ค.คน ขึงขัง.. ช.ช้าง วิ่งหนี (จริงเหรอ)
เป็นข่าวรับปีใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้วไปเจอเจ้าถิ่นอย่าง “ช้างป่า” เข้าอย่างจัง แล้วหากเราไปเจอเหตุการณ์อย่างนี้บ้างล่ะจะทำยังไงต่อไปดี…วันนี้ gpinews ขอนำเรื่องนี้ออกมาย้ำเตือนกันอีกครั้ง เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
ขึ้นชื่อว่า “ช้างป่า” แน่นอน มันไม่เหมือนกับช้างที่ถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์หรือตามสถานที่ท่องเที่ยว อุปนิสัยใจคอของช้างย่อมแตกต่างกัน ส่วนตัวผู้เขียนเองมีความคุ้นเคยกับช้างมาตั้งแต่เด็กๆ ยอมรับว่าช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกันก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่ที่ขอนำเสนอเรื่อง “ช้างป่าที่เขาใหญ่” เพราะว่า “เขาใหญ่” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่ผ่านไปยัง จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี-นครนายก และที่สำคัญที่สุด ช้างป่าเขาใหญ่กับช้างป่าที่อาศัยอยู่ในถิ่นอื่นมีนิสัยใจคอที่ต่างกัน
แล้วสงสัยรึเปล่าว่า ทำไมถึงมักจะเจอช้างบนถนนที่เขาใหญ่กันเป็นประจำ นั่นก็เพราะว่า เดิมทีตรงนั้นเป็นเส้นทางเดินหากินของช้างเป็นปกติ เรียกว่า “ด่านช้าง” ซึ่งช้างแต่ละรุ่นก็จะสอนลูกหลานช้างด้วยกันว่า “นี่คือเส้นทางหากินของพวกเรานะ” แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีการสร้างถนนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรผ่านขึ้นมา แถมยังไปทับเส้นทางเดินหากินของเหล่าช้างป่า ทำให้ทุกวันนี้เราต้องใช้เส้นทางร่วมกันไปโดยปริยาย ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว สิ่งมีชีวิตมักจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเสมอ ช้างป่าก็เช่นกัน การหากินในผืนป่าโดยเฉพาะในป่าเขาที่มีความรกทึบ สูงชัน มีเหวผา ช้างป่ามีโอกาสพลาด พลัดหลง หรือตกลงไปในหุบเหวได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับลูกช้างที่ยังขาดประสบการณ์ใช้ชีวิต ซึ่งช้างป่าจะหวงลูกช้างมาก ทำให้เมื่อช้างป่าพบทางเดินบนถนนที่มนุษย์สร้างขึ้น มันจึงรู้สึกได้ถึงความปลอดภัย จึงยกโขยงกันมาเดินบนถนนกันมากขึ้น
อีกทั้งในตอนกลางคืนพื้นถนนจะมีอุณหภูมิที่อุ่น เพราะได้สะสมความร้อนเอาไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน จึงเห็นว่าช้างป่ามาเดินบนถนนในช่วงกลางคืนกันบ่อยขึ้น จนบางทีอาจจะยกฝูงขึ้นมานอนกันบนถนนในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นขึ้นด้วยเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ สองข้างทางของถนนจะมีพืชพรรณที่เป็นอาหารของช้างป่าอีกต่างหาก
เมื่อจู่ๆ เราขับรถขึ้นไปเขาใหญ่เพลินๆ แล้วพบฝูงช้างป่า ทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แนะนำวิธีรับมือเอาไว้ว่า สิ่งแรกที่ต้องมีคือ “สติ” แล้วปฏิบัติตาม ดังนี้
- พยายามหยุดรถให้ห่างจากช้างป่าอย่างน้อย 30 เมตร (ประมาณ 2 คันรถพ่วง) แล้วรอจนกว่าช้างป่าจะเดินออกจากถนน แล้วจึงค่อยๆ เคลื่อนรถผ่านไป แต่หากช้างป่าเดินเข้ามา ให้ค่อยๆ เคลื่อนรถถอยหลังช้าๆ
- ห้ามกดแตรอย่างเด็ดขาด เพราะเสียงที่ดังแหลมของแตรจะทำให้ช้างตกใจและทำให้ช้างเกิดความสนใจขึ้นมาจนอยากจะเข้ามาสำรวจที่รถของเราได้ ซึ่งช้างมีประสาทรับเสียงที่ดีมากๆ โดยเฉพาะกับเสียงแหลม จะทำให้ช้างตื่นตกใจและโกรธได้ง่าย
- ถ้าจะถ่ายรูปหรือวีดีโอลงโซเชียลสามารถทำได้ (ในรถเท่านั้น) แต่ห้ามใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะจะทำให้ช้างตกใจและทำให้อยากรู้อยากเห็นเดินเข้ามาหา
