“กทม.” จะแบ่งค่าปรับครึ่งหนึ่งให้ผู้แจ้งเบาะแสขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า – หาบเร่แผงลอย และผู้ทิ้งขยะลงคลอง

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีการให้รางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้ง ในกรณีพบเห็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ว่า ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามในระเบียบกทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับ ที่ได้จากการเปรียบเทียบปรับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์บนทางเท้า การทิ้งขยะในแม่น้ำ คู คลองและพื้นที่สาธารณะ ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และการลักลอบติดป้ายโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดตามที่กล่าวมา สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านช่องทางดังนี้
– ทางสายด่วนสำนักเทศกิจ โทร. 02-465-6644
– ทางไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600
– ทางอีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com
– ทางเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร”
– ทางไลน์ ID : @ebn6703 ในชื่อแอคเคานต์ “รางวัลนำจับ” และ
– ทางสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต โดยในการแจ้งเรื่องนำจับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยมีหลักเกณฑ์ในการแจ้งเรื่อง เพื่อขอรับเงินส่วนแบ่งรางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับดังนี้
- รายละเอียดของผู้แจ้ง ได้แก่
– ชื่อ – นามสกุล
– เลขประจำตัวประชาชน
– ที่อยู่
– หมายเลขโทรศํพท์ - รายละเอียดการกระทำผิด ได้แก่
– เบาะแสการกระทำความผิด วันที่ เวลา สถานที่
– รูปภาพหรือหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในการติดตาม ผู้กระทำความผิด
ทั้งนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งจะได้รับการปกปิดเป็นความลับ ซึ่งรางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบแล้ว โดยอายุความของหลักฐานจะมีอายุ 1 ปี ส่วนการรับเงินแบ่งค่าปรับกึ่งหนึ่งสามารถรับเงินค่าปรับได้ที่สำนักงานเขตที่รับแจ้งภายในวันที่เปรียบเทียบปรับหรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกันผู้แจ้งความก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในวันเดียวกันทันที ทั้งนี้ หากไม่ขอรับภายในกำหนดถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะส่งเป็นรายได้ของกทม. โดยการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หลังจากนี้จะมีการประสานงานกับกองบัญชาการตำนวจนครบาล เพื่อให้การรักษากฎหมายทำได้ดียิ่งขึ้น
โดยระเบียบของกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับ ที่ได้จากการเปรียบเทียบปรับ ที่จะแบ่งให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมถึงการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า การทิ้งขยะลงในคูคลอง การทิ้งขยะในที่สาธารณะ และกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า
ล่าสุดทาง กทม. ได้มีรายงานผลการดำเนินการตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการแบ่งเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ. 2535 สำนักเทศกิจ เป็นศูนย์กลางรับเรื่องแล้วประสาน สำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 15 – 17 ส.ค. มี ประชาชน add Line เข้ามา แล้วกว่า 4,600 ราย มีการแจ้งเบาะแส และเรื่องราวต่าง ประมาณ 500 ราย มีการปรับ และจ่ายเงินรางวัลนำจับ ให้กับผู้แจ้งแล้ว 5 กรณี แบ่งเป็นเขต ธนบุรี 1 ราย ปรับ 500 บาท เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 1 ราย ปรับ 500 บาท เขตบางรัก 2 ราย ปรับ รายละ 500 บาท เขตภาษีเจริญ 1 ราย ปรับ 1000 บาท และยังอยู่ระหว่างการติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดอีก 14 ราย
แต่ในทางกลับกัน ก็ได้มีชาวโซเชียล จากเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “สนับสนุบสนุนปฏิรูปตำรวจ” เกิดมีแนวคิดสวนทางเกี่ยวกับกฎที่ออกมาบังคับใช้ ตามหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้
1.กฎที่ออกมา จะทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเทศกิจ จะทำงานน้อยลง โดยจะรอแจ้งจากประชาชน
2.ในกรณีของการสร้างความขัดแย้งในสังคม ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น
3.กฎดังกล่าว จะทำให้ประชาชนผู้ว่างงานส่วนหนึ่ง จะไม่คิดไขว่คว้าหางานทำอีกต่อไป เพราะจะมัวแต่ดักถ่ายรูปหาผู้กระทำผิดอยู่ทั่วไป ตามบาทวิถี เพื่อหวังส่วนแบ่งจากค่าปรับ
4. ปัญหาการปลอมแปลงทะเบียนจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม และไม่ต้องการเสียค่าปรับ
5.ประเด็นสุดท้าย หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดกฎเอง จะมีผู้คุมกฎคนใด กล้าดำเนินคดี สุดท้ายแล้ว เรื่องจะเงียบหายไปโดยปริยาย
เรื่อง : สมโภช นันทโรจน์
ขอบคุณภาพ :
- co.th
- in.th
- Facebook Fanpage “สายลุย คุยกับด่าน”
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th