บ๊อชโชว์ความล้ำที่ตอบโจทย์ “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” ในงาน CES 2020
บ๊อช พร้อมนำผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อเพื่อเทคโนโลยีการขับเคลื่อนและการใช้ชีวิตในบ้าน จัดแสดงในงาน CES2020 ที่ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีไฮไลท์อยู่ที่โซลูชั่นส์ซึ่งนำเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ หรืออาจเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาหรือสร้างขึ้นมาโดยมี AI เป็นตัวช่วย ซึ่งผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีต่างมุ่งหวังให้ AI เป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยทรงพลัง และอธิบายได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้เพื่อการผลิต ใช้ในบ้านอัจฉริยะ หรือการขับขี่อัตโนมัติ
รางวัล CES 2020 Innovation Awards สำหรับโซลูชั่นส์อันโดดเด่นของบ๊อช
สำหรับงาน CES 2020 ที่ใกล้จะมาถึงนี้ บ๊อช ได้รับรางวัล Innovation Awards ถึง 2 รางวัลด้วยคะแนนสูงสุด จากจอแสดงผล 3 มิติในรถยนต์ ผลงานการสร้างสรรค์ครั้งแรกของโลกโดยสายงาน Car Multimedia ของบ๊อช ซึ่งยังได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุด Best of Innovation อีกด้วย สำหรับรายละเอียดสามารถติดตามได้ในงาน CES 2020 นอกจากนี้ บ๊อชยังได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์เพิ่มอีก 1 รางวัล ซึ่งนับเป็นการรับรางวัลกิตติมศักดิ์ครั้งที่ 3 แล้ว จากผลงานโซลูชั่นส์ของบ๊อชด้านการดูแลสุขภาพ โดยจะมีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในงาน CES 2020 สำหรับรางวัล CES Innovation Awards นี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสมาคม Consumer Technology Association (CTA) ได้แบ่งกลุ่มประเภทรางวัลไว้ 28 ประเภท ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรม
จอแสดงผล 3 มิติ – เสริมมุมมองมิติที่สามในห้องคนขับ: จอแสดงผล 3 มิติ ของบ๊อชใช้เทคโนโลยี 3 มิติแบบ passive เพื่อให้เกิดภาพและสัญญาณเตือนแบบ 3 มิติที่สมจริง จากการจับข้อมูลภาพที่เร็วขึ้นกว่าจอธรรมดา ลดโอกาสที่ผู้ขับขี่จะเสียสมาธิหรือละสายตาไปที่อื่น นอกจากนี้ หน้าจอยังแสดงผลที่ให้รายละเอียดความลึกของภาพได้ดี โดยไม่ต้องมีฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่างการติดตามการมอง (eye tracking) หรือแว่น 3 มิติ
นวัตกรรมของบ๊อชที่ “ต้องจับตาดู”
SoundSee ระบบโสตอัจฉริยะสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติ (AI inside): ระบบ SoundSee ของ บ๊อช มีขนาดกะทัดรัด ใหญ่กว่ากล่องข้าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยี AI ที่ก้าวล้ำที่สุด ปัจจุบัน ระบบนี้ได้ออกไปท่องวงโคจรในอวกาศ และจะได้ประจำฐานปฏิบัติการของสถานีอวกาศนานาชาติ ระบบ SoundSee ขึ้นไปท่องวงโคจรกับหุ่นยนต์ Astrobee ของนาซ่าและทำงานโดยใช้ไมโครโฟนแบบครบวงจร สามารถจับเสียงสภาพแวดล้อมในอวกาศได้ และวิเคราะห์เสียงต่างๆ ด้วยระบบอนาลิติกส์จาก AI ทำให้สามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และส่งสัญญาณให้ทราบว่าจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาแล้ว ในช่วงต้นปี 2020 นี้ จะมีการนำส่งข้อมูลเสียงที่ SoundSee ตรวจจับไปให้สถานีควบคุมภาคพื้นดินที่สร้างขึ้นตามแบบของนาซ่า ซึ่งทำหน้าที่เป็น Bosch Research Center ณ เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ทั้งนี้ บ๊อชได้พัฒนา SoundSee ร่วมกับ Astrobotic ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยร่วมกับนาซ่า
แว่นตาอัจฉริยะ Light Drive – ให้ข้อมูลอยู่ในสายตาตลอด: Bosch Sensortec นำเสนอ แว่นตาอัจฉริยะ Light Drive ที่นับได้ว่าเป็นโซลูชั่นแรกในโลกที่ทำให้แว่นตาธรรมดากลายเป็นแว่นอัจฉริยะได้ ด้วยการทำงานของระบบฉายภาพครบวงจร ประกอบด้วย กระจกระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาค (MEMS mirror) กลไกการมองเห็น ตัวเซนเซอร์ และซอฟต์แวร์เชื่อมต่ออัจฉริยะ สำหรับแว่นตาอัจฉริยะ Light Drive ตัวนี้ มีความบางเพียงหนึ่งในสามของโซลูชั่นที่เคยมีในตลาด และมีน้ำหนักไม่ถึง 10 กรัม ให้ภาพที่ใสและคมชัด ผู้ใช้มองเห็นได้ชัดเจนแม้ในภาวะแสงจ้า แสดงข้อมูลและข้อความให้เห็น รวมไปถึงปฏิทินและคำสั่งการทำงานต่างๆ ตามที่ได้รับมาจากสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทวอช
