ขับรถทางไกล พัก “คน” หรือพัก “รถ” ตอนไหน
ในการขับรถเดินทางไกลนั้น ก็มักจะเกิดในช่วงเทศกาลหยุดยาวๆ ที่หลายคนก็เดินทางไกล ไปเที่ยว กลับบ้านต่างจังหวัด จริงๆ แล้ว การขับทางไกล ไม่ได้จำกัดเฉพาะในเทศกาลเท่านั้น แต่เกิดได้ “ทุกโอกาส” ซึ่งการขับรถทางไกล จะต้องมีการ “เตรียมพร้อม” ในทุกด้าน เช่น การตรวจเช็คสภาพรถ เส้นทางที่จะไป แต่ที่สำคัญ คือ “การเตรียมตัวคนขับ” นี่แหละสำคัญที่สุด เพราะรถมันไม่ได้วิ่งเอง ต่อให้ทุกอย่างพร้อมหมด แต่คนขับไม่พร้อม พักผ่อนไม่พอ เหนื่อยล้าแบบสะสม ก็จะทำให้เสี่ยงอุบัติเหตุร้ายแรงในวงกว้างได้ง่ายๆ ครั้งนี้ เรามาดูกันว่า เมื่อขับรถทางไกล ควรจะพัก “คน” และ “รถ” ตอนไหน โดยดูจาก “สัญญาณ” รอบด้านครับ…
- รถไม่ต้องห่วง ห่วงคนก่อนเถอะ : หลายคนถามผมว่า ว่าเดินทางไกล ควรจะ “พักรถ” ตอนไหน ก็ได้แต่ตอบว่า “รถไม่ต้องห่วง ห่วงคนก่อนเถอะครับ” เพราะรถมันไม่เหนื่อย ถ้ารถสภาพสมบูรณ์นะ ถ้าขับขี่แบบมนุษย์ปกติ ใช้ความเร็วไม่เกินกฏหมายกำหนด รถมันลากยาวได้ต่อเนื่องจนกว่าน้ำมันจะหมดถังนั่นแหละครับ แต่ปัญหาที่ “คนขับไหวแค่ไหน” เท่านั้น…
- ควรพักทุกกี่ กม. : ผมคงไม่สามารถบอกได้เป๊ะๆ ว่าต้องจอดทุกกี่ กม. เพราะความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากัน รวมไปถึงสภาพเส้นทางเป็นตัวแปร ขึ้นลงเขา โค้งเยอะ รถเยอะ แดดจัด ฝนตก จะทำให้เราต้องเพ่งสมาธิกับการขับมากขึ้น ร่างกายก็จะทำงานหนักมากขึ้น มันจึงไม่มีสูตรว่าต้องจอดตอนไหน แต่ขอพูดใน “ภาพรวม” ก็แล้วกัน โดยปกติ ระยะเวลาเฉลี่ย อยู่ราวๆ “2 ชม.” หรือราวๆ 200 กว่า กม. (คิดตามความเร็วที่กฏหมายกำหนด) ดีที่สุด อย่างน้อย ลงมาจอดยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ ล้างหน้า ทำให้ร่างกายสดชื่น เรียกว่า “เลือดลมสะดวก” แล้วค่อยไปต่อดีกว่าครับ…
- ดูสัญญาณตัวเองก่อน : อย่างที่บอกครับ ว่า “ความสามารถคนเราไม่เท่ากัน” สิ่งหนึ่งที่จะแสดงออกกับ “ร่างกาย” ในระหว่างการขับรถต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็คือ “ความเมื่อยล้า” จริงอยู่ คุณนั่งขับเฉยๆ เหมือนไม่ได้ออกแรงอะไร แต่การนั่งกับที่นานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ การไหลเวียนของเลือดลม อวัยวะภายในต่างๆ จะไม่ดี ออกซิเจนก็ต่ำ ทำให้เกิดความ “ล้า” สะสม สายตาก็ต้องเพ่ง ทำให้กล้ามเนื้อจอตาเกร็ง ทุกอย่างนี้ จะบอกอาการให้คุณทราบก่อน ว่าเริ่มมีอาการเมื่อย ล้า สายตาเริ่มเบลอๆ ยุกยิกๆ เริ่มง่วง เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อ อวัยวะ ฯลฯ นี่แหละครับ มันส่งสัญญาณแล้วว่า “พักเถอะ” ร่างกายมันฉลาดครับ บอกก่อนล่วงหน้าก่อนที่จะ “ร่วง” ฟิวส์ขาด นี่แหละครับ คุณจะต้องหาที่พักแล้ว…
