ทางตัดทางรถไฟกับถนนมีกี่แบบ? และกฎหมายกำหนดอย่างไร? เมื่อผ่านทางตัดรถไฟ
แม้อุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยนัก แต่ก็ยังมักมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแต่ละครั้งก็มักเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจนทำให้เป็นข่าวใหญ่โต
แน่นอนว่าอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์กับรถไฟจะเกิดขึ้นในบริเวณจุดตัดหรือทางตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน ซึ่งจากการระบุของการรถไฟตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 มีทางตัดรถไฟทั่วประเทศรวมถึง 2,518 จุด และจนถึงปัจจุบันก็อาจมีเพิ่มขึ้นกว่าจำนวนนี้
แม้โดยความหมายแล้วทางตัดรถไฟจะมีความหมายตรงตัวคือทางรถไฟที่ผ่านถนน แต่จริงๆ แล้วทางตัดรถไฟที่มีอยู่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 5 ลักษณะ ทั้งในแบบที่ทางรถไฟอยู่ในระดับเดียวกับถนนหรือทางตัดรถไฟที่อยู่คนละระดับกับถนน ทั้งที่มีเครื่องกั้นถนนขณะที่มีรถไฟผ่านและไม่มีเครื่องกั้น ลองมาดูว่ามีแบบใดบ้าง
- ทางตัดทางรถไฟแบบต่างระดับ
เป็นทางตัดผ่านทางรถไฟที่แยกระหว่างถนนสำหรับพาหนะอื่นและทางรถไฟออกจากกัน ซึ่งจะมีทั้งแบบที่เป็นสะพานข้ามทางรถไฟหรือถนนที่ลอดใต้ทางรถไฟ โดยทางตัดทางรถไฟลักษณะจะไม่มีทั้งสัญญาณเตือนและคานกั้น เพราะทางรถไฟกับถนนอยู่คนละระดับกัน โดยเป็นทางตัดที่เลี่ยงอุบัติเหตุระหว่างรถไฟและพาหนะอื่นได้สมบูรณ์ รวมทั้งยังไม่ทำให้เกิดการติดขัดของการจราจรในขณะที่รถไฟผ่านด้วย แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่สูงกว่าทางตัดทางรถไฟแบบอื่น
- ทางตัดทางรถไฟแบบมีเครื่องกั้น
เป็นทางตัดทางรถไฟที่ทางรถไฟอยู่ในระดับเดียวกับถนน มีการติดตั้งเครื่องกั้นเพิ่มเติมนอกจากเครื่องหมายจราจร รวมทั้งอาจมีสัญญาณไฟวาบเตือนเมื่อรถไฟกำลังจะวิ่งผ่านด้วย ซึ่งสัญญาณไฟวาบนี้จะมีเสียงเตือนพร้อมกันด้วย ทางตัดลักษณะนี้มักเป็นทางตัดผ่านทางรถไฟกับถนนในบริเวณตัวเมือง บริเวณที่มีการจราจรนาแน่น และทางหลวงแผ่นดิน
- ทางตัดทางรถไฟแบบมีสัญญาณเตือน
เป็นทางตัดผ่านทางรถไฟที่มีการติดตั้งสัญญาณเตือนไม่ว่าจะเป็นป้ายจราจร สัญญาณไฟวาบ และสัญญาณเสียงเพื่อเตือนผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ไม่มีคานกั้น โดยมีหลักการทำงานคือ เมื่อรถไฟผ่านจุดที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ ไฟฟ้าที่ไหลอยู่ในรางจะเป็นตัวทำงานร่วมทำให้สัญญาณไฟวาบทำงาน
- จุดตัดทางรถไฟแบบควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจร
เป็นทางตัดผ่านทางรถไฟกับถนนที่มีการควบคุมด้วยป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจรบนพื้นถนน เช่น ป้ายหยุด ป้ายเตือนรถไฟล่วงหน้า ป้ายจำกัดความเร็ว และเครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง ส่วนใหญ่มักจะอยู่บนถนนนอกเมืองที่ห่างจากเขตชุมชนและมีการจราจรไม่มากนัก
- ทางลักผ่าน
เป็นทางตัดผ่านที่มีทางรถไฟอยู่ก่อนแล้ว แต่มีการทำทางตัดผ่านทางรถไฟภายหลังโดยเอกชน ซึ่งอาจเป็นทางเข้าออกหมู่บ้านหรือเป็นทางลัดที่ช่วยให่เดินทางได้ใกล้ขึ้น ซึ่งผู้ทำทางลักผ่านอาจเป็นประชาชนในพื้นที่หรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ไม่มีการขออนุญาตกับการรถไฟ และทางตัดผ่านในลักษณะนี้อาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ล่วงหน้า
- กฎหมายเกี่ยวกับการผ่านทางตัดผ่านทางรถไฟ
ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผ่านทางตัดทางรถไฟมีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อยู่ 2 มาตราคือ
- มาตรา 62 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ถ้าปรากฏว่า
1 มีเครื่องหมายหรือสัญญาณระวังรถไฟแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน
2 มีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน
3 มีเสียงสัญญาณของรถไฟหรือรถไฟกำลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้อาจเกิดอันตราย
ในเมื่อจะขับรถผ่านไปผู้ขับขี่
ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อรถไฟผ่านไปแล้วและมีเครื่อง
หมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้
- มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มี
สัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่
น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้