รู้ก่อนพัง !! ควรเปลี่ยนตอนไหน?กับของเหลวในรถยนต์
โดยพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนไทยเมื่อซื้อรถยนต์มาหนึ่งคันจะใช้งานกันยาวๆอย่างน้อยก็ 5 ปีขึ้น หรือไม่ก็ไปซื้อรถยนต์มือ 2 มาใช้งานกัน แน่นอนครับรถยนต์มันประกอบด้วยชิ้นส่วนที่หลากหลาย บางชิ้นส่วนที่มีการเสียดสีก็ต้องมีน้ำมันหล่อลื่นช่วย และไอ้เจ้าน้ำมันหล่อลื่น และ ของเหลวในรถยนต์ นี่แหละไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำยาในหม้อน้ำ เป็นต้น มันจะมีระยะเวลาในการเปลี่ยนของมัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไอ้น้ำมันหล่อลื่น หรือของเหลวพวกนี้มันต้องเปลี่ยนกันตอนไหนบ้าง เพราะแต่ละอย่างระยะเวลาเปลี่ยนต่างกัน และถ้าคุณไม่สนใจเลยไม่เปลี่ยนนานๆอาจจะส่งผลต่อการทำงานของรถยนต์ได้ วันนี้เรามาดูกันครับว่าของเหลวต่างๆในรถมีอะไรบ้างและเปลี่ยนตอนไหน
ปกติการดูว่าเราต้องเข้าไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน หรือของเหลว ตอนไหนส่วนมากจะมีอยู่ในสมุดการรับประกันจากศูนย์บริการอยู่แล้วถ้าคุณออกรถยนต์ป้ายแดงจากศูนย์บริการ แต่ถ้าคุณไปซื้อรถยนต์มือ 2 มาก็ควรหาเล่มการรับประกันที่มีอยู่เดิมแล้วเปิดเช็คดูว่าเจ้าของเก่าเค้าทำอะไรไปบ้าง ถ้าไม่มีทางที่ดี และง่ายที่สุดคือ เปลี่ยนของน้ำมันหล่อลื่น และของเหลว ทั้งหมดให้มานับ 1 ที่เราจจดีที่สุดอย่างน้อยเราก็เริ่มนับ1ที่เรา และง่ายต้องการเช็คระยะการเปลี่ยนในครั้งต่อไป อ่อ อย่าลืมจดเลขไมล์บนหน้าปัดก่อนเปลี่ยนไว้ด้วยนะครับเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราวิ่งไปกี่กิโลเมตรแล้ว มันจะง่ายต่อการคำนวณ
1.น้ำมันเครื่อง
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ให้ทำงานได้ดี เราจึงควรใส่ใจกับการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องว่าควรจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร
การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพื่อให้ช่วยยืดอายุการใช้งานของรถ ปกตินิยมเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อรถวิ่งถึงระยะ 8,000 – 10,000 ก.ม. หรือทุกๆ 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่องจากปิโตรเลียม กึ่งสังเคราะห์ หรือ สังเคราะห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของรถด้วย ถ้ารถใช้งานบ่อยก็อาจเปลี่ยนทุกๆ 5,000 ก.ม. หรือทุก 3 เดือน ดังนั้น จึงควรจะพิจารณาระยะทางที่ขับขี่ ควบคู่ไปกับระยะเวลาที่เปลี่ยนถ่ายด้วย อีกอย่างรถจอดทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเหมือนกัน เพราะน้ำมันเครื่องจะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้เสื่อมลงเรื่อยๆ อีกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละภูมิประเทศด้วย เช่น ถ้าอากาศหนาวทำให้รถสตาร์ทติดยาก ในช่วงที่เราค่อยๆ สตาร์ทรถการเผาไหม้จะยังไม่สมบูรณ์ดีพอ ทำให้คราบน้ำมันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่หมด อาจตกลงปนกับน้ำมันเครื่องซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่สำคัญเวลาถ่ายเปลี่ยนน้ำมันเครื่องควรเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องพร้อมกับการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เพื่อช่วยให้น้ำมันเครื่องที่เปลี่ยนใหม่ได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุประยะถ่ายน้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา 5,000 กิโลเมตร
