ขับแล้วรักเลย! Nissan e-NV200 รถตู้พลังไฟฟ้า 100%
นี่เป็นครั้งแรกกับการทดลองขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่มีตัวถังแบบรถตู้หรือรถแวนอย่าง Nissan e-NV200 (อี-เอ็นวี 200) เป็นอะไรที่แปลกใหม่ ถึงแม้ว่าจะเคยขับรถในกลุ่มนี้มานับไม่ถ้วน แต่สำหรับการใช้ขุมพลังขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างนี้เป็นสิ่งที่น่าตื้นเต้น ทั้งยังมองเห็นอนาคตของยานยนต์ในอนาคตมากยิ่งขึ้น
ย้อนกลับไปที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา นิสสันได้เปิดตัวรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใช้พลังไฟฟ้าอย่าง e-NV200 ที่ดัดแปลงเพื่อการขนส่งให้เป็นห้องเย็นที่ไร้มลพิษ เน้นความคล่องตัวในการใช้งานในตัวเมือง มีขนาดตัวถังที่กะทัดรัด ทั้งยังสามารถหาที่จอดได้ง่ายกว่ารถห้องเย็นแบบปกติ ที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่สำรองในช่องวางของด้านหลัง เพื่อให้พลังงานในส่วนของห้องแช่เย็นที่เรียกว่า e-Fridge นี่ทำให้เห็นว่าแนวคิดของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ได้เน้นที่รถโดยสารและรถส่วนตัว แต่ขยายไปถึงรถเพื่อใช้ในการขนส่ง ซึ่งถือว่าครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้เจ้า e-NV200 คันนี้ สามารถดัดแปลงตามการใช้งานได้อเนกประสงค์จริงๆ
ส่วนการได้สัมผัสกับ e-NV200 ในครั้งนี้พิเศษมาก เพราะต้องเดินทางข้ามทวีปไปที่เกาะเตเนริเฟ่ หนึ่งในเกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะคานารี่ ประเทศสเปน เพื่อไปร่วมงานจัดแสดงเทคโนโลยี Nissan Electric Ecosystem Experience ที่งานนี้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ทดลองขับทั้งนิสสัน Leaf (ลีฟ) และ e-NV200 (อี-เอ็นวี 200) รุ่นปรับโฉมใหม่ ที่มาพร้อมกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น (ส่วนนิสสัน Leaf จะนำเสนอในครั้งหน้า)
สำหรับเจ้ารถตู้หรือรถแวนพลังงานไฟฟ้า e-NV200 (อี-เอ็นวี 200) รุ่นปรับโฉมใหม่ เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% พัฒนาขึ้นตามวิสัยทัศน์นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี้ (Nissan Intelligent Mobility) มาพร้อมแบตเตอรี่รุ่นใหม่ขนาด 40 KW (กิโลวัตต์ชั่วโมง) สามารถขับได้ไกลสูงสุด 280 กิโลเมตร จากการประเมินตามมาตรฐาน NEDC (มาตรฐานการทดสอบความประหยัดน้ำมันและมลพิษของยุโรป) หรือมากกว่ารุ่นก่อนหน้า 60 % พร้อมมีการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายการชาร์จไฟเร่งด่วน CHAdeMO ของยุโรป (CHAdeMO Quick Charging network) ซึ่งเป็นแบตเตอรี่แบบเดียวกับนิสสัน ลีฟ ใหม่ ใช้เกียร์ซิงเกิลชิฟท์ที่ไหลลื่นต่อเนื่อง ขับง่ายและปลอดภัย ที่สำคัญคือเจ้า e-NV200 ยังได้ปรับปรุงใหม่และผ่านการทดสอบ WLTP สามารถขับได้ไกล 301 กิโลเมตร เมื่อขับในตัวเมือง และ 200 กิโลเมตร เมื่อขับแบบผสมผสานทั้งในเมืองและนอกเมือง
ทั้งยังเป็นการส่งเสริมลูกค้าภาคธุรกิจให้ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสะท้อนเสาหลักของความมุ่งมั่นของนิสสันที่จะลดมลพิษใจกลางเมือง ที่มีทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการขนส่งหรือจัดเก็บสินค้า นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมตลาดรถเชิงพาณิชย์น้ำหนักเบาก็เป็นได้
