การเก็บค่าจอดรถ
ภายหลังจากที่ “ราชกิจจานุเบกษา” ได้มีการเผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการเก็บค่าบริการที่จอดรถ เพื่อการจัดระเบียบ กำหนดสถานที่จอด รวมถึงค่าธรรมเนียมในการจอดรถ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งในประเทศไทย จะเริ่มมีอัตราค่าธรรมเนียมการจอดยานยนตร์ในถนน 66 สาย ดังนี้
- รถจักรยานยนตร์ ชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท
- รถยนตร์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ ชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไป 20 บาท
- รถยนตร์ขนาด 6 ล้อ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 30 บาท
- รถยนตร์ขนาด 8 ล้อ ชั่วโมงแรก 30 บาท ชั่วโมงต่อไป 40 บาท
- รถยนตร์ขนาด 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 40 บาท ชั่วโมงต่อไป 60 บาท
- รถยนตร์ขนาดเกิน 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท โดยเศษของชั่วโมงให้คิดเป็น 1 ชั่วโมง
- โดยมีการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดยานยนตร์ บริเวณเขตทางถนนราชดำริ สำหรับยานยนตร์ทุกประเภทเฉพาะช่วงเวลา 00-08.00 น. ของทุกวัน
หลังจากที่ประกาศมีการบังคับใช้ จึงทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากผู้ใช้รถชาวไทย ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการจัดการระบบจราจรในเมือง ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
ซึ่งโดยปกติแล้ว การคิดค่าบริการจอดรถทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
แบบที่ 1 : ใช้เครื่องเก็บเงินอัตโนมัติ
ใช้เงินลงทุนสูง ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ ในเบื้องต้นก็จะมีตู้จ่ายบัตรอัตโนมัติ และกล้องถ่ายภาพ ตอนเข้าให้กดปุ่มเพื่อรับบัตรพร้อมบันทึกภาพ และเวลาเข้าจอดไว้ ตอนออกระบบก็คืนบัตร ถึงเวลาออกก็นำบัตรไปเพื่อเช็คภาพถ่าย เวลาจอด และทำการคิดเงินที่เครื่องคิดเงินอัตโนมัติได้ทันที เป็นแบบที่ให้ความสะดวกสบายสำหรับผู้รับบริการ
ข้อดี : ไม่ต้องใช้คนเฝ้า ไม่ต้องห่วงเรื่องพนักงานละทิ้งหน้าที่ หรือ เก็บเงินไม่ครบ
ข้อเสีย : ใช้เงินลงทุนสูง และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับลูกค้า ในกรณีที่ทำบัตรหาย หรือตัวเครื่องเกิดมีปัญหา รวมถึงตู้เก็บเงิน ที่ยังมีโอกาสเสี่ยงสูง ในการถูกโจรกรรมอีกด้วย
แบบที่ 2 : ใช้พนักงานดูแล
โดยมีพนักงานประจำจุดทางเข้า-ออก รอคิดเงินเหมือนลานจอดรถทั่วไป
ข้อดี : ในพื้นที่ จะมีคนดูแลตลอด เหมือนมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อาจจะช่วยโบก ช่วยเข็นรถได้ และใช้เงินถูกกว่าการซื้อเครื่องคิดเงิน
ข้อเสีย : ใช้พนักงานจำนวนมาก ตามขนาดพื้นที่ เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง รวมถึงการสุ่มเสี่ยงในความรับผิดชอบที่ไม่เท่ากันของพนักงานแต่ละคน
Parking Meter เครื่องคิดเงินค่าจอดรถ
คือ อุปกรณ์คิดเงินตามเวลา ที่นำมาใช้ในการคิดค่าจอดรถ ซึ่งในอดีต Parking meter กรุงเทพมหานคร ก็เคยมีใช้ในบริเวณถนนบางลำพู ถนนเจริญกรุง ถนนบางรัก ฯลฯ โดยเป็นเครื่องแบบหยอดเหรียญ ที่ผู้จอดรถทำการใส่เหรียญลงไปแล้วบิดลูกบิด ให้ลานข้างในที่เป็นขดสปริงบีบตัว และจะค่อยๆ คลายตัวกลับมา กระทั่งหมดลาน จนแผ่นสีแดงเด้งขึ้นมาบนจอ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าหมดเวลาแล้ว
แต่สำหรับ Parking Meter ในต่างประเทศ จะเป็นเครื่องอัตโนมัติที่มีสลิปแจ้งรายละเอียดว่า สามารถจอดได้นานเพียงใด แล้วนำสลิปที่ได้ ไปวางด้านในรถตรงกระจกหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพื้นที่ได้ทราบ หากพบว่ามีรถจอดเกินเวลา ก็จำเป็นต้องมีการเสียค่าปรับ หรือหนักกว่านั้น หากคุณไปจอดในที่ห้ามจอด ก็อาจมีรถลาก Tow truck มาลากรถคุณไปเก็บที่อู่ ซึ่งทางเจ้าของรถเอง ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าลาก เพื่อนำรถกลับคืน ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าค่าปรับอีกด้วย…
เรื่อง: สมโภชน์ นันทโรจน์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th