น้ำมันเครื่อง กึ่งสังเคราะห์ 7,500-8,000 กิโลเมตร
น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 10,000-15,000 กิโลเมตร
2.น้ำมันเกียร์
เกียร์คือชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญมาก ควรบำรุงรักษาให้ดี เพราะถ้ามันพังขึ้นมาค่าเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่แพงเอาเรื่องนะครับ เพราะฉะนั้นเราควรดูแลมันให้ดี การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะกำหนดทำให้เกียร์ของรถยนต์มีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ใช้รถยนต์ส่วนมากจะมองข้ามมันไป อย่าลืม !!เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะทางที่กำหนด ไม่งั้นเกียร์อาจพังเร็วกว่ากำหนดได้ เพราะ น้ำมันกียร์มีหน้าที่ ช่วยลดแรงเสียดทาน ลดการสึกหรอของเกียร์ ช่วยลดเสียงดัง และการสั่นสะเทือนในเรือนเกียร์ ช่วยชะล้างเศษโลหะจากหน้าฟันเกียร์ที่เกิดจากการสะเทือนและเสียดสีภายใน ช่วยป้องกันสนิมการกัดกร่อนจากชิ้นส่วนภายในเกียร์ นะครับ
เกียร์ธรรมดา
สำหรับคนขับรถเกียร์ธรรมดา รอบการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ค่อนข้างนาน ประมาณปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้าต้องขับรถลุยฝนหรือบริเวณที่น้ำท่วมขังบ่อยๆอาจเปลี่ยนเร็วกว่านั้น เพราะในหน้าฝนอาจมีความชื้นจากน้ำเล็ดลอดเข้าไปในห้องเกียร์ ทำให้น้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนดได้ ดังนั้นถ้าจะให้ดีควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านหน้าฝนมาแล้ว จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์บ่อยๆยังไงล่ะครับ
เกียร์ออโต้
ในคู่มือรถส่วนใหญ่จะบอกว่าให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ทุกๆ 30,000 หรือ 40,000 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งเยอะๆหรือวิ่งๆหยุดๆในกรุงเทพที่ต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ อาจเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ที่ 10,000 – 20,000 กิโลเมตร หรือประมาณปีละครั้ง เพราะการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์แต่ละครั้ง น้ำมันจะออกมาไม่ถึงครึ่งหรือไม่เกินสองในสามของน้ำมันที่เติมเข้าไป การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์บ่อยจะช่วยให้น้ำมันเกียร์สะอาดมีประสิทธิภาพดีขึ้นครับ ช่วยลดความเสี่ยงเกียร์พังไวได้เป็นอย่างดี
การตรวจสภาพน้ำมันเกียร์ สีเหลืองใสหรือสีแดงคือสีที่บ่งบอกว่าน้ำมันเกียร์ยังอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานอยู่ แต่ถ้าน้ำมันเกียร์เป็นเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำขึ้นมาเมื่อไร เป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ได้แล้ว ที่สำคัญควรเปลี่ยนกับศูนย์หรืออู่ที่ได้มาตรฐาน และเลือกใช้น้ำมันเกียร์ให้เหมาะสมกับรุ่นรถด้วย เพื่อความปลอดภัยของเกียร์.