e-NV200 ได้เริ่มจำหน่ายบางประเทศในยุโรป ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ก่อนเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าตั้งแต่ฤดูใบ้ไม้ผลิ (ปลายเดือนมีนาคม) เป็นต้นไป ซึ่งเปิดรับจองรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น 2.ซีโร่ (Limited Edition 2.ZERO) ในยุโรปด้วยตัวถังแบบแวน 5 ประตู และรุ่นสำหรับโดยสาร 7 ที่นั่งในชื่อเอวาเลีย (Evalia) อีกด้วย
จากการทดลองขับต้องบอกว่าใครที่ไม่เคยขับรถตู้หรือรถแวนจะรู้สึกแปลกๆ กับท่านั่ง เพราะเป็นท่านั่งแบบรถบรรทุกหรือรถตู้อย่างชัดเจน ห้องโดยสารกว้างขวาง กระจกหน้าบานใหญ่ทำให้ทัศนวิสัยในการมองดีมากๆ การขับเคลื่อนลื่นไหล เงียบและไร้เสียงรบกวน ไม่มีแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ ไม่มีเสียงกลไกต่างๆ ทำงาน และไม่มีการเปลี่ยนเกียร์ (เหมือนรถกอล์ฟไฟฟ้าไม่มีผิด) แรงบิดที่ได้จากการเหยียบคันเร่งจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และมีอัตราเร่งที่ราบรื่นมาก พูดได้ว่าเรียกใช้ได้แบบทันใจ เพียงแต่จะไม่รวดเร็วแบบนิสสัน ลีฟ เพราะแบกน้ำหนักตัวถังที่มากกว่าเท่านั้นเอง (ตอนทดลองขับนั่งกัน 4 คน พร้อมสัมภาระด้านท้ายอีกเต็มพื้นที่) ทั้งยังติดตั้งระบบเกียร์อัตโนมัติแบบซิงเกิลชิฟท์ (Single-Shift) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดลัน (Hill Start Assist) ตามสมัยนิยมอีกด้วย
ระยะทางที่ทดลองขับอยู่ประมาณ 70 กิโลเมตร โดยผู้เขียนเป็นไม้แรกในการขับจากสนามบินเตเนริเฟ่-เซาธ์ ขึ้นบนทางหลวง แล้วขับเข้าเขตพื้นที่อยู่อาศัย เส้นทางตรงยาวและมีขึ้นลงเนินเขาเป็นระยะๆ ซึ่งที่มาตรวัดที่แผงหน้าจอแสดงระดับแบตเตอรี่อยู่ที่ 98% และแจ้งระยะทางที่สามารถขับได้ทั้งหมดเอาไว้ที่ 208 กิโลเมตร เมื่อขับถึงจุดเปลี่ยนคนขับจุดแรกระยะทาง 30 กิโลเมตร เหลือแบตเตอรี่ประมาณ 70% เหลือระยะทางขับอีก 180 กิโลเมตร และเมื่อขับรถจุดหมายปลายทางที่ Institute of Technology and Renewable Energies หรือ ITER ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเกี่ยวกับพลังงานที่ได้จากแสงแดดและพลังงานลม สรุปเหลือแบตเตอรี่อีกราว 60% และเหลือระยะทางขับได้อีก 80 กิโลเมตร มีจุดสังเกตว่าระหว่างการขับทั้งเส้นทางออกเมืองและในเมืองระยะหนึ่ง แบตเตอรี่จะถูกชาร์จกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับแบบลงเนินที่จะเห็นว่าไฟฟ้าจะชาร์จกลับอย่างต่อเนื่องทำให้ระยะทางขับและปริมาณแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นราว 2-3% จากการประเมินคร่าวๆ e-NV200 คันนี้ถือว่าใช้พลังงานได้อย่างน่าสนใจ จากตัวเลขที่เคลมเอาไว้ที่ 280 กิโลเมตร เมื่อขับใช้งานจริงน่าจะได้ระยะที่ใกล้เคียงกัน
สิ่งที่ชอบนอกเหนือจากการใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และมีแรงบิดในทันทีทันใด นั่นคือ พื้นที่ห้องโดยสารที่กว้าง มีเนื้อที่บรรทุกสิ่งของขนาด 4,200 ลิตร สามารถบรรทุกสัมภาระได้สูงสุด 701 กิโลกรัม และด้วยประตูบานหลังเปิดได้กว้างและประตูข้างแบบสไตด์ทำให้การขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของต่างๆ ที่บรรทุกมาทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนเบาะนั่งยังปรับใช้งานได้อเนกประสงค์ พูดได้ว่าเหมาะทั้งขนส่งและใช้เป็นรถแท็กซี่ได้เป็นอย่างดีทีเดียว
