นายใหญ่โตโยต้าย้ำกลางงาน!! โตโยต้าเป็น Mobility Company ขนทัพยานยนต์อนาคต อวดโฉมในโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019
เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กับการโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 โดยในปีนี้มาภายใต้ธีม OPEN FUTURE ซึ่งภายในงานนี้มีค่ายรถนต์หลากหลายค่ายขนนวัตกรรมใหม่ๆมาโชว์กันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะทาง โตโยต้า มอเตอร์ คอปเปอร์ชั่น ที่ขนเอารถยนต์ และยานพาหนะต่างๆ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าโชว์กันอย่างมากมาย โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น มร.อากิโอะ โทโยดะ ประกาศย้ำ กลางงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 อีกครั้งว่าโตโยต้าจะไม่เป็น Car Company อีกต่อไปนับจากนี้โตโยต้าจะเป็น Mobility Company
โดยได้ทำการเปิดตัวอี-พาเลตต์ (e-Palette) ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนพร้อมบริการต้นแบบ ทั้งเผยถึงการมุ่งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ออกแบบเพื่อเพิ่มอิสรภาพในการขับเคลื่อนที่สำหรับทุกคน การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นไปตามพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจแนวโน้มในสังคม ด้านทิศทางของเทคโนโลยี 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายแบบเชื่อมต่อ (connected networks) ระบบอัตโนมัติ (automation) บริการระบบศูนย์กลางเพื่อกระจายข้อมูล (shared services) และระบบพลังงานไฟฟ้า (electrification) ที่เมื่อทำงานร่วมกัน จะสามารถทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ๆ เหนือขอบเขตของยนตรกรรมแบบเดิม ความคืบหน้าของโตโยต้าในการมุ่งบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการนำมาจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบภายในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46 ปี 2019 ครั้งนี้ นอกเหนือจากการจัดแสดงยนตรกรรมที่ดีกว่าประเภทรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน เช่น ยาริส ใหม่
โตโยต้ายังนำเสนอสายผลิตภัณฑ์ยานยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ที่พร้อมทำการแนะนำเพื่อจำหน่าย โดยรวมถึง โตโยต้า มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 ที่จะเป็นยนตรกรรมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น สู่การเป็นคู่แข่งด้านสมรรถนะในตลาดรถยนต์อย่างแท้จริง Ultra-compact BEV (ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ อัลตรา คอมแพกต์) คำตอบของรูปแบบการขับเคลื่อนที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทางระยะสั้นของทุกคน ไม่ว่าจะเป็น สำหรับ ผู้สูงอายุ การใช้งานในองค์กรหรือในหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น และใช้เพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ไปยังสถานีจ่ายพลังงานอุปกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านมาโตโยต้าได้เริ่มปรับภาพลักษณ์ และ Positioning ของแบรนด์ในการสื่อสารว่าตนเองไม่ใช่แค่บริษัทยานยนต์อีกต่อไป เริ่มต้นจากหลังการปล่อยแคมเปญ “Start Your Impossible” ตั้งเป้าเป็น Mobility Company เอาแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ ต่อไปนี้โตโยต้าจะเป็นแบรนด์ที่สินค้าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ได้แก่ รถยนต์ แน่นอนมันยังคงเป็นสินค้าหลัก ความน่าสนใจคือการที่โตโยต้าขยายไปยังอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แถมยังมีหลายสินค้าที่เป็นโปรเจ็คต์ในอนาคต ทั้งที่กำลังจะวางจำหน่ายในเร็ววันนี้ และยังไม่มีการวางจำหน่าย รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ช่วยผู้พิการทางร่างกาย แถมโตโยต้าได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ International Olympic Committee และ International Paralympic Committee เป็นระยะเวลาทั้งหมด 8 ปี ยิ่งช่วยทำให้ภาพลักษณ์ Mobility Company ของโตโยต้าชัดเจนมากขึ้น