3.น้ำยาหล่อเย็น
น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) ส่วนประกอบหลักของมันจะมี น้ำ, สารหล่อเย็น , หัวเชื้อป้องกันสนิม และสีต่างๆ ฯลฯ ซึ่งถ้าพูดถึงคุณสมบัติจริงๆ ของมันแล้ว น้ำยาหล่อเย็น ไม่ได้มีหน้าที่ระบายความร้อน แต่จะช่วยทำให้จุดเดือดของน้ำที่ผสมน้ำยาหล่อเย็นสูงขึ้น ทำให้น้ำที่อยู่ในหม้อน้ำเดือดช้าลง แถมยังป้องกันการเกิดสนิม ตะกรัน ตะกอน เพราะเมื่อมีสนิมมันก็จะผุ กร่อน มีตะกอน น้ำยาจึงช่วยไม่ให้มีการอุดตันในรังผึ้งของหม้อน้ำ
น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) ที่มีประโยชน์ต่อเครื่องยนต์ ซึ่งหากเราไม่ใช้ หรือไม่เติมน้ำยาจะใช้แค่น้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้ไม่มีปัญหา แต่มันจะระบายความร้อนไม่ดีเท่ากับการเติมน้ำยาลงไป
ส่วนการผสมใช้งาน น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) กับน้ำ ส่วนมากจะผสมกันในอัตราส่วน 50/50 หรือดูวิธีผสมได้ที่ข้างขวดของน้ำยายี่ห้อนั้นๆ และระยะการเปลี่ยนถ่ายก็ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น หรือน้ำยาที่ใช้ด้วย เช่น บางรุ่นกำหนดไว้ทุกๆ 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร และบางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000 – 200,000 กิโลเมตร ฯลฯ ที่สำคัญ หากมีเวลา ควรเปิดฝากระโปรงหน้าอาทิตย์ละครั้งเพื่อสังเกตน้ำในหม้อน้ำ และหม้อพักน้ำสำรอง ว่าน้ำลดลงผิดปกติมั้ย ดูรอยคราบน้ำว่ามีเลอะออกมากมั้ย ถ้ามีเข้าศูนย์ หรืออู่ เช็คด่วน
4.น้ำมันเบรก
เบรกมีความสำคัญอย่างมากสำหรับรถยนต์ เพราะใช้ในการหยุดรถ การเลือกน้ำมันเบรกที่เหมาะสมสำหรับความต้องการของรถคุณและการเปลี่ยนน้ำมันเบรกตามกำหนดเวลาคือปัจจัยสำคัญสำหรับความปลอดภัยในการขับขี่
น้ำมันเบรกมีหน้าที่ในการเป็นตัวกลางส่งแรงดันจากแม่ปั๊มเบรกตัวบนไปยังลูกสูบเบรก น้ำมันเบรกที่ดีจะต้องมีจุดเดือดสูง เพื่อไม่ให้น้ำมันเบรกร้อนเร็วเกินไปจนกลายเป็นไอไม่สามารถถ่ายเทแรงดันได้ตามปกติ ถ้าไม่มีน้ำมันเบรกหล่อลื่นก็จะทำให้เกิดการสึกหรอและทำให้เบรกแตกได้
น้ำมันเบรกที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปจะต้องได้รับรองมาตรฐาน ซึ่งแบ่งตามจุดเดือด และ จุดชื้นซึ่งมีชนิด DOT 3 , DOT 4 , และ DOT 5 การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกควรเปลี่ยนถ่ายทุก ๆ 1 ปี (ถ้ารถใช้น้อย) หรือ เปลี่ยนทุก ๆ 40,000 กม. เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรกออกจากระบบ ช่วยป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกยางเบรกบวม หรือ ฉีกขาดจนทำให้น้ำมันเบรกรั่วซึมและเบรกไม่อยู่ โดยมาก น้ำมันเบรกจะมีอายุได้ถึง 80,000 กิโลเมตร หรือ ประมาณ 3 ปี แล้วแต่ว่าอะไรถึงก่อน (ถ้าพ้น 3 ปีแล้ว ควรเปลี่ยนทันทีเนื่องจากน้ำมันเบรกอาจจะเสื่อมคุณภาพในการใช้งาน) เราสามารถตรวจปริมาณน้ำมันเบรกได้จากในกระปุกน้ำมันเบรกที่ห้องเครื่อง (ดูได้จากคู่มือประจำรถ) ควรมีปริมาณที่ Max อยู่ตลอดเวลา หากมีการพร่องของน้ำมันควรรีบตรวจระบบเบรกทันที
5.น้ำมันพาวเวอร์
