บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง เสริมแกร่งเครือข่ายการผลิตส่งออกในทวีปเอเชีย
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายการผลิตระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยู ผนึกกำลังด้วยการส่งออกรถยนต์บีเอ็มอับเบิลยู X5 ใหม่ไปยัง ประเทศจีน และส่งออกมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู R 1250 GS ไปยังประเทศอินเดีย สานความสำเร็จต่อเนื่องพร้อมตอบรับแนวทางการดำเนินงานของโรงงานในเครือข่ายบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปทั่วโลกในการผนึกกำลังการผลิตระหว่างโรงงานต่างๆในเครือข่ายเพื่อสร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งภายในประเทศและในทุกภูมิภาคทั่วโลก และขับเคลื่อนความสามารถทางการผลิตระหว่างโรงงานในเครือข่ายอย่างเต็มสูบครบทั้งสามแบรนด์
มร. อูเว่ ควาส กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า “ในปัจจุบัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มีโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ในเครือข่ายทั้งหมด 31 แห่ง ใน 15 ประเทศทั่วโลก มุ่งประสานความร่วมมือจากโรงงานแต่ละแห่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรและกำลังการผลิต ทำให้เรามีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาในตลาดต่าง ๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานในปี 2543 เราได้ใช้เงินลงทุนจำนวน 5.47 พันล้านบาท (ประมาณ 143 ล้านยูโร) ในการก่อสร้างและขยายกระบวนการประกอบ และได้ลงทุนเพิ่มอีก 818.6 ล้านบาท (ประมาณ 21 ล้านยูโร) ในปี 2561 โดยที่ยังคงรักษามาตรฐานระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยูไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากร เช่นเดียวกับเครือข่ายการผลิตของบีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก”
นอกจากการส่งออกบีเอ็มดับเบิลยู X5 ไปยังประเทศจีนแล้ว บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ยังเดินหน้าเสริมศักยภาพการประกอบมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด โดยตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เริ่มการส่งออกรถแอดเวนเจอร์ไบค์ใหม่ไปยังประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีนและอินเดีย การร่วมผนึกกำลังกับประเทศอินเดียนั้นอยู่ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพทางการผลิตระหว่างโรงงานในเครือข่ายบีเอ็มดับเบิลยูให้มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ เพื่อรองรับความร่วมมือในเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เรายังได้ยกระดับกลยุทธ์การผลิตเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราได้เสริมความแข็งแกร่งระหว่างประเทศในเครือข่าย สะท้อนถึงกลยุทธ์ ‘Production follows the Market’ ที่มุ่งปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับข้อกำหนดและบริบทในแต่ละประเทศ ทำให้เราสามารถนำเสนอราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น สนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของเครือข่ายการผลิตในประเทศไทยและมาเลเซีย เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้” มร. อูเว่ กล่าวเสริม
คุณเปรมมณีย์ ทรัพย์โชคไชย พาณิชย์จังหวัดชลบุรี กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ในฐานะประเทศที่มีกำลังการผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนของบีเอ็มดับเบิลยูในโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดระยอง ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่แสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทยด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานระดับโลก ในโอกาสนี้ ดิฉันจึงขอแสดงความยินดีกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทยกับความสำเร็จด้านการส่งออก และเชื่อว่าบีเอ็มดับเบิลยูจะยังเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยในด้านยนตรกรรมต่อไป”
คุณนิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า “สำนักงานศุลกากรยินดีเป็นอย่างยิ่งกับอีกความสำเร็จของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ที่ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายทั้งด้านการผลิตและการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียนและในระดับภูมิภาคเอเชีย เราจะยังคงสนับสนุนการดำเนินงานในเขตปลอดอากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ในนามของสำนักงานศุลกากรและกระทรวงการคลัง เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป”
โรงงานของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง ถือเป็นหนึ่งในโรงงานประกอบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมากที่สุดในเครือข่ายทั่วโลกของบีเอ็มดับเบิลยู รองรับการประกอบยนตรกรรมของทั้งบีเอ็มดับเบิลยูและบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ทั้งหมด 14 รุ่น ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 Gran Turismo บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 บีเอ็มดับเบิลยู X1 บีเอ็มดับเบิลยู X3 และ บีเอ็มดับเบิลยู X5 สำหรับบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู F750 GS บีเอ็มดับเบิลยู F 850 GS บีเอ็มดับเบิลยู F 850 GS Adventure บีเอ็มดับเบิลยู R 1250 GS บีเอ็มดับเบิลยู R 1250 GS Adventure บีเอ็มดับเบิลยู S 1000 R บีเอ็มดับเบิลยู S 1000 RR และ บีเอ็มดับเบิลยู S 1000 XR โดยมีบุคลากรกว่า 950 คน และยังคงมีแผนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถ่ายทอดทักษะความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานในระดับโลกเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสร้างรายได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นอกเหนือจากความสามารถในด้านการผลิตแล้ว บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังยึดมั่นในหลักการแห่งความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินงาน อันเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไม่เพียงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในกระบวนการการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น แต่ยังมุ่งเสริมกำลังในเครือข่ายการผลิตเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ในปี 2561 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปได้สร้างสติถิใหม่ในการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการผลิตรถยนต์ 1 คัน ซึ่งลดลงถึง 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็น 0.40 ตัน/คัน โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขดังกล่าวนี้ได้ลดลงถึง 39% สอดคล้องกับอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมจากเครือข่ายการผลิต ที่ลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่ก่อนหน้า แสดงให้เห็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงเจตนารมณ์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ทั้งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่อนาคตแห่งยนตรกรรมที่มีความยั่งยืน
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th