เมื่อ McLaren F1 อายุครบ 25 ปี
เผลอแป๊บเดียวเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และไม่น่าเชื่อว่ารถสปอร์ตรุ่น F1 ของ McLaren ที่ออกแบบโดย Gordon Murray จะกลายเป็นตำนานและความคลาสสิคไปแล้ว
สำหรับพวก Petrol Head แล้ว ถ้าลองถามถึงซูเปอร์คาร์ในฝันของพวกเขา นอกจากผลผลิตจากค่ายเฟอร์รารี่, ปอร์เช่ หรือลัมบอร์กินีแล้ว น่าจะมีชื่อของแม็คลาเรน F1 ติดโผเข้ามาด้วย
เพราะนอกจากความสวยและล้ำสมัยของงานออกแบบ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย (ในยุคนั้น) มาใช้แล้ว นี่คือ ซูเปอร์คาร์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีฝีเท้าจัดจ้านที่สุดโดยเฉพาะสถิติการทำความเร็วสูงสุดที่ทำเอาไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1998 ด้วยตัวเลข 240.1 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 386 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถือเป็นตัวเลขที่อยู่ยงคงกะพันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังไม่มีรถสปอร์ตในสายการผลิตที่ใช้เครื่องยนต์แบบ NA-Naturally Aspirated หรือ Normally Aspirated แบบหายใจเองรุ่นไหนในโลกสามารถลบสถิตินี้ลงได้ เพราะรถสปอร์ตที่ลบสถิติความเร็วปลายของแม็คลาเรน F1 เป็นสปอร์ตเครื่องยนต์ที่ติดตั้งระบบอัดอากาศอย่างโคนิกเซ็กก์ CCR, บูกัตตี้ เวย์รอน และ SS Ultimate Aero TT
สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ถือกำเนิดจากไอเดียของรอน เดนนิส ผู้ควบคุมทีมแข่ง F1 ของแม็คลาเรน ซึ่งต้องการสร้างปรากฎการณ์ในตลาดรถสปอร์ตด้วยการผลิตซูเปอร์คาร์ที่เป็นสุดยอดขึ้นมาสักรุ่น ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ถูกส่งผ่านมาจากสนามแข่ง F1
จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้เกิดขึ้นในปี 1988 ยุคที่แม็คลาเรนแท็คทีมกับฮอนด้าในการผูกขาดความยิ่งใหญ่ในสนามแข่ง F1 ด้วยฝีมือของไอร์ตัน เซนน่า และอแลง พรอสต์ โดยทางแม็คลาเรนพยายามที่จะใช้องค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีจากสนามแข่งของตัวเองในด้านการผลิตแชสซีส์มาผสมผสานกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์ของฮอนด้าเพื่อสร้างสุดยอดเครื่องจักรภาคพื้นดินรุ่นใหม่ขึ้นมา
กอร์ดอน เมอร์เรย์ ผู้ออกแบบรถแม็คลาเรน F1 เล่าว่า พวกเขาพยายามยื่นข้อเสนอไปให้กับทางอาร์แอนด์ดีของฮอนด้าที่โตชิกิ ประเทศญี่ปุ่นพิจารณา ในการผลิตเครื่องยนต์น้ำหนักเบาแบบวี12 หรือ 10 สูบที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 4,500 ซีซี แต่สุดท้ายก็ทางฮอนด้าเซย์โนมา ทำให้แม็คลาเรนต้องหันไปพึ่งบริการของแผนกมอเตอร์สปอร์ตของบีเอ็มดับเบิลยูแทน และก็ได้ขุมพลังรหัส S70/2 มาวางอยู่กลางลำแทน
