คืบหน้า สาทร โมเดล เดินหน้าจัดการแก้ปัญหาการจราจรบนถนนสาทร
โครงการสาทร โมเดล เป็นโครงการได้ริเริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 ภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและดำเนินโครงการจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคเอกชน 70 บริษัท และภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาจราจร แบบบูรณาการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก ซึ่งมีการดำเนินงาน ดังนี้
- โครงการรถรับส่ง : เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร
โครงการรถโรงเรียน (School Bus) หนึ่งในมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในบริเวณถนนสาทรภายใต้โครงการรถรับส่ง (Shuttle Bus Scheme) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และ โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองมาใช้รถบัสที่ทันสมัยของโครงการสาทรโมเดล สำหรับรับ-ส่งบุตรหลาน โดยขณะนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 40 คน
ทั้งนี้ โครงการ สาทร โมเดล กำลังพัฒนาระบบรถรับส่ง (Shuttle Bus) เพื่อรับส่งพนักงานบริษัททั้ง 23 บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการในบริเวณถนนสาทรและถนนสีลม
- โครงการจอดแล้วจร : เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสู่ถนนสาทร
โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride Scheme) มาตรการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมห้างสรรพสินค้าไทย ที่แบ่งปันพื้นที่จอดรถให้กับโครงการ รวมถึง บริษัท นิปปอนด์ ปาร์คกิ้ง ดีเวลลอบเม้นท์ ที่ได้ทุ่มเทพัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลที่เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ทำให้มีพื้นที่จอดรถในโครงการรวมทั้งหมด 14 แห่ง สามารถรองรับรถยนต์ได้มากกว่า 2,500 คัน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ 267 คัน
- มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน : เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน
มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานในบริเวณถนนสาทร และสีลม ทั้ง 11 บริษัท ที่มีพนักงานรวมกันกว่า 4,300 คนได้แก่
- Aioi Bangkok Insurance Public Company Limited
- BP-Castrol (Thailand) Limited
- Bangkok Insurance Public Company Limited
- Baker & MacKenzie Ltd. Attorneys at Law
- Hitachi Asia (Thailand) Company Limited
- Land and House Public Company Limited
- Mitsui Sumitomo Insurance Co., Ltd. Thailand Branch
- The Navakij Insurance Public Company Limited
- Toyofuji Logistic (Thailand) Co., Ltd.
- Toyota Motor Thailand Co., Ltd.
- Dentsu (Thailand) Co., Ltd.
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โครงการนี้ได้พัฒนา Application Linkflow เป็นเวอร์ชั่น 1.1.3 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการเดินทางในหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบผลทั้งในแบบขับรถอย่างเดียว หรือใช้ มาตรการ จอดแล้วจร แล้วเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ BTS หรือ MRT ไปยังจุดหมาย ช่วยให้คาดการณ์เวลาที่ใช้เดินทางได้ล่วงหน้า และเลือกวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด รวมถึงทราบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในแต่ละทางเลือก เพื่อให้ทุกท่านมีทางเลือกในการตัดสินใจใช้เส้นทาง และวิธีการเดินทางได้อย่างเหมาะสม”
สำหรับ แอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 คือ ระบบที่ได้พัฒนาจากเทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะขั้นสูง (ITS : Intelligent Transportation System) และประมวลผลอิงจากสภาพการจราจรจริง ณ เวลานั้น ๆ รวมถึงข้อมูลทางสถิติในอดีต เพื่อให้ทางเลือกของการเดินทางที่เหมาะสม ภายใต้เงื่อนไข 5 ประการดังนี้
- ความรวดเร็วในการเดินทาง
- ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
- ความสะดวกสบายในการเดินทาง
- การส่งผลต่อสุขภาพระหว่างการเดินทาง
- การส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างเดินทาง
ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้แอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 จะสามารถใช้ข้อมูลย้อนหลังประกอบกับข้อมูลปัจจุบันเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้เส้นทางและวิธีการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Linkflow ได้เตรียมช่องทางในการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ผ่านทาง Social Network รวมถึงระบบสะสมคะแนน และเกมส์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถร่วมสนุกและเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่องและสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Linkflow เวอร์ชั่น 1.1.3 ฟรี ทาง App Store และ Google Play ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ นายนินนาท ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการ สาทร โมเดล ได้รับอนุญาตจาก กรุงเทพมหานคร ให้ทำการติดตั้ง Loop Coil Sensor และ CCTV แบบ Thermal Sensor เพื่อตรวจวัดปริมาณการจราจรและนำข้อมูลแบบ Real Time มาประมวลผลสำหรับการปรับตั้งเวลาสัญญาณไฟแต่ละทิศทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการสนับสนุนการใช้มาตรการบริหารจัดการจราจรให้คล่องตัว ทั้ง 19 มาตรการ ภายใต้การสนับสนุนและดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเป็นส่วนสำคัญให้การทดลองแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณถนนสาทรให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
ที่สำคัญ โครงการ สาทร โมเดล มีความพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสู่การทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการสาทร โมเดล ในวันที่ 6 – 17 มิถุนายน 2559 และขอเชิญชวนเข้าร่วมชมนิทรรศการ “Make You Happy Journey” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในโครงการ สาทร โมเดล มากขึ้น ณ บริเวณชั้น G อาคาร เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ระหว่างวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2559 ตั้งแต่เวลา 09:00-18:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นของผู้ร่วมโครงการที่จะทำให้ ถนนสาทร เป็นถนนต้นแบบของการพัฒนาคมนาคมอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งราชการและเอกชน ที่ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมในมาตราการต่าง ๆ ที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าปัญหาจราจรจะถูกทำให้เบาบางและหมดไปได้ หากทุกคนได้ร่วมมือ เพื่อประโยชน์ของสังคมที่จะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน ดั่งสโลแกนของโตโยต้าที่ว่า “สร้างสรรค์ความสุขในการเดินทาง”
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th