ขี่อย่างไร พาคู่ใจฝ่าน้ำท่วมให้ปลอดภัย
รถมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่เรือหรือเจ็ทสกีจะได้ดีใจเมื่อเจอน้ำ ในช่วงนี้หลายคนต้องเจอกับสภาพของ น้ำท่วมขังบนท้องถนน ด้วยความจำเป็นอาจจะทำให้ต้องขับขี่ผ่านหรือลุยน้ำไป แต่ระดับน้ำมันก็เหมือนใจคนมีขึ้นมีลง ถ้าถลำลงไปจนถึงระดับที่ทำให้เกิดความเสียหายบอกได้เลยคำเดียว “อย่ารั้น”…
วันนี้เราจะไม่พูดถึงว่าทำไมน้ำท่วมน้ำรอระบายอะไรกันให้เสียเวลาเพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ความเสียหายเมื่อรถมอเตอร์ไซค์สุดรักของเราต้องเผชิญกับอาการจมน้ำ ในเบื้องต้นในฐานะผู้ขับขี่เราจะมีวีแก้ไขและช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้อย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องเสียเงินหรือเกิดความเสียหายมากเกินไป
การแก้ไขมอเตอร์ไซค์จมน้ำเบื้องต้นนั้น ในพื้นที่นี้จะของแนะนำไว้ด้วยกันอยู่ 2 ส่วน
ในส่วนแรกจะเป็นการป้องกันก่อนการใช้งานเมื่อเรารู้ว่าในช่วงนี้หลีกเลี่ยงการเจอฝนได้ยาก อีกทั้งการลุยน้ำเป็นสิ่งที่ตามมา การเตรียมพร้อมด้วยการตรวจเช็ครอยเชื่อมต่อ ขั้วสายไฟ กรองอากาศ ฝาปิดที่เติมน้ำมันเครื่อง ท่อหายใจ ปลั๊กหัวเทียนให้แน่นไม่เปลือยจนไส้ทองแดงข้างในโผล่ให้เห็น ถ้ามีให้ซีลพันเก็บให้เรียบร้อย
ในส่วนของกรองอากาศถ้าเป็นแบบฟองน้ำให้ล้างและเช็ดน้ำมันเครื่องไว้แบบหมาด นอกจากช่วยกรองสิ่งสกปรกได้แล้ว ยังช่วยจับความชื้นหากมันเล็ดลอดเข้าไป ส่วนตัวหม้อกรองในช่วงนี้อาจจะปิดทางเข้าด้านส่วนที่อยู่ด้านล่างเอาไว้ไม่ให้น้ำเข้า เพราะหม้อกรองในรถบางรุ่นจะมีทางเข้าหลายจุด ตรงนี้ป้องกันน้ำเข้าได้ง่าย ถ้าใครมีเวลาหน่อยอาจจะต่อทางเข้าอากาศให้ยาวให้สูงขึ้นมาแบบเฉพาะกิจเพื่อหนีน้ำในช่วงนี้ พอหมดหน้าน้ำจึงถอดออก
สุดท้ายฉีดน้ำยากันความชื้นให้ทั่ว ถอดปลั๊กหัวเทียนฉีดพ่นไปไม่ต้องยั้ง การเตรียมพร้อมนี้ช่วยได้เยอะเมื่อต้องลุยน้ำ
ในส่วนที่สองคือเมื่อลุยน้ำไปแล้วหรือกำลังลุยอยู่ มันแปลว่ารถมอเตอร์ไซค์คู่ใจอาจจะเสียหายหรือยังไม่เสียหายเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ลุยน้ำของรถแต่ละคันมีความสามารถที่แตกต่างกัน อยู่ที่จุดอ่อนไหวของรถคันนั้นอยู่ในระดับไหน ตราบใดที่น้ำยังไม่เล็ดรอดเข้าสู่เครื่องยนต์ไม่ว่าจะทางห้องแคร็งส์หรือทางท่อดูดอากาศ ย่อมที่จะสามารถลุยไปได้
ถ้าน้ำเข้าเครื่องยนต์ผสมกับน้ำมันเครื่องในกรณีเดียวเครื่องยนต์จะยังไม่ดับแต่จะเริ่มเสียงดังเพราะน้ำผสมกับน้ำมันเครื่องทำให้ประสิทธิภาพในการหล่อลื่น ให้รีบดับเครื่องยนต์ อย่าได้ “รั้น” ขับขี่ต่อไปเพราะมันจะไม่คุ้มและอาจจะพังคามือ
ถ้าน้ำเข้าทางด้านทางเดินอากาศเครื่องยนต์จะเริ่มสะดุด ต้องเลี้ยงรอบสูงเอาไว้ตลอดไม่สามารถลงรอบต่ำได้ ถ้าใกล้ถึงที่หมายและระดับน้ำไม่สูงจริงๆ ยังพอลุยไปได้ แต่ถ้าระดับน้ำยังสูงและระยะทางยังอีกยาวไกลให้รีบดับเครื่องยนต์
ผลกระทบจากการขับขี่รถลุยน้ำ ถ้าเราดับเครื่องยนต์ และไม่ปล่อยให้เครื่องยนต์จมน้ำอยู่นาน สามารถที่จะแก้ไขได้เบื้องต้นด้วยตนเอง ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง ล้างทำความสะอาดตัวรถและนำรถไปตากแดดไล่ความชื้นถ้ามีลมแรงดันสูงเป่าไล่จะดีมาก
โดยที่ระดับของการแก้ไขนี้ จะไม่อยู่ในระดับหนักหนาเช่นเครื่องยนต์เสียหาย ระบบไฟช็อตหรือกล่องควบคุมไหม้ไปแล้ว ถ้าแบบนั้นต้องเข้าโรงนวด อ้าว ! ไม่ใช่โรงหมอกันแล้วล่ะครับ
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ขอบคุณข้อมูล : i.ytimg.com, wd.thaibuffer.com,f.ptcdn.info, mte.kmutt.ac.th,ptcdn.info
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th