ในตอนแรกเมอร์เรย์ต้องการเครื่องยนต์ในฝันซึ่งมีความยาวของเสื้อสูบไม่เกิน 60 มิลลิเมตร และน้ำหนักโดยรวมขนาด 250 กิโลเมตร มีกำลังในระดับ 550 แรงม้า เพื่อให้พอเหมาะกับห้องเครื่องยนต์ที่อยู่กลางลำของรถสปอร์ตที่เขาร่างแบบขึ้นมาในเที่ยวบินกลับจากการแข่งขันอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ในปี 1988
แต่สุดท้ายแม้ว่าผลงานของบีเอ็มดับเบิลยูจะมีเกินเลยไปหน่อยเพราะน้ำหนักของเครื่องยนต์อยู่ในระดับ 266 กิโลกรัม แต่ก็แลกมาด้วยจำนวนแรงม้าที่เพิ่มขึ้นจากที่หวังเอาไว้ 14% เป็น 627 แรงม้า โดยตัวเครื่องยนต์เป็นแบบวี12 ทวินแคม 48 วาล์ว 6,046 ซีซี 627 แรงม้า ที่ 7,400 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 66.3 กก.-ม. ที่ 5,600 รอบ/นาที
ครั้งแรกของรถสปอร์ตในสายการผลิตกับ CBFR
ในปี 1981 แม็คลเรนถือเป็นทีมแรกในวงการแข่งขัน F1 ที่นำวัสดุอย่างคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในการสร้างค็อกพิตและชิ้นส่วนตัวถังของรถแข่ง F1 ซึ่งแนวคิดนี้ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและทำให้คาร์บอนไฟเบอร์กลายเป็นวัสดุมาตรฐานสำหรับรถแข่งในยุคนั้นไล่มาจนถึงยุคนี้
ไอเดียตรงนี้ได้ถูกถ่ายทอดมายังการผลิตแม็คลาเรน F1 ด้วย และทำให้นี่คือรถสปอร์ตในสายการผลิตรุ่นแรกของโลกที่ใช้วัสดุนี้ในการผลิตค็อกพิตและโครงสร้างตัวถังโมโนค็อกทั้งคัน
การรวมตัวกันของทีมวิศวกรที่ต้องรับผิดชอบในการพัฒนาซูเปอร์คาร์รุ่นนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 1990 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแม็คลาเรน F1 อย่างแท้จริง สำหรับโครงสร้างตัวถังของแม็คลาเรน F1 ถือว่าเบามากเพียง 100 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ประตูแต่ละบานพร้อมคานเหล็กกันกระแทกมีน้ำหนักเพียง 7 กิโลกรัม และนั่นทำให้น้ำหนักของตัวรถอยู่ที่ 1,140 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเบามากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตัวถังในระดับ 4,292 มิลลิเมตร
เมื่อบวกกับเครื่องยนต์อันทรงพลังทำให้ม้า 1 ตัวของแม็คลาเรน F1 แบกรับน้ำหนักน้อยมาก เพียง 1.81 กิโลกรัมเท่านั้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังสมรรถนะที่เร้าใจ ด้วยอัตราเร่ง 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมงใช้เวลาเพียง 3.2 วินาที และ 9.4 วินาทีสำหรับ 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 11.1 วินาท ที่ความเร็ว 222 กิโลเมตร/ชั่วโมงสำหรับควอเตอร์ไมล์ และมีความเร็วสูงสุดแบบมีการควบคุมรอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 372 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 391 กิโลเมตร/ชั่วโมงเมื่อถอดตัวควบคุมรอบเครื่องยนต์ออกไป
