ฝนเท น้ำท่วม เลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องฉลาดลุย!
สาหัสกันไปตามๆ กัน เมื่อ “ร่องมรสุม” ทำฝนถล่มกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง พาปริมาณน้ำยกพลขึ้นบกเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันในหลายพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ที่หลายเมืองใหญ่ในโลกล้วนประสบกับปัญหาของน้ำท่วม และเป็นภาระที่คนใช้รถใช้ถนนต้องพบเจอ แต่อย่างน้อยขอให้รู้วิธีการขับรถลุยน้ำท่วมหรือขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมสูงอย่างถูกวิธีจะเป็นการช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับรถยนต์ได้เช่นกัน..แต่จะขับอย่างไร วันนี้ Grandprix Online มีข้อแนะนำดีๆ ที่ใช้ได้จริงมาเล่าสู่กันฟัง
1.ดูระดับน้ำจากรถคันข้างหน้า
วิธีที่เช็คระดับน้ำที่ง่ายที่สุดคือการดูจากรถคันหน้า ให้ดูว่าระดับความสูงของน้ำสูงท่วมระดับไหน แต่จุดนี้หากขับรถเก๋งทั่วไป พยายามมองดูรถที่เป็นรถเก๋งเหมือนกัน อย่าไปดูรถกระบะยกสูงล่ะ เพราะล้อรถเค้าสูงใหญ่กว่ารถเก๋ง การดูคือ ดูว่าน้ำขึ้นสูงถึงแก้มยาง กลางล้อ หรือสูงท่วมล้อ ซึ่งหากสูงถึงกลางล้อ แนะนำว่าไม่ควรลุยต่อ หรือสังเกตที่รถตัวเองก็ได้ว่า ถ้าขับลุยน้ำแล้วเริ่มได้ยินเสียงน้ำกระทบกับใต้ท้องรถ ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง หาทางวนกลับจะปลอดภัยกว่า
2.ใช้เกียร์อย่างไรดี
ถ้าระดับน้ำขึ้นสูงระดับท่วมครึ่งล้อ หากเป็นรถเกียร์ธรรมดา ควรใช้เกียร์ต่ำ ที่เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 ควรใช้ความเร็วต่ำในการเคลื่อนที่ แต่หากเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ ให้เลี้ยงคันเร่งอย่างสม่ำเสมอ ใช้ความเร็วต่ำคงที หลายคนพยายามเร่งเครื่องให้แรงขึ้นเพราะกลัวว่าน้ำจะไหลเข้าสู่ท่อไอเสีย ตรงนี้ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะแรงดันจากเครื่องยนต์มาออกท่อไอเสียมีแรงดันมากพอที่จะดันน้ำไม่ให้ไหลย้อนเข้ามาในท่อไอเสียได้ ไม่จำเป็นต้องเบิ้ลเครื่อง ขับไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวน้ำเข้าท่อกันนะ
3.ลุยน้ำสักพัก เบรกไม่อยู่ทำอย่างไรดี
ปัญหานี้เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อรถแช่ตัวอยู่ในน้ำ น้ำจะเข้าไปทุกซอกส่วนของระบบเบรก และจะพบว่าการขับลุยน้ำท่วมไปสักระยะเวลาหนึ่ง จะรู้สึกว่าเบรกไม่ค่อยอยู่ ให้พยายามเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากที่สุด แล้วให้เหยียบเบรกเป็นจังหวะในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ เพื่อให้จานเบรกและผ้าเบรกมีการเสียดสี เกิดความร้อนและไล่ความชื้นออกไปจากระบบเบรกในเบื้องต้น และเมื่อขับผ่านจุดที่น้ำท่วมแล้ว ให้เบรกเป็นจังหวะๆ ให้พอรู้สึกว่าเบรกได้ เท่านี้ก็พอแล้ว
4.ควรเปิดหรือปิดแอร์เวลาลุยน้ำท่วม
แนะนำว่าถ้าน้ำท่วมไม่สูง ท่วมไม่ถึงใต้ท้องรถ ไม่จำเป็นต้องปิดแอร์ แต่ถ้าน้ำท่วมสูงถึงใต้ท้องรถขึ้นไป ควรปิดแอร์ เพื่อลดภาระของรถ และเป็นการป้องกันใบพัดลมเสียหายจากการถูกแรงน้ำปะทะเข้ามาอีกด้วย
5.รถแต่ละคันสามารถลุยน้ำท่วมได้สูงสุดแค่ไหน
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำโฆษณาที่บอกว่ารถคันนี้ลุยน้ำได้มากกี่เซนติเมตร ซึ่งในความเป็นจริงใครจะไปรู้ว่ามันสูงแค่ไหนกับรถที่ขับอยู่ วิธีดูง่ายๆ คือ อย่าลุยน้ำที่ท่วมสูงเกินไฟหน้า เพราะความสูงระดับนั้นมีโอกาสที่น้ำจะถูกดูดเข้าไปสู่ระบบกรองอากาศ ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับได้ ซึ่งระดับการลุยน้ำที่ปลอดภัยขอแนะนำว่าถ้าได้ยินเสียงน้ำกระทบกับใต้ท้องรถขอให้เป็นเส้นตายสุดท้าย เมื่อเสียงกระทบเงียบลงนั่นหมายถึงว่ารถกำลังลุยน้ำในระดับที่ลึกขึ้น จะมีความเสียงที่รถจะเกิดความเสียหายมากขึ้นนั่นเอง
6.หากรถดับกลางทางตอนที่ลุยน้ำควรทำอย่างไร
ถ้ามาถึงจุดนี้ไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น เมื่อรถดับกลางน้ำ ให้จอดรถทิ้งไว้แล้วรอรถลาก ไม่ควรสตาร์ทรถอีกครั้ง เพราะอาจจะทำให้น้ำเข้าสู่เครื่องยนต์ได้ ซึ่งความเสียหายจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ฉะนั้น หากรถดับ อย่าสตาร์ทรถขึ้นมาอีกครั้งเด็ดขาด
7.หลังลุยน้ำท่วม ควรดูแลรถอย่างไร
ถ้าผ่านจุดที่ลุ้นระทึกที่สุดมาแล้ว การดูแลเบื้องต้น ให้ตรวจสอบรอบตัวรถว่ามีความเสียหายอะไรบ้าง โดยเฉพาะรถที่ติดตั้งชุดแต่ง พวกสเกิร์ต กาบข้าง ขอบกันชน เพราะน้ำอาจปะทะทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างหลุดหายได้ และควรตรวจเช็คที่ล้อ, ระบบเบรกทั้งสี่ล้อ ว่ามีเศษวัสดุอะไรเข้าไปอัดอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้นำออกมาให้หมด รวมทั้งเปิดฝากระโปรงตรวจสอบห้องเครื่องว่ามีอะไรแปลกปลอมหลุดเข้ามาหรือไม่ จากนั้นเพื่อความสบายใจให้นำรถเข้าศูนย์บริการ หรือเข้าอู่เพื่อเช็คระบบช่วงล่าง ระบบเบรก และระบบไฟทั้งหมด
แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีอู่หรือศูนย์บริการใกล้บ้านตรงไหนบ้าง แนะนำให้โหลดแอป Car Buddy By GPI แอปฯ คู่ใจคนใช้รถ ครบเครื่องรถจบในแอปเดียว เรียกหาตัวช่วยได้อย่างแน่นอน
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th