แน่นอนภายในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 นี้ โตโยต้าจัดหนักขนเอายานยนต์ และอุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของมนุษย์มาแสดงภายในงานนี้เราไปเที่ยวชมบูธของโตโยต้าพร้อมกันเลยดีกว่าครับว่าที่เค้าเอามาโชว์มันจะทำให้เราว้าวขนาดไหนเรามาเริ่มจากตัวช่วยในการเคลื่อนไหวของมนุษย์ที่โตโยต้านำมาอำนวยความสะดวกให้นักกีฬา Olympic และ Paralympic กันก่อนเลย
TOYOTA APM
ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร (Accessible People Mover – APM): สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว APM คันนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสามรถทำความเร็วได้สูงสุดที่ 19 กม./ชม. และทำระยะได้ถึง 100 กม. เมื่อชาร์จแบตเต็มหนึ่งครั้ง รถถูกออกแบบมาให้มีที่นั่ง 3 แถว แถวหน้าสุดสำหรับคนขับ แถวที่สองมี 3 ที่นั่ง และแถวสุดท้าย มี 2 ที่นั่ง บรรทุกคนได้ 5 ที่นั่ง สามารถพับที่นั่งได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับบรรทุกรถวีลแชร์ได้ มีแท่นยืดหดได้ให้รถเข็นขึ้นลงได้สะดวกอีกด้วย โดยให้เจ้าAPM คันนี้เป็นตัวช่วยขนส่ง ผู้สูงอายุ, หญิงสาวตั้งครรภ์ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมถึงผู้พิการ บริเวณรอบสนามกีฬา
TOYOTA e-Palette
ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ e-Palette โตโยต้า อี-พาเลตต์ จำนวน 20 คัน จะถูกใช้ในการคมนาคม สำหรับนักกีฬาระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปีค. ศ. 2020 ณ กรุงโตเกียว (โตเกียว 2020) อี-พาเลตต์จะให้บริการด้วยระบบการขับขี่อัตโนมัติที่ออกแบบเป็นพิเศษ ผสานการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซ็นเซอร์ที่ล้ำสมัย เช่น กล้องและเซ็นเซอร์ วัดแสงเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) ทำงานร่วมกับ ตัวการทำแผนที่สามมิติ (3D mapping) และระบบควบคุมการปฏิบัติการ เพื่อให้มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ SAE ระดับ 4 มาพร้อมหน้าจอแสดงผลแสดงให้เห็นการทำงาน และ การควบคุมเครื่องจักร (human-machine interface) ช่วยสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวรถ รวมทั้ง คนเดินเท้า ขณะรถให้บริการขับขี่อัตโนมัติ ไฟรถด้านหน้าและหลังจะเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ด้วยการสื่อสารทางสายตาเพื่อแจ้งคนเดินเท้าให้ทราบสถานการณ์ทำงานของรถ ระบบการขับขี่อัตโนมัติจะคอยตรวจสอบสิ่งกีดขวางด้วยมุมมองแบบ 360 องศารอบตัวรถ และจะปรับระดับความเร็วให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยเชิงรุก เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำรถจะคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรถ และพร้อมทำการควบคุม ในกรณีที่มีความจำเป็น รองรับได้สูงสุด 20 คน (รวมเจ้าหน้าที่ประจำรถ) สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นรองรับรถเข็นได้สูงสุดถึง 4 คัน + ผู้โดยสารยืน 7 คน ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้งประมาณ 150 กิโลเมตร สะดวกสบาย ด้วยการติดตั้งประตูที่มีขนาดใหญ่ ระดับของพื้นรถที่ต่ำ ทางลาดระบบไฟฟ้าให้กับรถรุ่นนี้ มาพร้อม ระบบควบคุมเมื่อรถเคลื่อนใกล้ถึงจุดหมาย Arrival Control4 เพื่อให้ผู้โดยสารรวมทั้งผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
