ทำอย่างไรไม่ให้อ่อนล้าเมื่อขับรถทางไกล
ในช่วงวันหยุดยาว สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักคิดถึงก็คือการเดินทางท่องเที่ยวหรือการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้วนี่คือการเดินทางไกลที่ต้องขับรถเป็นเวลานานซึ่งทำให้เกิดความอ่อนล้าแก่ร่างกาย
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะไม่ได้ขับรถเป็นระยะทางไกลมากแต่บางครั้งก็อาจมีปัจจัยต่างๆ อย่างการนอนไม่เพียงพอ หรือความเหน็ดเนื่อยจากการทำงานแล้วขับรถที่ทำให้ร่างกายเกิดอ่อนล้าง่วงซึมในขณะขับรถระยะทางใกล้ๆ ได้เหมือนกัน ลองมาดูถึงสาเหตุที่ทำให้รู้สึกง่วงซึมเมื่อขับรถ อาการที่แสดงถึงความอ่อนล้าขณะขับรถ ผลจากความอ่อนล้าที่มีต่อการขับรถ รวมทั้งวิธีที่จะกำจัดความอ่อนล้าออกไปเมื่อขับรถ
สาเหตุที่ทำให้ง่วงซึมขณะขับรถ
– ขาดการนอนที่มีคุณภาพซึ่งทำให้เกิดการพักผ่อนไม่เต็มที่
– ขับรถในเวลาที่ปกติแล้วเป็นเวลานอน หรือพูดง่ายๆ ก็คือขับรถข้ามคืนอย่างที่ผู้เดินทางไกลช่วงวันหยุดยาวมักนิยมทำกัน
– มีอาการผิดปกติในการนอนอย่างภาวะหยุดหายใจขณะนอน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความอ่อนล้าตลอดทั้งวันถึงแม้จะไม่ขับรถก็ตาม
วิธีเอาชนะความอ่อนล้าเมื่อขับรถ
จริงๆ แล้ววิธีเดียวที่สามารถเอาชนะความอ่อนล้าเมื่อขับรถได้ก็คือการพักผ่อน หลีกเลี่ยงการขับเพื่อรถเมื่อรู้สึกอ่อนล้า แต่หากทำไม่ได้ก็ยังมีคำแนะนำเพื่อป้องกันความอ่อนล้าเมื่อขับรถ
– นอนหลับให้เพียงพอก่อนการขับรถทางไกล
– ไม่ควรขับรถมากกว่า 8 ถึง 10 ชั่วโมงในแต่ละวัน
– มีการหยุดพักเสมอในขณะเดินทาง อย่างน้อยที่สุดควรพักทุก 2 ชั่วโมง
– หากเป็นไปได้ควรมีการเปลี่ยนผู้ขับ
– อย่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเดินทางแม้ว่าจะเป็นปริมาณที่จะไม่ผิดกฎหมายเรื่องเมาแล้วขับก็ตาม เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์เพียงเล็กน้อยจะเพิ่มความอ่อนล้าให้ร่างกาย
– จริงๆ แล้วไม่ควรเดินทางในช่วงเวลาที่ปกติแล้วเป็นเวลานอน
– หากเริ่มมีความรู้สึกง่วง ควรหากที่ปลอดภัยเช่นจุดพักหรือปั๊มน้ำมันแล้วดับเครื่องยนต์เพื่อหยุดพักงีบสัก 15 นาที
สัญญาณที่บ่งบอกอาการอ่อนล้า
มีหลากหลายอาการที่เป็นสิ่งบ่งบอกว่าร่างกายมีความอ่อนล้า ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ควรหยุดรถเพื่อพักในที่ปลอดภัย
– หาว
– รู้สึกตาปรือ
– เริ่มตอบสนองสิ่งต่างๆ ช้าลง
– พบว่าเริ่มจดจ่อหรือใส่ใจการขับรถน้อยลง
– ขับรถด้วยความเร็วบ้างช้าบ้างขึ้นๆ ลงๆ
– รู้สึกหงุดหงิด ความอดทนน้อยลง
– ประสิทธิภาพการขับรถลดลง อย่างเช่นมีการเข้าเกียร์ผิดหากขับรถเกียร์แมนนวล
– ขาดความตั้งใจ
– มีอาการหลับในหรือวูบหลับ 2-3 วินาทีโดยสัปหงกแล้วสะดุ้งตื่นขึ้น
ผลของความอ่อนล้าต่อการขับรถ
เมื่อมีความอ่อนล้าเกิดขึ้นจะส่งผลอย่างมากต่อการขับรถรวมทั้งความสามารถในการขับรถอย่างปลอดภัย ไม่ต่างกับเมาแล้วขับ โดยมีการศึกษาที่พบว่าหากตื่นอยู่เป็นเวลา 17 ชั่วโมงโดยไม่มีการนอนจะทำให้ความสามารถในการขับรถเทียบเท่ากับมีความเข้มข้นแอลกอออล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration) 0.05 หรือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่นอนเลย 24 ชั่วโมงผลลัพธ์จะกลายเป็นสองเท่าหรือเทียบเท่ากับความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือด 0.1
สำหรับลักษณะะที่มักพบเมื่อขับรถขณะเกิดความอ่อนล้าคือ
– มีปัญหาในการจดจำสิ่งที่ขับผ่านมากเมื่อ 2-3 กิโลเมตรที่แล้ว เริ่มเหม่อ และอาจพลาดการสังเกตป้ายหรือสัญญาณจราจร รวมไปถึงช่องทางออกหรือทางเลี้ยวของถนน
– เริ่มขับรถเบี่ยงออกจากเลน เฉเข้าข้างทาง หรือไม่สามารถควบคุมความเร็วของรถให้คงที่ได้
– พบว่ากำลังรอสัญญาไฟจราจรอยู่โดยไม่สั’เกตว่าสัญญาไฟเปลี่ยนแล้ว
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th