มาถอดรหัสตัวเลขที่แก้มยางกัน…
พูดถึง ยางรถยนต์…ตัวกลางระหว่างรถและถนน ซึ่งหากเลือกใช้ยางที่ดี มีประสิทธิภาพ ท่านก็จะได้การยึดเกาะถนนที่ดี ขับขี่ควบคุมได้ง่าย และปลอดภัย ไปจนหมดอายุการใช้งาน ซึ่งการจะเปลี่ยนยางชุดใหม่ควรเรียนรู้ว่า ยางแต่ละชนิดผลิตขึ้นเพื่อการใช้งานประเภทใด ซึ่งจะทำให้เราได้ยางที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด ให้เหมาะสมในการใช้งาน และคุ้มค่าเงินที่ต้องเสียไปฉะนั้นเราจึงควรศึกษาข้อมูลในการเลือกใช้ยางรถยนต์ ซึ่งโดยทั่วไป รหัสและ ตัวเลขแก้มยางรถยนต์ จะบ่งบอกอะไรให้เราทราบบ้าง โดยพื้นฐานที่เราสามารถรับรู้ได้ คือ ขนาด และ วันผลิต ส่วนตัวเลขอื่นจะบอกอะไรเราบ้างนั้น ตามไปดูรหัสและ ตัวเลขแก้มยางรถยนต์ กันครับ…
ตัวอย่างของ Code บนแก้มยางรถยนต์
215 คือ ความกว้างหน้ายาง หมายถึงความกว้างสูงสุดระหว่างแก้มซ้าย-แก้มขวามีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
65 คือ ความสูงของแก้มยาง โดยทั่วไปเราเรียกกันว่า ” ซีรีย์ ” เท่ากับ 65% ของความกว้างหน้ายาง
R คือ ชนิดยาง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แบบเรเดียล
15 คือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว
95 พิกัดรับน้ำหนักบรรทุก (ยางหนึ่งเส้นสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 690 กก.)
H บอกถึงพิกัดอัตราความเร็ว (เมื่อเทียบตามตาราง ยางเส้นนี้รองรับความเร็วไม่เกิน 210 กม./ชม.)
Code วันผลิต ตามภาพ (4202) หมายถึง ผลิตเมื่อ สัปดาห์ที่ 42 ของปี 2002
ตัวเลข คู่แรก คือ สัปดาห์ที่ 42 คู่หลัง คือ ปี 02
ความหมายของตัวเลขและตัวอักษรบนแก้มยางรถกระบะ มีลักษณะดังนี้
195R14C 8PR
195 คือ ความกว้างยางรถยนต์ มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
R คือ โครงสร้างยางแบบเรเดียล
14 คือ เส้นผ่าศูนย์กลางกระทะล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว
C คือ ยางที่ใช้เพื่อการขนส่ง (มาจากคำว่า commercial)
8PR คือ อัตราชั้นผ้าใบเทียบเท่า 8 ชั้น
(ในส่วนของซีรีส์ ถ้าไม่ได้ระบุ คือ ซีรีส์ 80)
ความหมายของตัวเลขและตัวอักษรบนแก้มยางรถยนต์แบบออฟโรด จะมีลักษณะดังนี้
31×10.5R15
31 คือ เส้นผ่าศูนย์กลางยางวัดจากขอบนอก มีหน่วยเป็นนิ้ว
10.5 คือ ความกว้างยาง มีหน่วยเป็นนิ้ว
R คือ โครงสร้างยางแบบเรเดียล
15 คือ เส้นผ่าศูนย์กลางกระทะล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว
ค่า Treadwear, Traction, Temperature ของยางรถยนต์ เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจเลือกซื้อยางรถยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งโครงการ UTQG (Uniform Tire Quality Grading) เพื่อจัดอันดับคุณภาพยางรถยนต์ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในการซื้อยางรถยนต์ของพวกเขา