TOYOTA LQ
LQ มาพร้อมกับตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในตัวรถ (Onboard Artificial Intelligence Agent) ชื่อว่า “Yui” ที่สามารถมอบประสบการณ์การขับขี่เฉพาะบุคคล ตามสภาวะด้านอารมณ์และความพร้อมด้านความปลอดภัย ยนตรกรรมนี้ออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสามารถตอบโต้กับผู้ขับขี่ ผ่านการสื่อสารด้วยเสียงในรูปแบบของการปฎิสัมพันธ์ ที่นั่งติดตั้งฟังก์ชันให้เพิ่มความพร้อมด้านความปลอดภัยหรือลดความเครียด ให้กับผู้ขับขี่ ตลอดจน การออกแบบแสงภายในตัวรถ เครื่องปรับอากาศ การใช้กลิ่นหอม และยังมาพร้อมเทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ หรือ Human-Machine Interactions (HMI) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับขี่จะได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบาย นอกจากนั้น “Yui” ยังสามารถเลือกและเล่นดนตรีให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมขณะขับขี่ ทั้งยัง สามารถให้ข้อมูลตามเวลาจริงแบบ real time ตามหัวข้อที่ผู้ขับขี่สนใจได้ นอกจากนี้ LQ ยังมาพร้อมความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ ระดับ SAE2 Level 4 ระบบค้นหาและจอดรถอัตโนมัติ ระบบ Head up Display แบบโลกเสมือนจริง (AR-HUD) ใช้เทคโนโลยีเสริมความเป็นจริง (Augmented Reality) เพื่อแสดงผลบนกระจกหน้ารถช่วยทำให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัยด้วยการลดการเคลื่อนที่ของสายตาขณะขับขี่ เช่น การเตือนเมื่อเปลี่ยนเลน สัญญาณบนท้องถนน และการแนะนำเส้นทาง สามารถแสดงผลในรูปแบบสามมิติที่เข้าใจได้ง่ายบนจอแสดงผลของกระจกหน้ารถ ที่นั่งพร้อมระบบเตือนเพื่อความปลอดภัยและระบบผ่อนคลาย ห้องโดยสารของ LQ ออกแบบให้มีโครงสร้างแห่งอนาคต ดูล้ำสมัย ด้วยการนำเอา “Yui” ไว้ที่กึ่งกลางแผงควบคุม ผ่านเส้นสายที่วาดจากภายในตัวรถมายังภายนอก ดีไซน์เป็นเอกภาพ ดูหรูหราสง่างาม แน่นอนเจ้า LQ คันนี้จะมาสร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยผู้ชมจะได้เห็นรถโตโยต้า LQ ในพิธีการส่งต่อคบเพลิง อีกทั้งยังจะถูกใช้เป็นรถนำสำหรับการแข่งขันวิ่งมาราธอนด้วย
Ultra-Compact BEV
Ultra-Compact BEV เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ของโตโยต้าที่ให้ความสำคัญในการสร้างความแพร่หลายของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ยนตรกรรมเพื่อการขับเคลื่อนรุ่นใหม่นี้ ออกแบบสำหรับการสัญจรระยะใกล้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด Ultra-compact BEV มีการพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนที่ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ทั้งสามารถมอบอิสระทางการเคลื่อนที่ให้กับผู้คนในทุกช่วงชีวิต Ultra-compact BEV เป็นยานพาหนะที่มิใช่แค่เพียงมอบอิสรภาพในการเดินทางที่ดียิ่งขึ้น หากแต่ยังสามารถวิ่งโดยที่ใช้พื้นที่น้อยลง ก่อให้เกิดเสียงลดลง ทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่น้อย Ultra-compact BEV เป็นยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่แบบสองที่นั่ง ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการ เดินทางในระยะสั้นเป็นประจำ เช่น ในผู้สูงอายุ คนที่เพิ่งได้ใบขับขี่ และนักธุรกิจที่เดินทางไปพบลูกค้าภายในท้องที่ ยานยนต์นี้สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง มีความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งยังมีรัศมีวงเลี้ยวที่แคบมาก โตโยต้าได้เตรียมแนะนำ Ultra-compact BEV ในปี พ.ศ. 2563
