น้ำมันเครื่อง ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ใช้แล้วไปไหน…หรือนี่คือเงาสะท้อนการจัดการอุตสาหกรรมไทย
ทุกวันนี้ข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งของที่ใช้แล้วอย่างน้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ ของพวกนี้เมื่อถูกเปลี่ยนใหม่จากการถึงวงรอบของการบำรุงรักษา หรือถูกเอาออกไปจากรถแล้วมันไปอยู่ที่ไหน
ความเป็นจริงข้อสงสัยนี้มันอาจจะสาเหตุมาจากหลายอย่าง บางคนอยากรู้แต่บางคนก็มีความคิดที่ยาวไกลกว่านั้น เพราะคำตอบมันไม่ใช่ว่าของเหล่านี้จะจับต้องไม่ได้ นั่นหมายความว่ามันสามารถแลกเปลี่ยนเป็นของที่มีมูลค่าได้ และนั่นคือความจริง แต่ความจริงไม่ได้ง่ายเหมือนการที่เราคิด เพราะสิ่งของทั้งสามอย่างที่เราว่ามาหรือหยิบยกข้อสงสัยมา เมื่อมันเป็นของเก่าแต่พื้นฐานตัวมันคือของที่ต้องการพื้นที่ในการเก็บรักษา ตัวของมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อผู้ที่จะครอบครอง เมื่อคิดบวก ลบ คูณ หาร กับสิ่งที่จะได้คือมูลค่าจากของเก่าเหล่านี้ กับการจัดการที่ยุ่งยาก หลายคนจึงเลือกที่จะไม่สนใจเมื่อนำมันออกไปจากรถแล้ว
ของทั้งสามสิ่ง น้ำมันเครื่อง ยางรถยนต์ แบตเตอรี่เก่า ถึงจะผ่านการใช้งานมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถนำไปปรับปรุงและรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ในงานที่เหมาะสมกับคุณภาพของมันในระดับนั้น
น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วเมื่อถ่ายออกมา จะถูกนำไปเก็บรวบรวมเอาไว้ สาเหตุที่ต้องเก็บรวบรวมเอาไว้ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อม พวกน้ำมันนี้ไม่ควรจะทิ้งลงสู่สภาพแวดล้อม เพราะทำให้เกิดผลกระทบและมลพิษ และมันต้องมีปริมาณที่มากพอ จึงจะคุ้มค่ากับการแลกเป็นค่าเงิน ดังนั้นการที่จะเก็บของพวกนี้มันจึงจำเป็นต้องใช้ภาชนะ ใช้พื้นที่และการเก็บที่เหมาะสม ผู้ใช้รถหรือบุคคลทั่วไปจึงไม่นิยมที่จะเก็บของพวกนี้เพราะมีขั้นตอนมากในการจัดการ แต่ถ้าเป็นพวก อู่ สถานประกอบการพวกนี้เขามีภาชนะ มีพื้นที่ สะดวกต่อการเก็บ เมื่อได้ปริมาณก็จำหน่ายแลกเป็นเงินมา ทั้งนี้พวกน้ำมันเครื่องใช้แล้วส่วนหนึ่งถูกนำไปรีไซเคิล ด้วยกระบวนการจากสถานประกอบการที่มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฏหมาย ตัวน้ำมันนำมาใช้ใหม่ ในงานหล่อลื่นตามเครื่องจักรหรืองานอุตสาหกรรมที่ใช้คุณภาพในการหล่อลื่นไม่สูงนัก หรือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หรือนำไปผสมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอย่าง พลาสติก ยางมะตอย หรือกระบวนการที่ตัวน้ำมันที่ใช้แล้วเหลือคุณภาพรองรับได้
ยางรถยนต์ที่ใช้แล้วก็เช่นเดียวกัน มันจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมันถูกส่งถึงมือของแหล่งรีไซเคิลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือและศักยภาพเพียงพอในการทำให้มันนำกลับไปใช้งานที่เหมาะสมได้ ตรงนี้ไม่นับรวมยางใช้แล้วที่ถูกนำไปใช้ซ้ำในรูปแบบยางเปอร์เซ็นต์ ตรงนั้นคือส่วนที่มีมูลค่าในระดับหนึ่ง แต่กับยางรถยนต์ที่ใช้แล้วจนเกือบหมดสภาพ จะเห็นว่ามันถูกทิ้งขว้างเหมือนไม่มีมูลค่า มันคือเหตุผลเดียวกับของเก่าของใช้แล้วอื่นๆ ต้องมีการเก็บให้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะขายให้ได้เงินจำนวนมากพอถึงความคุ้มค่า ไหนจะต้องใช้พื้นที่เก็บมากเท่าไหร่ การจัดการกับยางรถยนต์จำนวนมากไม่ใช่เรื่องเบาๆ ถ้าไม่มีกำลังคนหรือเครื่องจักรพื้นที่ มันก็ไม่คุ้มที่จะเก็บในรายย่อย