นอกจากนั้นอีกจุดเด่นของแม็คลาเรน F1 คือ เป็นสปอร์ตที่ไม่ต้องพะวงเรื่องของการทำตลาดพวงมาลัยซ้ายหรือขวา เพราะว่าเมอร์เรย์วางตำแหน่งคนขับเอาไว้ตรงกลางห้องโดยสารและประกบซ้ายขวาด้วยเบาะนั่งของผู้โดยสารที่ถูกถอยร่นไปทางด้านหลังเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการเข้าออกของผู้ขับ และแม้ว่าจะอยู่ตรงกลาง แต่ดูเหมือนว่าแม็คลาเรนจะทำออกมาซัพพอร์ตตลาดพวงมาลัยซ้ายมากกว่าขวา เพราะดูได้จากการวางของคันเกียร์ซึ่งแทนที่จะอยู่ฝั่งซ้ายมือของคนขับเหมือนกับรถพวงมาลัยขวา กลับอยู่ทางฝั่งขวาเหมือนกับรถพวงมาลัยซ้าย
อย่างไรก็ตาม เมอร์เรย์ให้ความเห็นว่าการวางตำแหน่งผู้ขับให้อยู่ตรงกลางถือเป็นจุดที่มีทัศนวิสัยดี และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ขณะที่การเข้าออกจากห้องโดยสาร อาจจะลำบากเหมือนกันไม่ว่าจะมาจากทางซ้ายหรือขวาเพราะว่าจะมีคอนโซลขนาดเล็กวางขวางอยู่ เพียงแต่ว่าการเข้าจากฝั่งที่เหมือนกับรถยนตะวงมาลัยขวาอาจจะลำบากหน่อย เพราะมีแท่นคันเกียร์ขวางทางอยู่
แม็คลาเรน F1 เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม 1992 ที่โมนาโก และรถสปอร์ตในสายการผลิตคันแรกถูกส่งมอบให้กับลูกค้าในเดือนธันวาคม 1993 ซึ่งในตอนนั้น แม็คลาเรน F1 มีค่าตัวอยู่ในระดับ 540,000 ปอนด์ หรือถ้าคิดตามค่าเงินปอนด์ในยุคนั้น ซึ่งอยู่ที่ 40 บาท/ปอนด์ ราคาก็ตกประมาณ 21.6 ล้านบาท
แต่คิดแล้วก็คุ้มเพราะอีก 14 ปีให้หลังในการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2008 ค่าตัวของแม็คลาเรน F1 ไปจบเอาที่ 2.53 ล้านปอนด์ หรือคิดตามค่าเงินในตอนนี้ 47 บาท/ปอนด์ก็อยู่ที่ 118.9 ล้านบาทแพงขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวเลยทีเดียว
การพัฒนาสู่สนามแข่ง
แม้แม็คลาเรนจะประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขัน F1 แต่กับมอเตอร์สปอร์ตรายการอื่นๆ พวกเขามีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันน้อยมาก และในเมื่อมีการผลิตแม็คลาเรน F1 ออกมาขายในตลาด ทางผู้บริหารก็เลยเกิดความคิดที่จะขยายโอกาสสู่การสัมผัสกับประสบการณ์การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการอื่นๆ บ้าง และก็พุ่งเป้าไปที่การแข่งมาราธอน 24 ชั่วโมงของเลอ มังส์ และการแข่ง GT ของ FIA
แม็คลาเรนเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1995 โดยเข้าร่วมในคลาส GT1 ของ FIA ซึ่งรถแข่งรุ่น F1 GTR ประสบความสำเร็จสามารถคว้าแชมป์โลกในปีนั้นมาครอง เช่นเดียวกับการเข้าเส้นชัยเป็นคันแรกหลังเสร็จสิ้นการแข่ง 24 ชั่วโมงที่เลอ มังส์ ซึ่งรถแข่งคันนั้นขับโดยเจเจ เลห์โต้, แยนนิก ดัลมาส และมาซาโนริ เซกิยะ ส่วนอันดับอื่นๆ ที่ได้ก็มีทั้งที่ 3, 4, 5 และ 13 โดยคันที่คว้าแชมป์ในปี 1995 ถูกเก็บเอาไว้ที่ McLaren Technology Centre เมือง Working ประเทศอังกฤษ
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้แม็คลาเรนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในโลกมอเตอร์สปอร์ตด้วยการคว้าแชมป์โลกทั้ง F1, แชมป์เลอ มังส์ และแชมป์อินเดียนาโพลิส 500 หรืออินดี้ 500 ซึ่งถือเป็นการแข่งรถที่มีอายุยาวนานรายการหนึ่งของโลก ซึ่งทีมนี้ชนะ 2 ครั้งในปี 1974 และ 1976 จากฝีมือของจอห์นนี่ รูเธอร์ฟอร์ด