TOYOTA MIRAI GENERATION 2
TOYOTA MIRAI GENERATION 2 มีการวางแผนว่าจะเริ่มเปิดตัวช่วงปลายปี 2020 โดยเริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ทวีปอเมริกาเหนือ และในทวีปยุโรป โดยรถรุ่นนี้เป็นยิ่งกว่ารถที่ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งก้าวเพื่อมุ่งสู่อีกขั้นของยุคแห่งยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง และยังมีถังเก็บพลังงานไฮโดรเจนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โตโยต้าตั้งเป้าหมายให้รถรุ่นนี้มีระยะการเดินทางที่ไกลกว่ารุ่นปัจจุบัน 30 เปอร์เซ็นต์ทั้งนี้ TOYOTA MIRAI GENERATION 2 ได้รับการออกแบบใหม่หมดโดยใช้สถาปัตยกรรมยานยนต์ TNGA แบบระบบขับเคลื่อนล้อหลังอัน และผสานความคล่องตัวสมรรถนะด้านการขับขี่ที่ดียิ่งกว่าเจนเนอร์ชั่นที่1 ยานยนต์ต้นแบบโตโยต้ามิไร คุณลักษณะเด่นของยานยนต์ต้นแบบโตโยต้ามิไรประกอบด้วย โดดเด่น ปราดเปรียว มอบสมรรถนะในการขับขี่เหนือระดับอีกทั้งรูปทรงที่สวยงามเร้าอารมณ์
รูปลักษณ์ภายนอกที่ปราดเปรียว โดยใช้สถาปัตยกรรมออกแบบยานยนต์ใหม่ของโตโยต้าTNGA เส้นสายสัดส่วนดูสวยงามตัวถังแข็งแกร่งปราดเปรียวล้อรถขนาด 20 นิ้ว ภายในมีพื้นที่แบบเรียบง่าย ทันสมัย ให้ความรู้สึกสบาย บริเวณแผงควบคุมตรงกลางเชื่อมต่อเข้ากับหน้าจอขนาด12.3นิ้ว นอกจากนี้การออกแบบให้ระบบเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงอยู่บนพื้นฐานสถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ TNGA ทำให้มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขึ้นโดยสามารถเพิ่มที่นั่งภายในเป็น 5 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากรุ่นปัจจุบันที่สามารถนั่งได้แค่ 4 ที่นั่ง สมรรถนะในการขับขี่ที่พัฒนาให้ดีขึ้นเพราะมาพร้อมระบบเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงใหม่รวมทั้งมีการพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง FCStackให้ดีขึ้น ทำให้รถรุ่นนี้มีระยะขับขี่ที่ดีขึ้นจากเจเนอเรชั่นที่1 ถึง 30 เปอร์เซ็น ด้วยการทำให้ถังเก็บพลังงานไฮโดรเจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนายนตรกรรมรุ่นใหม่นี้
ยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่สำหรับใช้ในพื้นที่ทางเดิน
ยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่ายืนทรงตัวประมาณ 300 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย / เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ในการเคลื่อนที่ทั้งภายในและโดยรอบสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว นอกจากนี้ โตโยต้ายังจะจัดเตรียมยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยท่านั่งและเครื่องเชื่อมต่อรถเข็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่นั่งรถเข็นและผู้ที่มีปัญหาด้านการเดิน
“เมื่อโตโยต้ากลายเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนแล้วนั้น จะเป็นอย่างไร เรานำเสนอหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ล้ำหน้า และมีความทันสมัย โดยหวังว่าจะมิใช่เพียงนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หากยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และนำมาซึ่งคุณประโยชน์ในสังคมโดยรวม ขอเชิญมาเยี่ยมชมและสัมผัสด้วยตัวท่านเองนะครับ” มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวในที่สุด”
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th