9 เคล็ดลับเตรียมรถให้พร้อม เมื่อต้องจอดเป็นเวลานาน
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโรคโควิด-19 ทำให้ต้องงดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 และให้ความร่วมกับนโยบาย “อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ” ส่งผลให้หลายคนต้องจอดรถทิ้งไว้ที่บ้านนานกว่าปกติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการจอดรถทิ้งไว้นานอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรถได้ อย่างไรก็ตาม การรับมือกับระหว่างที่จอดรถเป็นเวลานานไม่ยากอย่างที่คิด ควิกเลนมีข้อปฏิบัติง่ายๆ ที่สามารถช่วยรักษาสภาพรถของคุณให้ยังอยู่ในสภาพดีในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนี้ ดูแลรักษารถ
1. ล้างรถ เอาคราบสกปรกที่อาจติดแน่นและทำร้ายพื้นผิวรถยนต์หากต้องจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยอาจลงแว็กซ์เคลือบสีรถเพื่อเพิ่มการรักษาและการป้องกันพื้นผิวที่มากขึ้น
2. เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หากคิดว่าจะจอดรถนานเป็นเดือน ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่ลงไปจะช่วยรักษาสภาพเครื่องยนต์ได้หากต้องจอดรถนานเป็นเดือนๆ โดยไม่ขับ เนื่องจากน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วมักมีสิ่งปนเปื้อน และมีสภาพเป็นกรด ซึ่งอาจทำร้ายชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ได้
3. ไม่ควรดึงเบรคมือ เพราะเบรคอาจติดได้ และอาจเจอปัญหาขยับรถไม่ได้เมื่อต้องการเคลื่อนรถ หากต้องการไม่ให้รถไหลให้ใช้บล็อกไม้หรือวัสดุอื่นที่ไม่ทำความเสียหายให้กับยางรถยนต์วางไว้ที่ล้อแทนการดึงเบรคมือ
4. เติมน้ำมันเต็มถัง สามารถป้องกันความชื้นที่จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้ และช่วยป้องกันการเกิดสนิมภายในถังน้ำมัน (กรณีถังเป็นโลหะ)
5. เช็คและเติมลมยาง ให้ได้ค่าตามที่ผู้ผลิตรถกำหนดโดยดูได้จากเสาประตูข้างคนขับ หรือ ในฝาปิดถังน้ำมัน หรือในคู่มือการใช้รถ ควรตรวจเช็คลมยางอาทิตย์ละครั้ง เพื่อรักษาลมยางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมช่วยคงสภาพและรูปทรงของยางได้
6. หาที่จอดรถที่เหมาะสม เพราะแสงแดดและฝนหรือความชื้นส่งผลกระทบต่อสภาพและอุปกรณ์ของรถ เช่น อุปกรณ์ที่เป็นยางเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร สีตัวรถซีดเร็ว การเกิดเชื้อราและสนิม ผู้ขับขี่จึงควรจอดรถในโรงรถหรือในอาคารที่ร่ม หรือใช้ผ้าคลุมรถกันน้ำแทนในกรณีที่ต้องจอดในที่แจ้ง อีกทั้ง ยังควรหลีกเลี่ยงการจอดใต้ต้นไม้ใหญ่เนื่องจากกิ่งหรือยางไม้อาจหักหรือหล่นมาโดนรถ และการจอดในบริเวณพงหญ้าและจุดทิ้งขยะเพราะมีโอกาสที่หนูจะเข้าไปอาศัยหรือทำรังใต้กระโปรงรถ
7. สตาร์ตรถเป็นระยะ เพราะการจอดรถทิ้งไว้โดยไม่มีการสตาร์ตเครื่องยนต์เป็นเวลานาน ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพและแบตเตอรี่อาจหมดได้ เพราะระบบของรถ เช่น ระบบกันขโมย วิทยุ กล่องควบคุมอีเลคโทรนิค ยังคงดึงไฟจากแบตเตอรี่อยู่ตลอดเวลาแม้ในเวลาที่ไม่ได้สตาร์ตเครื่องยนต์ก็ตาม ดังนั้น จึงควรหมั่นสตาร์ตเครื่องยนต์เป็นระยะ ความถี่ขึ้นอยู่กับความสะดวกและสภาพของรถแต่ละคัน ตั้งแต่ทุก 2 วัน ไปจนถึงทุก 2 อาทิตย์ โดยควรสตาร์ตเครื่องประมาณ 15 นาที และถ้าเป็นไปได้ควรนำรถออกไปขับประมาณ 15–30 นาที เพื่อชาร์จไฟคืน พร้อมทั้งช่วยให้เครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ได้ยืดเส้นยืดสาย ให้ได้รับการหล่อลื่น และช่วยไม่ให้เกิดการติดขัดเฉพาะจุด นอกจากนี้ ให้เปิดแอร์ในขณะที่สตาร์ตรถด้วย เพื่อช่วยให้ชิ้นส่วนในระบบได้ทำงานบ้าง
8. ขยับรถเพื่อรักษาสภาพยาง เนื่องจากการจอดรถอยู่กับที่นานๆ จะทำให้เกิดการยุบตัวของยางส่วนที่สัมผัสกับพื้น เนื่องจากน้ำหนักของรถทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่จุดเดียวของยางแต่ละเส้น ส่งผลให้ยางโครงยางเสียรูปและไม่กลม จึงควรขับเคลื่อนรถเพื่อให้ยางได้หมุนบ้าง โดยอาจจอดห่างจากจุดเดิมประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งจุดรับน้ำหนักของยาง
9. ป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ารถ ตามช่อง ซอก และรูของรถ เช่น ท่อไอเสีย ช่องลม เป็นต้น เพราะนอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นแล้ว สัตว์พวกนี้อาจเข้าไปกัดชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงสายไฟได้ ผู้ขับขี่จึงควรหาวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เข้า
ก่อนที่จะนำรถออกมาใช้อีกครั้ง ผู้ขับขี่ควรตรวจเช็คสภาพรถทั้งภายนอก ภายใน ระบบไฟ เครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งรวมถึงสภาพยางปัดน้ำฝน แบตเตอรี่ ลมยาง ไปจนถึงระดับของเหลว เช่น น้ำมันเบรค น้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ ให้อยู่ในปริมาณและสภาพที่เหมาะสมพร้อมใช้งาน
ดูแลรักษารถ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ข้อมูล : QUICK LANE
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th