น้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ ปัจจุบันอาจจะไม่มีในรถบางรุ่นแล้วเพราะรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่ออกมาจะใช้ระบบพวงมาลัยไฟฟ้าแทนซะส่วนมาก แต่ถ้ารถยนต์ของคุณยังเป็นระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิคอยู่ก็ควรจะดูไว้นะครับ ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น เฟืองขับและเฟืองสะพานที่เชื่อมต่อเข้ากับล้อหน้า ลูกสูบภายในเฟืองขับและเฟืองสะพานซึ่งเคลื่อนที่ตามแรงดันน้ำมันจากปั๊มพวงมาลัยเพาเวอร์ที่ทำหน้าที่ช่วยหมุนพวงมาลัย และกระบอกสูบซึ่งมีน้ำมันอยู่ภายในและติดตั้งอยู่กับตัวปั๊ม หรืออาจจะติดตั้งห่างออกไปเพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น และถ้ามันมีน้ำมันไม่เพียงพอ การบังคับเลี้ยวจะทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ปั๊มหรือชุดเฟืองขับและเฟืองสะพานอาจได้รับความเสียหายเมื่อไม่มีน้ำมันช่วยลดแรงกระแทก ด้วยเหตุนี้ การตรวจสอบระดับน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์เป็นประจำและเติมน้ำมันเมื่อจำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การตรวจสอบระดับน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ ถ้ากระปุกน้ำมันทำจากพลาสติกใสๆ คุณอาจจะมองเห็นระดับน้ำมันภายในกระปุกได้ แต่ในกรณีที่กระปุกน้ำมันทำจากโลหะหรือเป็นพลาสติกที่ไม่ใสพอให้มองเห็นด้านใน คุณสามารถใช้ก้านวัดน้ำมันเพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันที่เหลืออยู่ โดยก้านวัดมักจะติดอยู่กับฝาปิดถ้าน้ำมันมันลดลงก็เติมเข้าไปให้พอดีครับ การเติมน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ถ้ารถของคุณมีแถบวัดอยู่บนกระปุกน้ำมัน คุณสามารถเติมน้ำมันลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับ “ร้อน” หรือ “เย็น” ที่ถูกต้อง แต่ในกรณีที่ใช้ก้านวัดในการตรวจสอบระดับน้ำมัน ให้ค่อยๆ เติมลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เติมมากไปจนล้นกระปุก อย่าลืมใช้น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ที่แนะนำให้ใช้กับรถของคุณเท่านั้น เพราะน้ำมันที่แนะนำจะมีความหนืด (ความข้น) อยู่ในระดับที่เหมาะกับระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ของรถนั่นเอง ระวัง !! อย่าเติมน้ำมันให้กับพวงมาลัยเพาเวอร์มากเกินไป การเติมน้อยกว่าระดับที่ถูกต้องจะดีกว่าการเติมมากเกินไป เพราะน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์จะขยายตัวเพิ่มเมื่อร้อนขึ้น ถ้าคุณเติมน้ำมันจนถึงระดับสูงสุดแล้วพยายามขับรถ แรงดันที่เพิ่มขึ้นอาจเริ่มสร้างปัญหา และอาจทำให้คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซม
คุณควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ทุก 80,000 กิโลเมตร หรือตามระยะที่กำหนดในคู่มือเจ้าของรถด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ความร้อนจากเครื่องยนต์และสภาพโดยรอบจะทำให้ความสามารถในการทำงานของน้ำมันลดลง และทำให้ชิ้นส่วนภายในระบบพวงมาลัยเพาเวอร์สึกหรอและสึกกร่อน ที่สำคัญ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเปลี่ยนปั๊มพวงมาลัยเพาเวอร์หรือชุดเฟืองขับและเฟืองสะพาน
เอาละครับเมื่อคุณอ่านบทความนี้จบแล้วลุกขึ้นมาเช็คระบบ ของเหลวในรถยนต์ ที่เรารักกันดีกว่า เราใช้เค้าทุกวันก็ควรดูแลรักษาให้ดีเราจะได้ใช้กันนานๆและไม่มีปัญหากวนใจเวลาขับอีกด้วย
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร รถยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th