นอกจากนี้ ยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะเต็มคัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเชื่อมต่อบลูทูธ, กุญแจอัจฉริยะ (Intelligent Key), ระบบนำทางแบบเต็มรูปแบบแสดงผลแบบสีคมชัดทุกมุมมอง, แอปพลิเคชั่น NissanConnect ควบคุมผ่านสมาร์ทโน แท็บเล็ต หรือผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ซึ่งแอปฯ นี้จะติดตามและบันทึกรายงานการขับเอาไว้ตลอดเวลา จึงตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งเส้นทางที่ขับ, ข้อมูลระดับการชาร์จแบตเตอรี่, สั่งเปิดปิดระบบปรับอากาศ และแจ้งสถานะต่างๆ ของรถตลอดเวลา
เท่านั้นยังไม่พอ เจ้า e-NV200 ยังชาร์จไฟฟ้ากลับได้แบบ 2 ทิศทาง คือ สามารถป้อนพลังงานกลับคืนด้วยการเชื่อมต่อเข้ากับบ้านหรืออาคารได้ และคือพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการชาร์จไฟฟ้ากลับไปสู่โครงข่ายไฟฟ้าท้องถิ่นได้อีก ด้วยเทคโนโลยี Vehicle to Grid ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของนิสสัน
โดยรวมแล้วถือว่า e-NV200 มีจุดเด่นที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์มาก การขับเคลื่อนราบเรียบ อัตราเร่งตอบสนองได้ทันใจ ห้องโดยสารกว้างตอบโจทย์การใช้งาน แบตเตอรี่ขนาด 40 KW (กิโลวัตต์ชั่วโมง) มากพอในระยะการขับ 200 กิโลเมตร ในเรื่องของตัวรถและเทคโนโลยีถือว่าสอบผ่าน แต่พบปัญหาเรื่องเสียงลมที่เข้ามาในห้องโดยสารในช่วงความเร็วตั้งแต่ 80 กิโลเมตร ขึ้นไปเท่านั้น เพราะกระแสลมบนเกาะเตเนริเฟ่นั้นค่อนข้างรุนแรงมาก แรงถึงขนาดที่ทำให้ตัวรถโคลงเคลงได้เลย แต่ถ้าไม่ถูกลมปะทะจากด้านข้าง เสียงลมที่เข้ามาในช่วงความเร็วเดียวกันจะได้ยินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือคือการสนับสนุนด้าน EV ของภาครัฐที่จะผลักดันให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้แค่ไหนด้วยเช่นกัน แต่รถคันนี้พูดได้เลยว่ายิ่งขับยิ่งรักจริงๆ
ข้อมูลทางเทคนิค
อี-เอ็นวี200 เอสวี 2.ซีโร่ โฉมใหม่ | |||
VAN 5D | EVALIA 7S | ||
รุ่น | แวน | ลูโด | |
จำนวนประตู | 5 ประตู | 5 ประตู | |
จำนวนที่นั่ง | 2 ที่นั่ง | 7 ที่นั่ง | |
เครื่องยนต์ | ประเภทมอเตอร์ไฟฟ้า | มอเตอร์ซิงโครนัสกระแสสลับ | |
พละกำลังสูงสุด | 80 กิโลวัตต์ / 109 แรงม้า | ||
แรงบิดสูงสุด | 254 นิวตันเมตร | ||
รอบเครื่องยนต์สูงสุด | 10,500 รอบ | ||
ประเภทพลังงาน | พลังงานไฟฟ้า | ||
แบตเตอรี่ | ประเภท | ลิเธียม ไอออน เคลือบลามิเนต | |
แรงดันไฟฟ้า | แรงดันไฟฟ้านอมินอล 360 โวลต์ | ||
ขนาดกำลัง | 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง | ||
จำนวนเซลส์ | 192 เซลส์ | ||
การชาร์จไฟฟ้าแบตเตอรี่ | 6.6 กิโลวัตต์ | ||
ระยะเวลาการชาร์จไฟฟ้า | 21,5 ชั่วโมง (ไฟฟ้าบ้านเรือน 10A) 7,5 ชั่วโมง (วอลล์บ็อกซ์ 32A) 40 ถึง 60 นาที (ชาร์จไฟเร่งด่วนถึงระดับ 80 เปอร์เซ็นต์) | ||
เครื่องชาร์จไฟ | เครื่องชาร์จไฟฟ้าภายในรถยนต์ | 6.6 กิโลวัตต์ | |
เครื่องชาร์จไฟฟ้าเร่งด่วน | 50 กิโลวัตต์ | ||
แชสซีส์ | ระบบกันสะเทือนด้านหน้า | อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท | |
