นิสสัน ลีฟ พิชิตยอดดอยอินทนนท์ ด้วยการชาร์จเพียงครั้งเดียว
ต้องพูดเลยว่านี่เป็นโปรเจคที่ทีมงานนิสสันสร้างความท้าทายได้สุดๆ และลุ้นตลอดเวลา เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถใช้งานได้จำกัด เป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองแบบ City Car ไม่ค่อยเหมาะกับการขับทางไกลสักเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้ถึงจะไม่ไกลนัก ทว่าเส้นทางกลับเป็นตัวที่ทำให้ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากกว่าปกติ นี่ถ้าวางแผนไม่ดี รวมทั้งขับแบบไม่สนใจอะไร มีหวังได้กินข้าวลิงกันบนดอยเป็นแน่แท้
มาเข้าเรื่องกันแบบสรุปกันก่อนเลยดีกว่า สำหรับทริปนี้นิสสัน ประเทศไทย ได้เชิญให้ Grandprix Online พร้อมพี่น้องสื่อมวลชน ไปทดสอบ “นิสสัน ลีฟ” (Nissan Leaf) กับระยะทางแค่ 206 กิโลเมตร จากโรงแรม Veranda High Resort เชียงใหม่ ขับขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,565 เมตร แล้วขับกลับลงมายังโรงแรมอีกครั้ง และยังเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จเพียงเต็มครั้งเดียวเท่านั้น
โดยก่อนออกเดินทางแบตเตอรี่เต็ม 100% หน้าจอมาตรวัดแจ้งระยะทางที่ขับได้อยู่ที่ 257 กิโลเมตร เมื่อเริ่มออกเดินทางผู้เขียนขับด้วยโหมด ECO สลับกับ Normal ซึ่งการขับแบบ ECO รถจะมีกำลังหน่วงอยู่พอสมควร เหมาะกับการขับในเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบเร่ง แต่เมื่อปลดโหมด ECO ออกเป็นการขับแบบ Normal อารมณ์เปลี่ยนแบบสิ้นเชิง กลายเป็นการขับแบบสปอร์ตที่พละกำลังทันใจ อัตราเร่งรวดเร็วเหมือนจรวดทางเรียบ ดึงให้หลังติดเบาะได้ง่ายๆ แต่นั่นต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากขึ้น เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่จะลดลงเร็วด้วยเช่นกัน
เมื่อขับมาถึงครึ่งทางแวะดื่มกาแฟก่อนขับไปทางขึ้นดอยอินทนนท์ เป็นระยะทาง 56.4 กิโลเมตร เหลือแบตฯ อีก 78% และขับได้อีก 195 กิโลเมตร ดูจากตัวเลขตรงนี้ และอีกราว 40 กว่ากิโลเมตรจะถึงยอดดอยดูแล้วน่าจะมีพลังงานไฟฟ้าให้ใช้แบบเหลือๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น…
ระหว่างที่ขับผ่านจุดตรวจของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ปรากฎว่ามีรถของนักท่องเที่ยวขับขึ้นดอยกันค่อนข้างเยอะ นั่นทำให้ระหว่างทางจำเป็นต้องมีการเร่งแซงในทางลาดชัน เพราะหากขับตามอย่างเดียวมีหวังกลับลงมาไม่ทัน แถมจะตกเครื่องบินกลับกรุงเทพอีกต่างหาก ตรงนี้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ใช้พลังงานมากขึ้นโดยจำยอม เลยต้องอาศัยประสบการณ์การขับเข้ามาช่วยให้ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุด ด้วยการสลับโหมดระหว่าง ECO กับ Normal รวมทั้งรีชาร์จพลังงานไฟฟ้ากลับคืนในช่วงทางลงเนิน และเมื่อขับไปถึงยอดดอยอินทนนท์เหลือระยะทางที่ขับได้อีก 55 กิโลเมตร และมีแบตฯ เหลืออีกเพียง 26% เท่านั้น ถ้ามองตัวเลขนี้ชัดเจนว่าเราได้กินข้าวลิง ขับไม่ถึงโรงแรมอย่างแน่นอน
แต่จุดที่น่าสนใจและเป็นเป้าหมายหลักของการทดสอบในทริปนี้คือการศึกษาว่าบนเส้นทางลงเขาแบบนี้ ระบบการชาร์จไฟกลับของนิสสัน ลีฟ หรือที่เรียกว่า Regenerative Braking System จะทำได้ขนาดไหนนั่นเอง โดยที่เมื่อขับลงมาต้องเปลี่ยนโหมดเป็น B ซึ่งโหมดนี้เป็นระบบฟื้นฟูพลังงาน ช่วยเพิ่มระยะทางในการขับขี่เมื่อใช้ชะลอความเร็ว มอเตอร์ไฟฟ้าเปลี่ยนพลังงานที่สูญเสียจากการเบรกกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยระหว่างทางลดจากยอดดอยอินทนนท์ นิสสัน ลีฟ สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับมาได้สูงสุดถึงกว่า 20% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่และความลาดชันของเส้นทาง โดยการขับใน โหมด ‘B’ ของลีฟ จะช่วยให้ฟื้นฟูพลังงานที่มากยิ่งขึ้นในขณะที่ชะลอความเร็วและมีการเบรกนั่นเอง