ผลจากการที่รถแข่งทั้ง 5 คันจบการแข่งขันแบบมีอันดับ ทำให้แม็คลาเรนผลิตเวอร์ชันพิเศษออกมาขาย 5 คันในชื่อ F1 LM และมีการสีส้มโทนสีเดียวกับรถแข่งที่บรูซ แม็คลาเรนใช้ในการแข่งขันยุคแรกช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 รวมถึงมีการดัดแปลงสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้แรงและเร้าใจขึ้นมาอยู่ในระดับ 680 แรงม้า (ตัวแข่ง 600 แรงม้า) ซึ่งนอกจากจะเป็นแม็คลาเรน F1 ที่แรงที่สุดแล้ว ยังเป็นรุ่นที่มีคุณค่ามากที่สุดอีกด้วย รวมถึงรอน เดนนิสยังเอ่ยปากจะยก LM Version ที่จอดโชว์อยู่ในสำนักงานใหญ่ของแม็คลาเรนที่ Working ให้อีกด้วย หากว่าลูอิส แฮมิลตันสามารถคว้าแชมป์โลกได้ 2 สมัย แต่เขาก็ทำได้
1997 ปีสุดท้ายของการผลิต
ในปี 1997 ถือเป็นปีสุดท้ายที่แม็คลาเรนประกาศผลิตเวอร์ชันสำหรับการใช้งานบนท้องถนนของแม้คลาเรน F1 รุ่นธรรมดา ขณะที่ในการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตพวกเขาก็ยังผลิตออกมาลุยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตัวแข่ง GTR พร้อมกับเวอร์ชันสำหรับขายจำนวนหนึ่ง รวมทั้งหมด 13 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎการแข่งขัน หรือ Homologation Rule
ทั้งตัวแข่งและรุ่นสำหรับผลิตขายมากับการดัดแปลงตัวถังส่วนหน้าและส่วนหลังให้มีโอเวอร์แฮงค์ยาวยื่นจากรุ่นปกติเพื่อการสร้างแรงกดบนตัวถัง ซึ่งเวอร์ชันนี้ถูกเรียกเอาไว้ว่า Longtail Version โดยเวอร์ชันผลิตขายจริงนั้น ในตอนแรกแม็คลาเรนตั้งใจว่าจะผลิตออกมาเพียงแค่คันเดียวเท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎ แต่ทว่าเรื่องนี้ได้ยินถึงหูบรรดานักสะสมก็เลยมีการร้องขอให้ผลิตเพิ่ม ทางแม็คลาเรนก็เลยผลิตออกมาอีก 2 คันสำหรับเจ้าของ F1 ที่ร้องขอมา
จากนั้นในปี 2008 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม แม็คลาเรนก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการผลิตตัวต้นแบบของแม็คลาเรน F1 ซึ่งเป็นคันที่ 5 ที่เรียกว่า XP5 สำหรับใช้ในการทำสถิติด้านความเร็ว โดยก่อนที่จะมีการทดสอบในครั้งนี้ ทางทีมงานได้นำตัวต้นแบบนี้ไปแล่นทดสอบใน Ehra-Lessien ซึ่งเป็นสนาม Proving Ground ในประเทศเยอรมนีรวมระยะทาง 45,000 ไมล์ หรือ 72,000 กิโลเมตร
เมื่อถึงวันจริง นักขับที่รับหน้าที่ในการทดสอบและทำสถิติคือ แอนดี้ วอลเลซ และเขาก็พาแม็คลาเรน F1 ตัวต้นแบบพร้อมเครื่องยนต์วี12 ทำความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 240.1 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 386 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นสถิติที่ยาวนานถึง 12 ปี โดยที่ยังไม่มีรถสปอร์ตจากโรงงานเครื่องยนต์หายใจเอง หรือ NA รุ่นไหนสามารถลบสถิตินี้ลงได้
รายละเอียดทางเทคนิค McLaren F1 (1992-1998)
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th