ระบบกันสะเทือนด้านหลัง | ทอร์ชันบีม พร้อมลีฟสปริง | ||
ระบบบังคับเลี้ยว | ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า | ||
ระบบเบรก | ควบคุมแรงดันด้วยไฟฟ้า | ||
ขนาดล้อ | 15 นิ้ว | ||
ขนาดยาง | 185 / 65 / R15 | ||
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด วัดมุมกันชนหน้า (Wall to Wall) | 11.1 เมตร | ||
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด วัดที่ล้อ (kerb to kerb) | 10.6 เมตร | ||
สมรรถนะ |
ระยะทางขับขี่
(มาตรฐานทดสอบ WLTP) – ในเมือง |
301 กิโลเมตร | |
ระยะทางขับขี่
(มาตรฐานทดสอบ WLTP) – เฉลี่ยในเมืองและนอกเมือง |
200 กิโลเมตร | ||
ระยะทางขับขี่ (มาตรฐาน NEDC) | 280 กิโลเมตร | ||
การบริโภคพลังงานไฟฟ้า (มาตรฐานทดสอบ WLTP – เฉลี่ยในเมืองและนอกเมือง) | 259 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร | ||
อัตรามลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ (เฉลี่ย) | 0 กรัม | ||
ความเร็วสูงสุด | 123 กิโลเมตรต่อชั่วโมง | ||
อัตราเร่ง 0-100 กม.ต่อชม. | 14 วินาที | ||
น้ำหนัก (หน่วยกิโลกรัม) | น้ำหนักรถรวม (น้ำหนักรวมที่อนุญาตให้ใช้งานได้) | 2,220ม. | 2,250 ม. |
น้ำหนักรถพร้อมใช้งาน | 1,558 กิโลกรัม | 1,689 กิโลกรัม | |
น้ำหนักบรรทุกสูงสุด | 662 กิโลกรัม | 561 กิโลกรัม | |
น้ำหนักรวมบนเพลาด้านหน้า (น้ำหนักรวมที่อนุญาตให้ใช้งานได้) | 1,056 กิโลกรัม | 1,061 กิโลกรัม | |
น้ำหนักรวมบนเพลาด้านหลัง (น้ำหนักรวมที่อนุญาตให้ใช้งานได้) | 1,164 กิโลกรัม | 1,189 กิโลกรัม | |
น้ำหนักบนเพลาด้านหน้าที่อนุญาตให้ใช้งานได้ | 1,180 กิโลกรัม | 1,180 กิโลกรัม | |
น้ำหนักบนเพลาด้านหลังที่อนุญาตให้ใช้งานได้ | 1,200 กิโลกรัม | 1,200 กิโลกรัม | |
ศักยภาพการลากจูงสูงสุด | 410 กิโลกรัม | – | |
แรงกดในแนวดิ่งบนอุปกรณ์ลากจูงที่อนุญาตให้ใช้งานได้ | 75 กิโลกรัม | – | |
น้ำหนักบรรทุกบนหลังคาสูงสุด | 100 กิโลกรัม | 100 กิโลกรัม | |
มิติตัวถัง | ความยาว | 4,560 มม. | 4,560 มม. |
ความกว้างรวมกระจกมองข้าง | 2,011 มม. | 2,011 มม. | |
ความกว้างไม่รวมกระจกมองข้าง | 1,755 มม. | 1,755 มม. | |
ความสูง (ไม่มีการบรรทุก) | 1,858 มม. | 1,858 มม. | |
ระยะฐานล้อ | 2,725 มม. | 2,725 มม. | |
ระยะโอเวอร์แฮงด้านหน้า | 985 มม. | 985 มม. | |
ระยะโอเวอร์แฮงด้านหลัง | 850 มม. | 850 มม. | |
ระยะล้อ | 1,530 มม. | 1,530 มม. | |
ความสูงจากพื้น (ไม่มีการบรรทุก) | 153.4 มม. | 153.4 มม. | |
เนื้อที่ในหองโดยสาร | ความยาวสูงสุด | 2,040 มม. | 2,040 มม. |
ความกว้างสูงสุด | 1,500 มม. | 1,500 มม. | |
ความสูงสูงสุด | 1,358 มม. | 1,358 มม. | |
ความกว้างขั้นต่ำระหว่างซุ้มล้อ | 1,220 มม. | 1,220 มม. | |
ความสูงพื้นที่บรรทุก | 523.5 มม. | 523.5 มม. | |
ความจุเนื้อที่บรรทุกสัมภาระ (สูงสุด) | 4.2 ลูกบาศก์เมตร | 3.0 ลูกบาศก์เมตร |
เบาะพับปรับได้หลากหลายวิธี
คันเกียร์ขนาดกะทัดรัด
มาตรวัดขนาดใหญ่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
สัมภาระของ 4 คน แบบเต็มคัน ยังมีพื้นที่เก็บได้อีกเยอะ
เรื่อง/ภาพ : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th