เล่นข้อ “ล่อ” แรงบิด…งานหนักที่คุ้มค่าเหนื่อย
กลับมาอีกครั้งกับ Bike Technic การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ ลึกบ้าง ตื้นบ้าง ตามจังหวะเล้าโลม ครั้งนี้ยังวนอยู่กับการโมดิฟายเครื่องยนต์ จากที่ผ่านมาเราว่ากันไปถึงหลักการหรือเหตุผลของการปฎิบัติ เพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่จะมาแนะนำแต่ คุยกันเรื่องที่เราๆ ท่านๆ ชอบ
วันนี้หมี่เหลือง เอ้ย “มีเรื่อง” ของการเล่นกับเพลาข้อเหวี่ยง เพื่อช่วยให้เกิดความเหมาะสมในการรับและส่งกำลังแรงบิด แรงม้าออกไปอย่าง ต่อเนื่อง สัมพันธ์กับการที่เราตกแต่งในส่วนอื่นเพื่อต้องการสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น
เพลาข้อเหวี่ยง มันมีหน้าที่โดยตรงคือเป็นจุดหมุน ให้การเคลื่อนที่ขึ้นลงของลูกสูบ กลายเป็นการเคลื่อนที่แบบหมุน โดยจะหมุนรอบตัวเองในตำแหน่งเดิม ความเร็วรอบในการหมุนคือตัวเลขในการหมุนของรอบเครื่องยนต์นั่นเอง
รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่มีหลายกระบอกสูบจะเหมาะสมกับคำว่าเพลาข้อเหวี่ยง แต่ในรถที่มีสูบเดียว “แว๊น แง๊น งื้อ” มักนิยมเรียกสั้นๆ ว่าข้อเหวี่ยงให้เข้าใจว่าหน้าที่มันเหมือนกัน เมื่อต้องการให้มันทำงานดีขึ้น หรือต้องการให้มันส่งเสริมการทำงานของเครื่องยนต์ให้ดีขึ้น การปรับแต่งจึงเกิดขึ้น
ทุกการปรับแต่ง จะต้องเริ่มจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สมบูรณ์ เหมือนการที่เราจะฝึกทหารรบพิเศษ จะต้องฝึกคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น เพราะมีสมองแต่ไม่มีแรง มันทำได้แค่คิดเท่านั้น ข้อเหวี่ยงที่จะทำการปรับแต่งจะต้องเป็นข้อเหวี่ยงซึ่ง ทำงานได้อย่างปกติ คือมีความสมดุลในการหมุนและตัวของมันมีความแข็งแรงไม่แตกร้าว
ข้อเหวี่ยงที่ต้องการจะช่วยให้เครื่องยนต์เพิ่มรอบการหมุนได้รวดเร็วและมากขึ้นจะต้องทำการลดน้ำหนักของตัวข้อเหวี่ยงลง โดยมากจะเป็นการทำกับข้อเหวี่ยงเดิมที่โมดิฟายเครื่องยนต์ไม่มาก ต้องการลักษณะตอบสนองในรอบกลางไปถึงสูง ไม่เน้นการฉุดลากแบกน้ำหนัก อาจใช้กับเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์ที่ต้องการใช้แรงบิดสูง ต้องการให้กำลังจากการจุดระเบิดที่เกิดขึ้นได้ถูกจัดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นจากพื้นฐานการขยายลูกสูบโตขึ้น ยืดระยะชักของเครื่องยนต์ให้มากขึ้น หรือมีการเพิ่มส่วนผสม ลดกำลังอักในห้องเผาไหม้ให้สูงขึ้น พวกนี้จะทำให้เกิดกำลังที่มากขึ้น จำเป็นต้องทำข้อเหวี่ยงเพื่อรองรับกำลังที่สร้างมาได้ให้ออกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง เต็มเม็ดเต็มหน่วย
จากกำลังที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะจากการโมดิฟายในจุดใด ชิ้นส่วนเช่นก้านสูบหรือจุดหมุนที่ข้อเหวี่ยงจะได้รับภาระมากขึ้นตามไป การเพิ่มขนาดจุดยึดข้อเหวี่ยงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความแข็งแรงที่มากขึ้น บางครั้งยังช่วยให้มีระยะชักที่เพิ่มขึ้นได้เข้าไปอีก อีกทั้งการเพิ่มตุ้มน้ำหนักให้ข้อเหวี่ยงสร้างพลังงานจลน์ไปใช้ขับเคลื่อนในระหว่าง สามจังหวะ ดูด อัด คาย ที่เครื่องยนต์ต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งที่ได้จากจังหวะกำลังในจังหวะ ระเบิดมาใช้ เมื่อมันมีพลังงานจลน์ที่สร้างจากมวลน้ำหนักของข้อเหวี่ยงกับความเร็วในการหมุน จึงมีแรงที่ได้มาช่วย ทำให้มีกำลังที่เหลือเฟือที่จะนำไปขับเคลื่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะเคยเห็นข้อมูลทางเทคนิค การแสดงตัวเลขแรงม้า ที่มีการระบุว่าวัดที่เพลาข้อเหวี่ยง แต่สุดท้ายลงไปที่ล้อเท่าไหร่ก็จะเป็นแรงม้าจริงที่เหลือใช้หลังจากที่สูญเสียไปในกระบวนการทำงาน หรือหลุดออกไปกับความร้อนไอเสีย ซึ่งส่วนมากหลังจากการโมดิฟายข้อเหวี่ยงที่ถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แบบว่าสะกิดเป็นติด “บิดติด ยกดิรอไร”
สุดท้ายเมื่อทำกระบวนการทั้งหมด หรือกลเม็ดเคล็ดลับที่มากกว่านี้ของแต่ละสำนักแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบบาลานซ์ การหมุนให้ได้ ไม่เช่นนั้นอาการสั่น หลับกลางอากาศ ข้อขาด การชี้อาจมาได้โดยไม่ตั้งใจ แล้วว่ากันใหม่ในคราวต่อไป…
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ภาพ : webike.net
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th