น้ำมันเครื่องหายอันตรายกว่าที่คิด…
“น้ำมันเครื่องหาย” ไม่ได้หมายถึงน้ำมันเครื่องถูกขโมยหรือเอาไปเก็บไว้ที่ไหนไม่รู้หรือจำไม่ได้แบบที่เรียกว่าหาย แต่ในที่นี้คือน้ำมันเครื่องซึ่งเราเติมลงไปในเครื่องยนต์ปริมาณหนึ่ง แต่เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งปริมาณน้ำมันเครื่องมันลดลงเหลือไม่เท่าเดิม ซึ่งเราอาจจะรู้ได้ทั้งตอนที่มันยังอยู่ในเครื่องยนต์กับเครื่องยนต์ที่มีก้านวัดน้ำมันเครื่องมาให้ หรือเมื่อเราถ่ายน้ำมันเครื่องออกมาแล้วลองวัดปริมาณดูแล้วมันต่างกันมากกับตอนที่เติมลงไป
ปริมาณที่หายไปมันมีทั้งที่เป็นปริมาณที่อยู่ในระดับปกติที่สามารถหายได้ และปริมาณที่ต้องให้ความสนใจในการหายไปของมัน เพราะการที่น้ำมันเครื่องหายไปมากอันตรายเกินกว่าที่คิด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันเครื่องที่หายปริมาณแค่ไหนถึงจะไม่อันตราย และทำอย่างไรน้ำมันเครื่องถึงจะไม่หาย อีกทั้งน้ำมันเครื่องมันหายไปได้อย่างไร
น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีทั้งแบบที่เป็นเกรดรวมและเกรดเดียว คือตัวเลขของความหนืดน้ำมันเครื่อง ตรงนี้เพียงเข้าใจเอาไว้ว่าถ้าเป็นน้ำมันเครื่องเกรดเดียวจะมีอัตราการระเหยหรือน้ำมันเครื่องหายน้อยกว่าแบบที่เป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวม เพราะอัตราความหนืดของน้ำมันคงที่ แต่ก็จะมีประสิทธิภาพในการหล่อลื่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะได้ว่ากันในคราวต่อไป แต่ตอนนี้ให้เข้าใจเรื่องความหนืดกับการระเหยตัวของน้ำมันเครื่องไว้ก่อน
ส่วนต่อมาคือเรื่องของความร้อนหรืออุณหภูมิในการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งแน่นอนว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์จะยิ่งสูงถ้ามีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ใช้รอบเครื่องยนต์สูง การขับขี่ในพื้นที่อับอากาศ ความเร็วในการเคลื่อนตัวช้าอย่างเช่นบริเวณการจราจรที่ติดขัด และยิ่งถ้าระบบระบายความร้อนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือเครื่องยนต์สกปรกยิ่งทำให้ความร้อนระบายออกได้ลำบาก ตรงนี้ความร้อนสะสมจะสูง ความร้อนนี้คือตัวหลักที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของน้ำมันเครื่อง น้ำมันเครื่องที่มีอุณหภูมิสูงจะมีการระเหยตัวได้ ทีละเล็กละน้อยในทุก ๆ ครั้งของการใช้งาน
น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์นั้นจะระเหยจากความร้อนที่ได้รับจากเครื่องยบนต์ ซึ่งนอกจากความร้อนที่เกิดขึ้นและสะสมอยู่ในตัวน้ำมันเครื่องจากเหตุปัจจัยที่ว่ามาแล้ว มันยังต้องดูเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของน้ำมันเครื่องด้วย เพราะบางครั้งน้ำมันเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงถึงจะเป็นแบบเกรดรวมแต่ตัวมันทำให้เครื่องยนต์ลื่น ชิ้นส่วนภายในมีความฝืดน้อย ความร้อนที่เกิดขึ้นก็จะน้อยกว่า อีกทั้งถ้ามันเป็นน้ำมันเครื่องที่สามารถระบายความร้อนได้ดี อัตราการระเหยตัวก็จะน้อยกว่า
ในทุกช่วงของการใช้งานถ้าได้มีการตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องอยู่เป็นประจำ ด้วยการใช้ก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องซึ่งต้องดูวิธีการวัดที่ถูกต้องของแต่ละรุ่นว่าใช้ลักษณะของการวัดแบบไหน เช่นจุ่มก้านวัดลงไปโดยไม่ต้องหมุนปิดแน่น แล้วชักขึ้นมาดู ซึ่งมันอาจจะไม่สะดวกบ้างในการใช้งานถ้าต้องคอยมาวัดระดับน้ำมันเครื่องแต่ถ้าเทียบกับความเสียหายหากระดับน้ำมันเครื่องต่ำกว่าปริมาณที่ใช้งานได้นั่นหมายถึงจะต้องเสียเงินจำนวนมากในการซ่อมแซม หรืออาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้หากเครื่องยนต์ร้อนจัดจนหยุดการทำงานกะทันหันในขณะขับขี่ใช้งานอยู่ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
อย่างที่เราบอกไปว่าน้ำมันเครื่องสามารถที่จะหายได้ในปริมาณหนึ่งซึ่งไม่ส่งผลต่อการทำงาน ดูจากระดับก้านวัดซึ่งจะมีขีดต่ำสุดระดับน้ำมันเครื่องไม่ควรต่ำกว่านั้น โดยมากในช่วงระยะเวลาการใช้งานวงรอบปกติน้ำมันเครื่องจะไม่หายไปมากจนเกินระดับอันตราย แต่ถ้ามันหายไปมากแบบที่เราสังเกตได้ ต้องตรวจสอบการรั่วไหลหรือการรั่วในระบบเครื่องยนต์ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องยนต์ที่ปกติมันจะไม่มีปัญหานี้อย่างแน่นอน นอกเสียจากว่าไม่ได้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นระยะเวลานาน หรือมีการใช้งานที่หนักหน่วงแบกน้ำหนักบรรทุก ขับขี่ขึ้นทางลาดชันต่อเนื่องหรือใช้ความเร็วรอบสูงต่อเนื่องแบบนี้ต้องย่นระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายให้เร็วกว่าเดิม 30-40 เปอร์เซ็นต์
บทสรุปสำหรับการหายไปของปริมาณน้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ ถ้าเครื่องยนต์ไม่มีการรั่วไหลในระบบ การหายไปบางส่วนถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหายมากกว่าระดับที่กำหนดต้องดูว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นอย่างนั้น แต่อย่าลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นคุณภาพน้ำมันเครื่องและระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่าย โดยเฉพาะคนที่ใช้รถในเมืองการจราจรแออัด ขับใช้รอบสูงและต้องดับเครื่องติดเครื่องบ่อยครั้ง แบบนี้น้ำมันเครื่องจะสะสมอุณหภูมิสูง ต้องระวังอย่าปล่อยปะละเลย น้ำมั้นเครื่องจำเป็นอย่าใช้ของไม่ได้คุณภาพและอย่ารอเปลี่ยนถ่ายตามกำหนด ควรเลื่อนให้เร็วกว่าเดิม ไม่ต้องกลัวเปลืองเพราะบ้านเราเมืองร้อน ฝุ่นควันเครื่องยนต์สกปรกง่าย เสียค่าน้ำมันเครื่องดีกว่าเสียเงินผ่าเครื่อง…
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ขอบคุณภาพ: www.sportrider.com / www.i.ytimg.com / www.blog.motoringassist.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th