเรากับประเทศอื่นๆ ไม่เท่ากัน แม้ว่าจะเป็นรถยนต์รุ่นเดียวกันก็ตาม
เพราะอะไร ? ประเด็นหลักที่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป คือ โครงสร้างราคาขายปลีกต่างกัน ตามนโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศ
สำหรับโครงสร้างราคาขายปลีกของไทย ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 ส่วน คือ
- ต้นทุนราคาเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น อ้างอิงราคาตลาดกลางสิงคโปร์
- ภาษีต่างๆได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเทศบาล
- เงินสมทบกองทุนต่างๆได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีก และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
- ค่าการตลาด
ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ เพราะมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น และในแต่ละปีต้องเสียเงินตรานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยมีการเก็บภาษีต่างๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้อย่างประหยัด และนำเงินภาษีส่วนนี้มาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำมาใช้ลดผลกระทบในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนสูง และเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำมาส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
แน่นอนว่าในแต่ละประเทศจะมีโครงสร้างทางด้านพลังงานที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซียที่มักจะเป็นตัวเปรียบเทียบกับเราอยู่เสมอ โดยโครงสร้างราคาขายปลีกของมาเลเซีย มีเพียง 2 ส่วน คือ
- ต้นทุนราคาเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น อ้างอิงราคาตลาดกลางสิงคโปร์เช่นเดียวกันกับไทย
- ค่าการตลาด
ที่สำคัญ คือ มาเลเซียเป็นประเทศส่งออกพลังงานสุทธิ ที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแต่ละปีจำนวนมาก ***นอกจากรัฐบาลมาเลเซียจะไม่เก็บภาษี (ยกเว้นน้ำมัน RON97 ที่มีภาษี 6%) และเงินสมทบกองทุนต่างๆ จากน้ำมัน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันมาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องพึ่งภาษีน้ำมัน แล้ว ยังมีการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกให้ต่ำกว่าความจริงอีกด้วย
อีกสิ่งที่มีความสำคัญและส่งผลต่อ ราคาน้ำมัน ขายปลีกหน้าปั๊มคือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันแตกต่างกัน จริงอยู่ที่ประเทศไทยกับหลายประเทศจะมีราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เหมือนกัน ทำให้มีราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งต่างกัน
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ตามสูตรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นของไทย ต้นทุนค่าขนส่งของไทยสูงกว่ามาเลเซีย เนื่องจากระยะทางจากสิงคโปร์มาไทยไกลกว่าสิงคโปร์ไปมาเลเซีย ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันไทยแพงกว่าเล็กน้อย
นอกจากนั้นคุณภาพน้ำมันของไทย ปัจจุบันใช้มาตรฐานขั้นต่ำคือยูโร 4 ขึ้นไป สูงกว่าคุณภาพน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ รวมทั้งมาเลเซียที่ใช้มาตรฐานต่ำสุดคือยูโร 2 จนถึงยูโร 5 จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตของไทยสูงกว่า แต่ก็ส่งผลให้เกิดมลพิษน้อยกว่ามาก นี่คือจุดหลักๆ และเหตุผลที่ว่าทำไมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละประเทศถึงแตกต่างกันออกไป
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th