ทริคง่ายๆ ในการขับรถ “ลุยน้ำ” ให้ปลอดภัย EP1 : จุดเริ่มต้น “ขั้นประเมินสถานการณ์”
ครั้งก่อนหน้า ก็ว่ากันถึงเรื่องการขับรถลุยแอ่งน้ำ อันนั้นเด็กๆ เพราะมันแว๊บเดียว แต่ก็ “เสียว” ได้ ถ้าไม่ระวังหรือขาดทักษะ ตอนนี้ กำลังเข้าสู่ช่วง “ปลายฝน” ก็อาจจะเจอกับพายุฝนกระหน่ำส่งเอาเสียดื้อๆ ก็มีโอกาสสูงที่เมืองฟ้าอมรรัตนโกสินทร์อย่างบ้านเฮาก็จะกลายร่างเป็น “อ่าวกรุงเทพ” จนแทบจะเปลี่ยนยานพาหนะเป็น “เจ็ตสกี” หรือ “หางยาวซิ่ง” มาวิ่งให้น้ำบานประชดชีวิต แต่ถ้าเราเจอสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้รอดไปได้อย่างสวัสดิภาพ…
ต้องรู้จัก “ประเมินสถานการณ์ตรงหน้า” ก่อนอย่างอื่น
แน่นอนครับ การประเมินสถานการณ์ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณไม่สนใจอะไรเลย ขับลุยลงไปดุ่ยๆ จนเจอน้ำลึกไปเรื่อยๆ เกินความสามารถของรถ โดยเฉพาะรถเก๋งทั้งหลายที่ความสูงไม่มากนัก โดยมากมักจะ “เดี้ยงกลางน้ำ” ก็เจอกันบ่อยๆ บางคนไม่รู้ยังไง เคยมีข่าวขับรถ SUV ลุยน้ำลงอุโมงค์จนจมน้ำตายคารถเฉยเลย การประเมินมันคงบอกไม่ได้เป๊ะๆ หรอกว่าไอ้น้ำที่ท่วมอยู่นั่นมันสูงเท่าไร แต่ให้สังเกต “สภาพแวดล้อม” เป็นหลัก เช่น น้ำท่วมจนมิดฟุตบาท มองไปแล้วเหมือนเป็นลำธารมากกว่าถนน และมีระยะการท่วมที่ไกล สังเกตรถที่ลุยน้ำไปว่าลึกแค่ไหน ให้เขานำร่องไปก่อน พวก “รถตัวสูง” ส่วนใหญ่จะไปเพราะความเสี่ยงต่ำ มันก็พอเห็นตัวอย่างได้ ถ้ารถสูงยังไปปริ่มๆ จะถึงใต้ท้อง คุณรถเก๋งก็ “หยุดเถอะโยม” เพราะถ้าคุณไปก็โอกาสเสี่ยงสูงแน่ๆ…
ไม่ไหวอย่าดื้อ
เข้าใจครับ ว่าคุณก็มีธุระที่ต้องไป ไม่งั้นคงไม่เสี่ยงขับรถออกมาในสถานการณ์แบบนี้แน่ๆ เพราะถ้า “เสี่ยง” ลุยไปเรื่อยๆ ไอ้ระยะสั้นๆ ไม่กี่สิบเมตรก็พอดันไหว แต่บางทีเจอยาวๆ ยิ่งวิ่งไปยิ่งลึก รถคุณไปสำลักน้ำตายอยู่กลางลำธาร ก็ทำให้ “เดือดร้อน” แบบสุดยอด น้ำเข้ารถ ยิ่งรถจอดแช่น้ำนี่ไม่เหลือครับ ในรถเลี้ยงปลาได้แน่ๆ และส่งกลิ่นแบบ “บะฮึ่มมมม” นี่แหละครับผลร้ายที่ตามมา แถมยังไม่รู้ว่าน้ำจะเข้าเครื่องหรือระบบส่งกำลังอะไรต่างๆ ด้วยหรือเปล่า มันจะยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ แถม “ค่ากู้รถ” ก็จะแพงกว่าปกติ มีแต่เสียกับเสียครับ…
ศึกษาเส้นทางเลี่ยง หรือ จุดจอดรถที่ปลอดภัย อื่นๆ ไว้บ้าง
อันนี้ก็สำคัญ เพราะทางที่คุณวิ่งประจำ หากขึ้นชื่อว่า “ตกเมื่อไรท่วมเมื่อนั้น” นั่นแหละคุณจะลำบากชีวิต เพราะฉะนั้น ควรศึกษาเส้นทางเลี่ยงน้ำท่วมไว้บ้างก็จะดีไม่น้อย (ถ้ามีเส้นทางเลี่ยงได้นะ) บางทีต้องยอมอ้อมหน่อยแต่เลือกที่จะไม่ลุยน้ำลึกจะดีกว่า หรือไม่ก็ “ศึกษาว่าจอดรถตรงไหนได้” ตรงนั้นมี “ห้าง” หรือ “ตึก” ไหนบ้าง ที่จะเอารถขึ้นไปจอดรอให้น้ำลงหน่อยแล้วค่อยไป ยอมเสียเวลาหน่อยดีกว่าครับ ถ้าเจอห้างก็เดินชิวๆ ไปเลย หาข้าวหาอะไรกินใจเย็นๆ ค่อยรอไปจะดีกว่า…
ก็เป็นวิธีการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ไม่มีตำราที่ไหนกำหนดไว้แน่นอนหรอกครับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงๆ ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าหาทำ รอให้ “น้ำรอการระบาย” ลดระดับก่อนแล้วค่อยไปดีกว่าครับ รถก็ไม่เสียหาย ยอมเสียเวลาหน่อยดีกว่า เชื่อเถอะครับ ว่าแนะนำแบบนี้บางคนก็อาจจะสวนมาว่า “ไร้สาระ !!! ฉันรีบไป !!!” ก็แล้วแต่สะดวกครับ เพราะมันเรื่องของคุณ แต่ถ้าลุยไปแล้วมันเกินขีดความสามารถของรถ ยังไงคุณก็ไม่รอดอยู่ดี รถไปเดี้ยงอยู่กลางน้ำ เสียหายหลายหมื่นถึงหลายแสน เสียเวลาหนักกว่าเดิมอีก ก็แล้วแต่จะเลือกนะครับ ด้วยความเคารพ ไว้ครั้งหน้ามาดูวิธีการขับลุยน้ำอย่างเอาตัวรอดอย่างไรครับ…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th