ทั้งน้ำมันเครื่อง ยางรถยนต์พวกนี้จะมีกลุ่มอาชีพรับซื้อ พวกนี้จะมีการรวบรวมปริมาณให้มากพอและนำไปจำหน่าย โดยยางรถยนต์จะแยกเอาส่วนประกอบที่เป็นโลหะอย่างพวกโครงเหล็ก ลวดในยางออกมา และย่อยยางให้เป็นชิ้นเล็กสามารถนำกลับไปหลอมทำใหม่หรือบางส่วนนำไปหลอมทำพลาสติก หรือมีการเผาทำลายใช้เป็นเชื้อเพลิง
แบตเตอรี่เก่านั้น ดูจะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าน่าสนใจสำหรับเจ้าของรถหรือรายย่อย เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ ลูกเก่าจะถูกบวกราคาเป็นส่วนลดในการซื้อหาแบตเตอรี่ลูกใหม่ ถือว่ามีมูลค่าไม่น้อย ส่วนลดนี่บางลูกได้หลายร้อยบาทเลยทีเดียว แต่ถ้าเอาไปขายเองมันจะถูกชั่งกิโลไม่ต่างไปจากของเก่าอื่นๆ ส่วนหนึ่งของแบตเตอรี่เก่าถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งที่มาในลักษณะเดิมคือนำไปผ่านกระบวนการล้างสิ่งสกปรกในแบตเตอรี่ ซึ่งมันจะสามารถนำกลับมาใช้ได้สักระยะหนึ่ง อาจจะพบได้ตามตลาดล่างในราคาที่ถูกลง
กับอีกส่วนหนึ่งซึ่งมันถูกส่งเข้าแยกชิ้นส่วน แยกวัสดุและนำเข้าสู่การรีไซเคิล เนื่องจากส่วนประกอบของแบตเตอรี่เป็นวัสดุที่มีค่า พลาสติก ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง เมื่อแยกแล้วก็สะสมเพื่อรอการจำหน่ายไปใช้ในอุตสากรรมอื่นที่ต้องการต่อไป
เรื่องที่เรามาพูดถึงที่ไปสุดท้ายของสิ่งใช้แล้วจากรถยนต์พวกนี้ มันเป็นภาพสะท้อนของการจัดการอุตสาหกรรมไทย ประเทศไทยมีการทิ้งของที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจมากมาย สาเหตุเพราะจุดเริ่มต้นมันไม่สะดวก ตั้งแต่การจัดเก็บ การขนส่ง โรงงานรีไซเคิลใหญ่ๆ ที่มีเครื่องจักรซึ่งมีศักยภาพ รวมทั้งความรู้ในการจัดการจะมีน้อย แค่เพียงรับของจากนิคมอุตสาหกรรมหรือแหล่งโรงงานใหญ่ๆ ก็มากมายเกินจนแทบรับไม่ไหวแล้ว
ส่วนที่เหลือจึงเป็นปัญหาของการจัดการ บางแห่งเกิดปัญหามลพิษ เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง แต่ยังมีหน่วยงานย่อยอย่างซาเล้งเก็บของเก่า พวกเขาเหล่านั้นคือผู้รวบรวมของที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางเพื่อกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล
บทสรุปคือของที่ใช้แล้วบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ได้ แต่กระบวนการที่จะนำมันไปสู่สถานที่รีไซเคิล ยังไม่เป็นระบบ การจัดการขยะของประเทศไทยไม่มีมาตรฐานอะไรทั้งสิ้นในทางปฏิบัติ ขยะจากบ้านเรือนทุกอย่างผสมกันหมด ถ้าทุกคนยอมรับความจริง ทำเรื่องแยกขยะให้สำเร็จได้เสียก่อนค่อยมาว่ากันต่อไป
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ขอบคุณภาพ : www.business-ethics.com / www.besttyre.co.nz / www.chulavistaca.gov / www.usgreentechnology.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th