- ไม่ไหว อย่าฝืน : อันนี้เรื่องจริงครับ เพราะถ้าคุณขับรถทางไกลคนเดียว ด้วยความจำเป็นต้องขับ เลย “ฝืน” ในขณะที่ร่างกายมันเริ่มจะ Shut Down ตัวเองแล้ว ฟ้องว่า “พักเถ๊อะๆๆๆๆๆๆๆๆ” แต่ถ้าคุณยังจะดื้อแพ่งขับต่อไป อันนี้คือ “สัญญาณหายนะ” มาเยือน ต่อให้คุณกระดกเครื่องดื่มชูกำลัง หรือ กาแฟสักกี่สิบแก้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายไม่ไหว มันจะ Shut Down ตัวเองโดยอัตโนมัติ นั่นคือ “หลับใน” ก็คงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรต่อไป เมื่อเริ่มรู้สึกไม่ไหว ให้ “หาที่จอดงีบ” อันปลอดภัยสักหน่อย ถ้าจำเป็นต้องนอนในรถและสตาร์ทเปิดแอร์ไว้ ก็ขอให้ “แง้มกระจก” ลงสักนิด เผื่อไว้ “ระบายอากาศ” เอาปลอดภัยไว้ก่อน แต่อย่าให้มือล้วงเข้ามาเปิดได้แล้วกัน นอนงีบสักพัก พอร่างกายดีขึ้นแล้วมันจะตื่นเอง ปกติก็ประมาณ 30 นาที ถ้าสภาพร่างกายปกตินะ ยอมเสียเวลาสักหน่อยดีกว่าฝืนไปจนไปพบจุดจบอันน่าเวทนา อ้อ ก่อนเดินทาง ควรจะเช็ค “จุดพักรถ” ที่ปลอดภัย โดยมากก็ปั๊มน้ำมันใหญ่ๆ นั่นแหละครับ เผื่อเอาไว้ก่อน จะได้วางแผนการพักถูกครับ เพราะบางที่เป็นเส้นทางรอง บทจะไม่มีปั๊มก็ไม่มีจริงๆ จะได้ไม่ต้องไปจอดที่เสี่ยงๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน…
- ควรจัดเวรการพักและขับให้เหมาะสม : จริงๆ แล้ว การขับรถทางไกล หากมี “มือขับสำรอง” จะดีมากๆๆๆๆๆๆๆ เพราะจะได้ “ผลัดมือ” กันหน่อย แต่ว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว มันจะเกิดกรณีนี้ครับ “ดันมาง่วงพร้อมกัน” นี่สิ เสี่ยงทั้งคู่เลย ทางแก้ที่ผมใช้ คือ “ระหว่างคนหนึ่งขับ อีกคนควรนอนพัก” เอาแรงไว้ก่อน ต้องมีการจัดเวรกันหน่อย พอ A ขับอยู่แล้วง่วง B ตื่นมามีแรงขับต่อ ให้ A นอนพัก ก็สลับกันไปอย่างนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ…
ดูเป็นเรื่องง่ายๆ นะครับ แต่มันมีผลในด้านความปลอดภัยอย่างมหาศาล ตามข่าวที่เห็นบ่อยๆ เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เพราะ “หลับใน” อาจจะฝืนเพราะต้องการไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด ไม่อยากเสียเวลา แต่ว่า สิ่งที่ตามมา คือ เสียชีวิตและทรัพย์สิน มันไม่คุ้มค่ากัน โดยเฉพาะถ้าคุณต้องขับรถคนเดียว ควรจะ “เผื่อเวลาพัก” ไว้ด้วยนะครับ อย่าเดินทางด้วยเวลากระชั้นชิดเกินไป ทำให้คุณต้องขับรถโดยไม่ได้พัก ก็ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยทั้งไปและกลับ แล้วมาพบกันใหม่แบบ “สมบูรณ์” ดีกว่าครับ…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th