โดยเมื่อขับลงมาถึงจุดตรวจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ระยะทางร่วม 40 กิโลเมตร ที่มาตรวัดแจ้งเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่เอาไว้ที่ 35% นั่นเท่ากับว่าขาลงเขามีการชาร์จไฟฟ้ากลับเข้ามาเพิ่ม 9% ดูไม่มาก ตัวเลขระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 98 กิโลเมตร ทำให้สบายใจได้ว่าสามารถขับถึงที่พักได้อย่างแน่นอน เพราะเหลือระยะทางอีกแค่ 50 กิโลเมตร โดยประมาณเท่านั้นเอง
เส้นทางขากลับไปยังโรงแรมเป็นทางลาดบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ถึงแม้ว่าทีมงานจะมีการชาเลนจ์เล็กน้อยว่าใครสามารถขับให้เหลือเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่มากที่สุดจะมีรางวัลให้ แต่คันที่ผู้เขียนและเพื่อนสื่อจากนักเลงรถเลือกขับคือ ต้องการขับด้วยความเร็วแบบใช้งานจริง จึงทำความเร็วในช่วง 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่วมกับโหมด ECO ทำให้เห็นว่าเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ค่อยๆ ลดลงเฉลี่ย 3-5 กิโลเมตรลดลง 1% (ขึ้นอยู่กับการขับและความร้อนที่เกิดขึ้นภายในแบตเตอรี่ซึ่งมีผลกับระยะทาง) และเมื่อขับมาถึงโรงแรมเหลือแบตเตอรี่อีก 12% เหลือระยะทางขับได้อีก 35 กิโลเมตร ถือว่าการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียวของนิสสัน ลีฟ เพื่อพิชิตยอดดอยอินทนนท์ ทำได้สำเร็จอย่างสวยงาม ซึ่งบางคันสามารถขับให้มีแบตฯ เหลือได้มากถึง 21 % อีกด้วย จากการขับด้วยความเร็วเฉลี่ย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทริปนี้ให้ข้อมูลอะไรที่สำคัญบ้างกับการขับรถพลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง นิสสัน ลีฟ…แน่นอนว่าแบตฯ 100% สามารถขับได้ระยะทางเกือบ 300 กิโลเมตร แต่มันเหมาะกับการใช้งานในตัวเมือง ออกนอกเมืองได้ในระยะทางที่ผู้ขับต้องวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า รวมทั้งคำนวณระยะทางขากลับและการขับแวะตามจุดต่างๆ ที่ออกนอกเส้นทางเอาไว้ด้วย การขับแบบลุยขึ้นดอยในครั้งนี้ ถือว่าค่อนข้างเสี่ยง แต่เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าการชาร์จไฟกลับ หรือ Regenerative Braking System สามารถทำได้เยอะในระดับหนึ่ง แต่เงื่อนไขก็อยู่ที่ระยะทาง รวมทั้งเส้นทาง ทางลาด ทางชัน ด้วยเช่นกัน เป็นความท้าทายของตลาดรถพลังงานไฟฟ้าว่าหลังจากนี้จะสามารถทำระยะทางเพิ่มขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้นเพียงใด แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือการเลือกใช้รถยนต์และรถพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันและเงินในกระเป๋านั่นเอง ทุกอย่างมีข้อดีและข้อด้อย สุดท้ายอยู่ที่เราจะเลือกให้คุ้มค่าและเหมาะกับการใช้งานมากที่สุดนั่นเอง
และนี่คือ นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) รถพลังงานไฟฟ้า 100% Zero Emission ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ให้พละกำลังและสมรรถนะการขับขี่ที่มั่นใจได้ในทุกสภาวะ รวมทั้งช่วยให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น เพราะอากาศคือสิ่งสำคัญสำหรับทุกชีวิต เมื่อรถยนต์ลดการปล่อยมลพิษ อากาศบริสุทธิ์ย่อมกลับมาอีกครั้ง.
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th