การขับรถบนไหล่ทาง ควรทำหรือไม่?
มีการถกเถียงกันมากกับ การขับรถบนไหล่ทาง ซึ่งเจตนารมณ์ของกฏหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 “มาตรา ๑๐๓ ทางใดที่มีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถให้คนเดินเท้าเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ถ้าทางนั้นไม่มีทางเท้าอยู่ข้างทางเดินรถให้เดินริมทางด้านขวาของตน”
นั่นหมายความว่า ไหล่ทาง คือ พื้นที่ที่ต่อจากขอบทางออกไปทางด้านข้าง ซึ่งยังมิได้จัดทำเป็นทางเท้า และทางเท้า คือ พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดิน ซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทาง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทาง ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน
อาจมีคำถามว่า แล้วไหล่ทางบนทางด่วนล่ะ จะมีมนุษย์คนไหนขึ้นไปเดิน?
เอาเป็นว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการแยกพระราชบัญญัติจราจรทางบกไว้ว่า เป็นทางราบหรือทางด่วน ดังนั้น จึงนำกฏหมายที่มีมาปรับใช้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้รถในทางราบ หรือ ทางด่วน ก็จะใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เหมือนกัน
สรุปว่า ตามหลักแล้ว ไหล่ทางไม่ได้มีไว้สำหรับให้ขับรถเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีเร่งด่วนแค่ไหนก็ตาม และการจอดรถบนไหล่ทาง ทำได้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น อาทิ ต้องหยุดรถชั่วคราวอันเนื่องจากอุบัติเหตุหรือรถเสีย ไหล่ทางมีไว้สำหรับรถตำรวจ รถพยาบาล หรือยานพาหนะฉุกเฉินอื่นๆ ที่ต้องใช้วิ่งในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการขับรถอยู่บนไหล่ทาง จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานของยานพาหนะฉุกเฉินเหล่านั้น ยกเว้นในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมายืนอำนวยความสะดวกและเป็นผู้เปิดช่องทางเอง ก็ถือซะว่า เป็นเลนพิเศษไป แต่การเปิดเลนเองหรือเข้าไปขับในไหล่ทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจราจร
ฉะนั้น หากเราการปฏิบัติตามกฏกติกาและมารยาทการใช้รถใช้ถนนอย่าเหมาะสมแล้ว จงภูมิใจเถอะครับว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาต่างๆ บนท้องถนน ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนใครที่คิดว่า การปฏิบัติตามกติกาที่มีเป็นการเสียโอกาส หรือเสียเวลา ก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ เพราะเขาเหล่านั้นคงใช้ถนนรวมกับเราได้ไม่นานนัก
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพจาก : google.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th