ขับรถลุยน้ำ ควรทำอย่างไร EP2 “ลุยละนะ”
เอาละครับ หลังจากที่ EP1 อยู่ในฉาก “ประเมินสถานการณ์” ตอนนี้เรามาเปิดฉาก “เข้าพระเข้านาง” กันบ้าง หากเราประเมินแล้วว่า “ลุย !!!” แน่นอนแล้ว มันก็จะมีขั้นตอนการขับลุยน้ำท่วมอย่างไร ให้รอดปลอดภัย หรือ เกิดผลเสียกับความเสี่ยงน้อยสุด ไม่เถียงว่าจะรู้ไปทำไม ไอ้ขับลุยดุ่ยๆ ไปล่ะก็ได้ถ้าตราบใดที่รถไม่ดับ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราลุยแบบ “มีชั้นเชิง” อย่างน้อยก็ดีกว่าไปแบบวัดดวงถูกไหม ???
ขับ “ช้า” แต่ “คงที่”
การขับรถลุยน้ำ จะต้องใช้ความเร็วต่ำ และ “เกียร์ต่ำ” ถ้าเกียร์ธรรมดา ก็ใช้เกียร์ 2 พอ เกียร์เดียวไปเรื่อยๆ ไม่พังหรอกน่า ถ้าเกียร์ออโต้ ไม่เป็นไร เพราะถ้าความเร็วไม่ถึงมันก็รักษาตำแหน่งเกียร์ของมันเอง แต่ก็ไม่ต่ำเกินไปจน “เต่ากัดยาง” เพื่อให้รถ “แหวกน้ำ” ออกไป ถ้าเร็วไป น้ำจะกระจายเข้าห้องเครื่อง อาจจะมีปัญหาได้ แต่ถ้าช้าเกินไป น้ำก็เข้ารถได้เหมือนกัน เหมือนกับจอดแช่นิ่งๆ ในน้ำแต่ดีกว่าหน่อย และต้อง “ใช้ความเร็วคงที่” เพื่อให้น้ำแหวกออกไปอย่างสม่ำเสมอ ข้อดีอีกอย่าง คือ เมื่อน้ำแหวกออกข้างๆ โดยล้อหน้าและแผ่นกันใต้ห้องเครื่องเป็นตัวแหวก ส่วนด้านท้ายก็จะเหลือระดับน้ำที่ต่ำกว่า ทำให้ท่อไอเสียไม่จมน้ำ ก็ต้องใช้ความเร็วคงที่เหมาะสมดันไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และประเมินด้วยว่า “ยิ่งไปยิ่งลึกหรือเปล่า” โดยฟังจากเสียงน้ำ ถ้ายิ่งไปยิ่ง “บุ๋งๆๆ” ท่าจะไม่ดีก็ต้องหาเหลี่ยมหลบเอาละครับ…
เลี่ยงเลนซ้ายไว้
ปกติ ถนนจะ “เทซ้าย” เพื่อระบายน้ำลงท่อ ถ้ามองสองฝั่งก็เหมือนเป็นหลังเต่านั่นแหละ ด้านซ้ายก็มักจะ “ลึก” กว่าด้านขวา ถ้าเราวิ่งขวา โอกาสรอดก็มีมากกว่า อีกอย่าง เลนซ้ายก็มักจะมีหลุม ฝาท่อ อุกกาบาตหลุมควายนอนอะไรก็ตามแต่อยู่ เรามองไม่เห็นหรอกครับเพราะน้ำมันท่วมบังไว้หมด โอกาสตกหลุมและทำให้การขับขี่สะดุดลงก็มีสูง แล้วถ้าเราจะเลี้ยวซ้ายเข้าที่หมายละ ทำยังไง ??? อันนี้ต้องอาศัย “ตีกว้าง” นิดนึง วิ่งขวามาก่อน ดูจังหวะรถหลัง ค่อยๆ เบนซ้ายตอนใกล้ถึงจุดที่จะเข้า พอได้จังหวะก็แตะคันเร่งส่งเบาๆ ดันน้ำมุดเข้าไป อันนี้ระยะสั้นๆ คงพอรอดได้อยู่…
