กาแฟส่งผลต่อความสามารถในการขับรถจริงหรือ?
หนึ่งในเครื่องดื่มที่หลายๆ คนมักมีติดไว้สำหรับจิบเพื่อดับกระหายในขณะขับรถก็คือกาแฟเย็น ซึ่งในขณะที่หลายๆ คนไม่ได้คิดอะไรมากนอกจากว่าอยากได้อะไรที่หวานๆ เย็นๆ ไว้ดื่ม แต่บางคนรู้สึกว่าการดื่มกาแฟช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าในขณะขับรถ รวมทั้งยังไม่ง่วงด้วยทำให้มีความตื่นตัวขณะขับรถ
ซึ่งสิ่งหลังนี้ยังหมายถึงความปลอดภัยในการขับรถด้วย อย่างไรก็ตามบางคนอาจสงสัยว่าความคิดนี้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกไปเอง หรือเป็นผลจริงๆ จากการดื่มกาแฟที่มีการศึกษาหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ หากสงสัยในเรื่องนี้ลองมาดูการศึกษาต่างๆ ที่เคยมีเกี่ยวกับกาแฟกับการขับรถดู
การศึกษาเรื่องกาแฟกับการขับรถตอนกลางคืน
มีการศึกษาโดยนักวิจัยฝรั่งเศสที่เผยแพร่ในวารสารด้านการแพทย์ที่ชื่อว่า Sleep โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบผลของกาแฟและการงีบหลับต่อการขับรถตอนกลางคืนในผู้ขับที่มีอายุน้อยและวัยกลางคน โดยทำกับ 12 คนที่มีอายุ 20-25 ปี และ 12 คนที่มีอายุ 40-50 ปี ด้วยการให้ดื่มกาแฟหนึ่งแก้วที่มีปริมาณคาเฟอีน 200 มิลลิกรัม กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน หรือนอนพัก 30 นาที จากนั้นจึงให้ขับรถระยะทาง 200 กิโลเมตรบนทางหลวงตอนกลางคืน จากนั้นก็ใช้การนับจำนวนการขับรถเบี่ยงออกนอกเลนหรือข้ามเส้นแบ่งเลนในลักษณะที่ผิดปกติระหว่างการขับรถแต่ละช่วง เพื่อวัดถึงประสิทธิภาพการขับรถ เนื่องจากในฝรั่งเศสการข้ามไปอีกเลนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการหลับถึง 65 เปอร์เซ็นต์
ผลที่ออกมาคือผู้ที่ดื่มกาแฟไม่มีคาเฟอีนทำได้แย่ที่สุด มีการข้ามเส้นแบ่งเลนรวมกันถึง 159 ครั้ง ในขณะที่คนที่นอนพัก 30 นาทีก่อนขับรถให้ผลลัพธ์ที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งกับจำนวนเบี่ยงการออกนอกเลน 84 ครั้ง ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟจริงๆ มีคาเฟอีนมีการขับรถข้ามเส้นแบ่งเลนรวมกันเพียง 27 ครั้ง นอกจากนี้นักวิจัยยังชี้ว่าคนวัยกลางคนมีการตอบสนองต่อกาแฟได้ดีที่สุด เพราะกาแฟที่มีคาเฟอีน ช่วยลดอันตรายจากการขับรถออกนอกเลนในกลุ่มนี้ลงได้ 89 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กาแฟช่วยลดอันตรายจากการขับเบี่ยงออกนอกเลนลง 23 เปอร์เซ็นต์ในคนที่อายุน้อยกว่า
การศึกษาเรื่องกาแฟกับการขับรถต่อเนื่องเป็นเวลานาน
มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เผยแพร่ลงในวารสารการวิจัย Psychopharmacology ซึ่งเป็นการทำเพื่อดูผลของกาแฟหนึ่งแก้วต่อประสิทธิภาพการขับรถทางไกลต่อเนื่อง โดยมีการทำกับคน 24 คนที่มีสุขภาพดีและไม่มีปัญหาเรื่องการนอน โดยถูกบอกให้ขับรถบนทางหลวงเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นแต่ละคนจะได้รับกาแฟหนึ่งแก้วซึ่งเป็นกาแฟที่มีคาเฟอีนหรือกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน แล้วจึงขับรถต่อเป็นเวลาสองชั่วโมง
สำหรับวิธีการวัดประสิทธิภาพการขับรถว่าดีขึ้นหรือลดลงในการศึกษานี้คือการดูไปที่การเบนออกด้านข้างของรถ และลักษณะความเร็วของรถ เพื่อดูถึงความง่วง และประสิทธิภาพการขับรถ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือผู้ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนทำได้ดีกว่าในระหว่าง 2 ชั่วโมงของการขับรถหลังจากดื่มกาแฟ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับกาแฟกับประสิทธิภาพการขับรถที่จัดขึ้นในออสเตรเลียโดย Australia Department of Defence ที่ได้ทำขึ้นเป็นเวลา 4 วันในมหาวิทยาลัยเซ้าต์ออสเตรเลีย โดยการให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยตื่นอยู่เป็นเวลา 50 ชั่วโมงและทำการทดสอบขับรถบนไดรวิ่งซิมูเลเตอร์หลายๆ ครั้งเป็นช่วง โดยที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้จะได้รับหมากฝรั่งที่มีคาเฟอีน 200 มิลลิกรัมในแต่ละชิ้นจำนวน 4 ชิ้น ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะได้รับหมากฝรั่งเหมือนกันแต่ไม่มีคาเฟอีน
การศึกษาพบว่าความสามารถในการขับรถเริ่มลดลงในทั้ง 2 กลุ่มเมื่อผ่านช่วงเวลาทดสอบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลุ่มที่ได้รับหมากฝรั่งที่ไม่มีคาเฟอีนแสดงสัญญาณของการสัปหงกเร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับคาเฟอีน รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับหมากฝรั่งคาเฟอีนยังแสดงการขับรถที่มีความเร็วขึ้นๆ ลงๆ และเบี่ยงออกจากเลนน้อยกว่าด้วย นอกจากนี้กลุ่มที่ไม่ได้รับหมากฝรั่งคาเฟอีนยังเริ่มมีการขับรถชนที่ประมาณ 22 ชั่วโมงของการทดสอบ ในขณะที่อีกกลุ่มไม่มีการชนเลยสักครั้งเดียวจนกระทั่งผ่านการทดสอบไป 40 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามแม้จะมีหลายการศึกษาที่ชี้ว่าการดื่มกาแฟส่งผลดีต่อความสามารถในการขับรถทั้งเวลาการคืนและการขับรถทางไกล แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนที่แนะนำว่า ผู้ที่อ่อนล้าจากการขับรถไม่ควรพึ่งพากาแฟเพื่อช่วยให้ตื่นตัว แต่ผู้ขับรถที่รู้สึกสัปหงกหรือเหนื่อยล้าเกินกว่าจะควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยไม่ควรอยู่บนถนน รวมทั้งไม่ควรพึ่งพากาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นที่จะทำให้รู้สึกตื่นตัว
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th