- อย่าตกใจ แล้วดับเครื่องยนต์!! ควรติดเครื่องยนต์เอาไว้ เพื่อให้เคลื่อนรถหนีได้ทัน หากฉุกเฉิน ซึ่งเสียงเครื่องยนต์ที่ดัง เป็นเสียงทุ้ม ไม่ใช่เสียงแหลม จะไม่ทำให้ช้างป่าตกใจและไม่เครียด อีกอย่างคือ ช้างป่ามีความคุ้นเคยกับเสียงของเครื่องยนต์อยู่แล้ว เพราะเดินบนถนนบ่อยๆ จึงได้ยินเสียงเครื่องยนต์บ่อยๆ เช่นกัน
- ถ้าบังเอิญเจอช้างป่าในช่วงกลางคืน ผู้ขับรถต้องเปิดไฟหน้ารถเอาไว้เสมอ เพื่ออะไร? ก็เพื่อสังเกตอาการของช้างป่านั่นเอง รวมทั้งประเมินระยะห่างระหว่างช้างกับรถได้ง่ายขึ้น แต่ห้ามกระพริบไฟหน้าเด็ดขาด เพราะแสงไฟจะเข้าตาช้างและกลายเป็นดึงดูดความสนใจขึ้นมา อ้อ..แต่สามารถเปิดไฟสูงได้ หากอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะช้างป่าตัวสูง จะเห็นไฟตั้งแต่ไกลๆ มันจึงไม่ตกใจ
6.มีสติเอาไว้และอยู่นิ่งๆ หากช้างป่าเดินเข้ามาใกล้และสำรวจรอบตัวรถ เนื่องจากช้างมีประสารทสัมผัสที่ดีมาก โดยเฉพาะตา หูและจมูก มันจึงมักเข้ามาใกล้ๆ แล้วใช้งวงสำรวจหยิบจับสิ่งของ ซึ่งเราจะรู้สึกเหมือนกับมันกำลังคุกคาม เพราะด้วยพละกำลังที่มหาศาล แต่จริงๆ แล้วเค้าแค่เข้ามาสำรวจ มาเล่นๆ เฉยๆ แค่นั้น
7.ไม่ต้องอยากสัมผัสช้างป่าอย่างใกล้ชิด ไม่ควรจอดรถดูช้างป่า เพราะรถคันที่ขับตามหลังมา อาจจะชนท้ายรถคุณได้ ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับช้าง แต่อยู่ที่ความประมาทล้วนๆ ฉะนั้น ควรขับรถผ่านเลยไป
8.คนไทยต้องรักความสามัคคี หากพบว่ารถคันหน้าจอดเพราะเจอช้างป่า รถคันที่ขับตามมาควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าเอาไว้ด้วย เพราะหากจำเป็นต้องถอยรถ จะได้ถอยไปได้ด้วยกัน
9.ห้ามลงจากรถเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการเจอช้างป่าที่หากินอยู่ริมทาง เพระช้างป่ามักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง การเห็นช้างป่าเพียงตัวเดียว ไม่ได้หมายความว่าแถวนั้นไม่ได้มีช้างป่าตัวอื่นอยู่ด้วย ซึ่งการเข้าไปอยู่ใกล้ช้างป่า อาจจะทำให้วิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน เพราะช่างป่ามีฝีเท้าที่เงียบและเดินเร็วมากๆ
แถมท้ายอีกเล็กน้อย เป็นวิธีการสังเกตอารมณ์ของช้างแบบเข้าใจง่าย ดังนี้ หากช้างอยู่ในอารมณ์ปกติ (อารมณ์ดี) จะโบกหูไปมา หางจะแกว่ง สะบัดงวงหยิบจับเกี่ยวดึงต้นไม้กิ่งไม้ โดยไม่มีอาการสนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งหากช้างอารมณ์ปกติแม้จะมีรถขับผ่านก็จะไม่สนใจ แต่หากอารมณ์เสีย หงุดหงิด งุ่นง่าน หูจะกาง หางทิ้งแข็งไม่สะบัด งวงก็จะอยู่นิ่ง และอาจจะมีการเอางวงตีที่พื้น จะไม่เดินไปไหน จะยืนอยู่นิ่งๆ และจ้องมองไปข้างหน้า (พร้อมจู่โจม)
แต่หากเจอช้างตกมัน ต้องระวังตัวเป็นพิเศษและควรอยู่ห่างให้มากที่สุด เพราะอาการ “ตกมัน” ของช้าง คืออาการที่ช้างมีความสมบูรณ์ทางเพศมากที่สุด เกิดขึ้นได้กับช้างตัวผู้และตัวเมีย พูดง่ายๆ คือ ช้างพร้อมผสมพันธุ์ เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติกิจก็จะหงุดหงิดนั่นเอง
วิธีสังเกตคือ ที่ขมับของช้างทั้งสองข้างจะบวมขึ้น (อยู่ระหว่างตากับหู) เราจะเห็นเป็นเหมือนเป็นของเหลวสีขาวข้นไหลออกมา จะมีกลิ่นเหม็นสาบรุนแรงและฉุนมาก ซึ่งหากเป็นช้างตัวผู้จะเห็นอวัยวะสืบพันธุ์แข็งยื่นยาวออกมาและมีปัสสาวะไกลกะปริบกะปอยและอาจมีน้ำอสุจิไหลออกมาด้วย
ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เพราะทุกคนเมื่อขับรถขึ้นเขาใหญ่แล้วเจอช้างป่าถือว่าเป็นผู้ประสบภัยร่วมกัน เมื่อรู้วิธีปฏิบัติตัวแล้ว ก็ควรสามัคคีกันเอาไว้ ไม่ใช่พอช้างป่าเดินเลยรถไปแล้ว กลับเร่งเครื่องออกตัวหนี เพราะเสียงของรถขณะที่เร่งเครื่องอาจจะดังจนไปทำให้ช้างป่าตกใจได้ แล้วรถคันหลังๆ อาจจะรับเคราะห์โดยไม่จำเป็นนะครับ
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
ภาพ : ขอบคุณภาพจาก Internet
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th