อาศัยเพื่อนช่วยแหวกน้ำ
ก็อย่างเมื่อกี้แหละครับ เวลารถวิ่งก็จะแหวกน้ำไป ก็วิ่งต่อๆ กันไปเรื่อยๆ มันก็ช่วยได้เยอะนะ ผมยังเคยขับรถสูงแหวกน้ำให้เพื่อนที่ขับรถเก๋งตามมาแบบรักษาระยะ เพราะถ้าไม่แหวกให้มันนี่จมแน่ๆ เราก็ใช้วิธีนี้แล้วกัน แต่ต้องระวัง “อย่าขับจี้เกินไป” เดี๋ยวจะตำดากกันเสียเวลาอีก…
ระวัง “เบรกหาย” แต่อย่าตกใจ
นี่แหละ สิ่งที่คุณต้องระวังที่สุด “ทำไมเบรกหาย” เวลาขับลุยน้ำ จานเบรก ผ้าเบรก “เปียกน้ำ” จะทำให้ลื่น มันไม่สามารถสร้างความฝืดได้อย่างเต็มที่ เบรกจน Teen แทบทะลุพื้นรถดันไม่หยุดตามสั่งก็ “ตำ” สิครับ ตอนขับก็ต้องระวังและคาดการณ์ตลอด ถ้าเบรกไม่อยู่ก็ “ค่อยๆ เลียเบรกและย้ำเบรกอย่างนุ่มนวล” เพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรก ก็จะช่วยได้มากๆ อย่าตกใจครับ…
ใช้สัญญาณไฟให้ถูกต้อง “ไฟฉุกเฉิน” อย่าเปิดซี๊ซั๊ว
ถ้าระหว่างลุยน้ำแล้วฝนตก ก็ควรจะ “เปิดไฟหน้ารถไว้” เพราะทัศนวิสัยแย่กว่าปกติ เพื่อให้รถคันอื่นสังเกตเห็นว่าเราอยู่ตรงไหน แต่ถ้าฝนหยุดแล้ว แสงสว่างเริ่มเพียงพอ ก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งหนึ่งที่ “ไม่ควรอย่างแรง” ก็คือ “เปิดไฟฉุกเฉินซี๊ซั๊ว” เปิดไปวิ่งไป อย่าครับ เพราะรถที่ขับตามมาจะสับสน สรุป “จอดหรือไป” บางคนอาจจะคิดว่าคุณจอดเสีย แต่บางที รถที่จอดเสียจริงๆ แล้วเปิดไฟฉุกเฉินไว้ คนก็คิดว่าขับอยู่ เกิดสับสนก็เกิดอุบัติเหตุได้ จำไว้ว่า ไฟฉุกเฉิน ก็ต้อง “ใช้เหตุการณ์ฉุกเฉิน” เท่านั้น รถเสียต้องจอดก็ค่อยใช้ รถวิ่งได้ปกติก็ไม่ต้องทะลึ่งบ้องใช้ ผมก็ยังงงๆ เปิดไฟฉุกเฉินวิ่งกันเต็มถนน สรุปยังไง จะจอดจะวิ่ง จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บางคนก็พาซื่อ เปิดไฟเลี้ยวแต่ดันไม่ปิดไฟฉุกเฉิน แล้วใครจะรู้ละครับ…
เอาละครับ ครั้งนี้เป็นวิธีการขับลุยน้ำอย่างถูกวิธีที่สุดเท่าที่จะนำเสนอได้ เป็นภาษาง่ายๆ เข้าใจได้ทุกคน บางครั้งไอ้ของง่ายๆ นี่แหละ เจอสถานการณ์ฉุกเฉินแม้เสี้ยววินาทีก็ช่วยได้เยอะมาก ใน EP หน้า เราจะมาดูกันว่า หลังจากลุยน้ำท่วมพ้นมาแล้ว จะต้องทำอะไรกันบ้าง ติดตามกันนะครับ…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th