ขับรถข้ามเขาอย่างไร ให้ปลอดภัย…
สำหรับการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว หลายท่านเลือกที่จะใช้เวลาหาความสุขใส่ตัวด้วยการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ยิ่งต้องขับรถบนเส้นทางขึ้น-ลงเขาที่มีความชันมาก หากไม่มีความชำนาญ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือรถพังกลางทางได้ ทีมงานจึงขออนุญาตแนะนำการขับรถขึ้น-ลงเขา ให้ปลอดภัยมาฝากนักขับทุกท่านครับ
ใช้เกียร์ต่ำ ในขณะที่ขับขึ้น-ลงทางชัน
ในการขับรถในเส้นทางทางขึ้นเขา ที่มีความลาดชัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องใช้แรงบิดของเครื่องยนต์มากกว่าการขับรถบนทางเรียบ เพื่อพาตัวรถฝืนแรงโน้มถ่วงไปสู่จุดหมาย การเลือกใช้เกียร์ที่เหมาะสม สำหรับเกียร์ธรรมดา ควรใช้เพียงเกียร์ 1 กับเกียร์ 2 ซึ่งอัตราทดของเกียร์จะให้แรงมากกว่าเกียร์อื่น และเมื่อใช้เกียร์ 2 แล้วรู้สึกว่ารถเริ่มไม่มีแรง ก็ให้ลดเกียร์ต่ำลงอีกครั้ง ส่วนรถที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ แนะนำให้เกียร์ L หรือ 1
การขับลงเขา ก็ควรใช้เกียร์ต่ำเช่นกัน เพื่อใช้แรงฉุดของเครื่องยนต์ที่เรียกว่า Engine Brake มาช่วยดึงรถให้ช้าลง ซึ่งการใช้เกียร์ต่ำวิ่งลงทางชันนั้น ไม่ควรใช้ความเร็ว เพื่อการควบคุมที่ปลอดภัยกว่า ทางลงเขาควรเลือกใช้เกียร์ต่ำเช่นกัน (เกียร์ธรรมดาควรใช้เกียร์ 1-2 สำหรับเกียร์อัตโนมัติใช้เกียร์ L และใช้เบรกช่วยควบคุมความเร็ว สิ่งสำคัญคือไม่ควรดับเครื่องยนต์ แล้วปล่อยไหล หรือใช้เกียร์ว่างลงเขาเด็ดขาด เพราะนอกจากจะมีแรงฉุดของเครื่องยนต์มาช่วยแล้ว การดับเครื่องยนต์ยังทำให้แป้นเบรกแข็งและกดไม่หลงอีกด้วย ถือเป็นอันตรายอย่างมาก
คำนวณระยะเบรกในทางลง
สำหรับทางลงเขาจะซึ่งมีความชันมาก จึงต้องการระยะเบรกยาวกว่าปกติ เนื่องจากความลาดชันของพื้นที่และน้ำหนักของตัวรถจะมีผลให้รถเบรกได้ช้าลง ดังนั้น เวลาคุณเบรกขณะอยู่บนทางลงเขา ควรคำนวณระยะเบรกให้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถเบรกได้อย่างเหมาะสม คุมรถให้อยู่ในเส้นทางอย่างปลอดภัย
ใช้เบรกเป็นระยะ ไม่เหยียบแช่
ในขณะลงเขา แรงฉุดจากเครื่องยนต์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องใช้เบรกเข้าช่วย เพื่อชะลอความเร็วของรถ แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้เหยียบเบรกแบบเลี้ยงแป้น หรือเลียเบรก และแช่ยาว เพราะจะทำให้ผ้าเบรกและจานเบรก เสียดสีตลอดเวลา จนเกิดความร้อนสูง ทำให้ระบบเบรกเกิดอาการ เบรกเฟด หรือเบรกไม่อยู่ ซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทางที่ดีเราควรใช้เบรกเท่าที่ควรจะเป็น และหมั่นตรวจเช็คระบบเบรกรถยนต์ เป็นประจำ สม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัย และมั่นใจในทุกครั้งที่แตะเบรก
เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในช่วงทางโค้ง
โดยปกติแล้วทางขึ้นเขาจะออกแบบไลน์ถนนให้เป็นทางโค้งคดเคี้ยว เลี้ยวไปมา ยิ่งภูเขาสูงมากเท่าไหร่ ถนนก็ยิ่งคดเคี้ยว ชวนเวียนหัว แต่นั่นคือการออกแบบสำหรับใช้ในเส้นทางลาดชัน เพราะโค้งในแต่ละเขา ทำขึ้นเพื่อลดความลาดชัน เพื่อให้รถทุกขนาดสามารถขับขึ้นไปได้ ซึ่งโค้งบนเขาส่วนใหญ่ มักจะมีต้นไม้นานาชนิด มาบดบังทัศนวิสัยไปบ้าง ซึ่งการเข้าโค้งขึ้นเข้าที่ปลอดภัย แนะนำให้ขับชิดขอบทางซ้าย เพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่มีรถอีกฝั่งเลี้ยวโค้งตีวงเลยเข้ามาในเลนของเรา ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการชน อันก่อให้เกิดความเสียหายได้
ไม่ควรแซง ในขณะขึ้น หรือลงทางชัน
เนื่องจากถนนบนเขานั้นมีความแคบและคดเคี้ยวมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ชัดเจน เพราะถูกทางโค้งหรือต้นไม้บดบัง จึงไม่ควรขับแซงในเขตห้ามแซง หรือไม่ควรขับแซงในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ เนื่องจากอุบัติเหตุบนเขาส่วนใหญ่ก็มาจากการแซงทางโค้ง หรือแซงโดยที่มองรถอีกฝั่งไม่เห็นนี่แหละครับ
ใช้รอบเครื่องยนต์อย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ
การเร่งเครื่องขึ้นเขาควรใช้คันเร่ง เลี้ยงความเร็วที่เหมาะสม เพื่อส่งกำลังให้รถมีกำลังขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในทางชันยาว ๆ ควรเร่งต่อเนื่องกันไป เพราะหากเร่ง ๆ หยุด ๆ จะทำให้รถเสียกำลังและไหลลงมาได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก หากเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือเคล็ดไม่ลับที่ผู้ใช้รถทุกท่านสามารถเรียนรู้และฝีกฝนได้ด้วยตนเอง ก่อนจากกันไป ก็ขอให้ทุกท่านมีทักษะที่ดี ขับขี่อย่างปลอดภัย และมีความสุข ในทุกเส้นทางครับ…
เรื่อง : สมโภชน์ นันทโรจน์
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th