Treadwear เป็นอันดับเปรียบเทียบตามการสึกหรอของยางรถยนต์ เมื่อการทดสอบภายใต้เงื่อนไขควบคุมรอบคอบ เช่น อันดับ 400 ควรใช้งานได้นานกว่ายางรถยนต์อันดับ 200 แต่ต้องแลกมาด้วยเนื้อยางที่แข็งกระด้างและการเกาะถนนที่น้อยลง ประสิทธิภาพ treadwear จริงอาจจะแตกต่างกันอย่างมากมายตามการใช้งานจริง ขึ้นอยู่กับรูปแบบนิสัยการขับขี่, การดูแลรักษา (แรงดันลมยาง), สภาพถนน และอากาศที่มีผลต่ออายุของยางรถยนต์ อันดับตัวเลขที่น้อย ก็ไม่ได้บ่งบอกถึงการเกาะถนนเสมอไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบดอกยางรถยนต์ โครงสร้างหน้ายางรถยนต์ แก้มยางรถยนต์ รวมทั้งส่วนผสมของเนื้อยางรถยนต์
Traction เป็นอันดับความสามารถในการหยุดบนทางเปียก วัดภายใต้เงื่อนไขการควบคุมบนพื้นยางมะตอย และการทดสอบบนพื้นผิวคอนกรีต ณ ปี 1997 ระดับ traction จาก สูงสุด ไป ต่ำสุดที่ “AA”, “A”, “B” และ “C” ยางรถยนต์ที่จัดอันดับ “AA” อาจมีสมรรถนะดีในการเกาะถนนกว่ายางรถยนต์จัดอันดับที่ต่ำกว่า ทดสอบเบรค หน้า-ตรง ไม่พิจารณาระดับประสิทธิภาพในขณะเลี้ยวของยาง
Temperature เป็นอันดับแสดงความต้านทานของยางรถยนต์ต่อความร้อนและความสามารถในการกระจายความร้อน ทดสอบภายใต้เงื่อนไขที่ควบคุมในห้องปฏิบัติการการ ระดับจากสูงสุดไปต่ำสุดเป็น “A”, “B” และ “C” เกรด “C” หมายถึงประสิทธิภาพต่ำสุดตามมาตรฐานความปลอดภัยสหพันธรัฐ ดังนั้นยางรถยนต์ “A” คือ ใช้งานได้ในขณะเย็นและแม้ว่ายางรถยนต์ “C” วิ่งในขณะที่ร้อนก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ปลอดภัยระดับอุณหภูมิจะจัดตั้งขึ้นสำหรับยางรถยนต์ที่พอเหมาะสมและไม่มากไป
จุดแดง จุดเหลือง
จุดแดง คือ บริเวณรอยต่อของชั้นผ้าใบหรือชั้นใยเหล็ก ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าว มีน้ำหนักมากกว่าจุดอื่น ซึ่งมีประโยชน์ในการถ่วงล้อ สร้างความสมดุลให้กับล้อในเวลาติดตั้งและขึ้นเครื่องถ่วง เพื่อประสิทธิ์ภาพในการใช้งานที่มากที่สุด การติดตั้งจึงนำจุดแดงมาตรงกับกระทะล้อบริเวณจุดแดงของกระทะล้อเช่นกัน ซึ่งจุดแดงบนกระทะล้อคือจุดที่มีน้ำหนักน้อยที่สุด ตรงกันข้ามกับจุดแดงบนยาง ซึ่งล้อที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสูงอาจจะไมม่มีจุดแดงแล้ว เช่นล้อแม็กอัลลอยต่าง
จุดเหลือง คือจุดที่ผ่านการทดสอบจากผู้ผลิต ได้ผลออกมาว่าเป็นบริเวณที่มีน้ำหนักน้อยที่สุด ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานและถ่วงล้อมากที่สุด จึงเลือกจุดเหลืองให้ตรงกับจุดที่มีน้ำหนักมากที่สุดของล้อ นั่นหมายถึงจุดที่ติดตั้งจุ๊บเติมลม นั่นคือสาเหตุที่เรามักจะเห็นช่างใส่ยางให้จุดเหลืองตรงกับบริเวณจุ๊บเติมลมนั่นเอง
จุดแดงและจุดเหลือจะถูกแสดง เพียงข้างเดียวบนยาง บางครั้งหน้ายางด้านดังกล่าวอาจถูกหันเข้าด้านในสำหรับยางที่มีทิศทางการหมุน แต่การสร้างสมดุลทำได้โดยการถ่วงล้อ ซึ่งท่านไม่ต้องกังวลในการติดตั้งมากนัก และ ยางที่ผ่านการใช้งาน ค่าน้ำหนักจะมีการคลาดเคลื่อนไปจากที่โรงงานยางกำหนดเท่านั้นเอง…
เรื่อง / ภาพ : สมโภชน์ นันทโรจน์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th