ระบบติดตามภายใน เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับทุกคนในรถ (AI inside): ระบบติดตามภายในรถยนต์ของบ๊อช สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเปลือกตา ทิศทางการเหลือบมอง และท่าทางการนั่ง และตรวจจับได้ว่าผู้ขับกำลังง่วงหรือมองที่สมาร์ทโฟนอยู่หรือไม่ จากนั้นจึงส่งสัญญาณเตือนผู้ขับให้ระวังเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ นอกจากนี้ ยังติดตามด้วยว่าภายในรถยนต์นั้น มีผู้โดยสารกี่คนและนั่งอยู่ในที่หรือไม่ เทคโนโลยีนี้จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่าระบบความปลอดภัย เช่น ถุงลมนิรภัย จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับทุกคน เช่น จะทำงานโดยอัตโนมัติตามข้อมูลการปรับที่นั่งที่ระบบบันทึกไว้ ในอนาคตเมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนในโหมดกึ่งอัตโนมัติสำหรับการเดินทางบางช่วง เช่น บนทางด่วน ระบบติดตามผู้ขับขี่จะกลายเป็นเทคโนโลยีคู่ใจที่ขาดไม่ได้ เพราะกล้องติดตามจะช่วยให้ผู้ขับขี่กลับมาบังคับรถได้อย่างปลอดภัย
Bosch IoT Shuttle – อนาคตแห่งการขับเคลื่อน: ในอนาคต ผู้ให้บริการการขับเคลื่อนจะใช้รถโดยสารมาให้บริการตามสั่งกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าหรือรับส่งผู้โดยสาร ในงาน CES 2020 ครั้งนี้บ๊อชได้นำเทคโนโลยี IoT สำหรับรถโดยสารมาแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะด้านโซลูชั่นส์ที่บ๊อชสามารถตอบสนองแก่ค่ายรถต่างๆ ได้ รวมทั้งสามารถให้บริการระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบเชื่อมต่อ และการปรับแต่งรถโดยสารให้เข้ากับความต้องการ ซึ่งยกระดับไปไกลกว่าอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่รวมกันเป็นตัวรถ แต่ให้ได้ครอบคลุมถึงบริการการขับเคลื่อนที่มีระบบเชื่อมต่อกัน ให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้ใช้ เพราะสามารถปรับให้เข้ากับการใช้งาน การจัดการ การชาร์จพลังงาน และบำรุงรักษา รวมทั้งช่วยให้การเดินทางแต่ละครั้งปลอดภัย
การขับเคลื่อนแห่งอนาคต: โซลูชั่นส์และบริการเด่น
กล้องหน้าอัจฉริยะ: เข้าใจโลกของคอมพิวเตอร์และ AI (AI inside): ตัวกล้องทำหน้าที่ตรวจจับวัตถุและจำแนกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มรถยนต์ คนเดินเท้า หรือ จักรยาน พร้อมทั้งวัดค่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถแปลสิ่งที่เห็นและแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นช่องทางวิ่ง ไหล่ทางที่มีหญ้า หรือสิ่งก่อสร้างข้างถนน แม้จะไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ บนถนน หากอยู่ในเมืองที่มีรถติด กล้องก็สามารถจับภาพและแยกแยะสิ่งที่เห็นชัดบางส่วนหรือวิ่งตัดหน้า ไม่ว่าจะรถยนต์ คนเดินเท้า หรือคนขี่จักรยาน ได้อย่างรวดเร็วและเชื่อถือได้ ช่วยให้รถยนต์ส่งสัญญาณเตือนหรือเบรกฉุกเฉินได้ ระบบกล้องอัจฉริยะทำงานด้วยความเชี่ยวชาญของบ๊อชที่รวมกันอยู่ในชิปหนึ่งตัว เรียกว่า V3H ผลิตโดยบริษัท Renesas จากญี่ปุ่น เทคโนโลยีนี้ ยังช่วยพัฒนาการทำงานของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ และต่อยอดการนำไปใช้ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถนำไปเสริมประสิทธิภาพของระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้รถไปชนสัตว์ต่างๆ ได้
เรดาร์เซนเซอร์ – เซนเซอร์รอบด้านเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขับขี่ที่ซับซ้อน: เรดาร์เซนเซอร์รุ่นล่าสุดของบ๊อช มีประสิทธิภาพตรวจจับสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมรถยนต์ได้ดีขึ้น ซึ่งรวมทั้งสภาพอากาศที่ย่ำแย่และแสงที่ไม่เอื้ออำนวย เซนเซอร์ใหม่สามารถตรวจจับในระยะที่ไกลขึ้น รูรับแสงกว้างขึ้น และมีความละเอียดเชิงมุมมากขึ้น ส่งผลให้ระบบเบรกอัตโนมัติมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เชื่อมั่นได้มากขึ้น
ระบบบริการที่จอดรถอัตโนมัติอย่างครบวงจร: ผลงานความร่วมมือระหว่างบ๊อชและเดมเลอร์ (Daimler) ตามมาตรฐานสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ (SAE) ระดับ 4 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นรายแรกในเยอรมนี โดยตัวเซนเซอร์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของที่จอดรถและเทคโนโลยีการสื่อสารที่ใช้นั้นมาจากบ๊อช ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2021 จะมีที่จอดรถ 12 แห่งที่ติดตั้งระบบบริการที่จอดรถอัตโนมัติ ปัจจุบัน บ๊อชทำงานร่วมกับผู้ให้บริการที่จอดรถ และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายสำคัญ
คอมพิวเตอร์ในรถยนต์ – สถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในยุคถัดไป: กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่อนาคตแห่งระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเชื่อมต่อกันและทำงานโดยอัตโนมัติ ก็คือสถาปัตยกรรมระบบอิเล็กทรอนิกส์ การมีระบบควบคุมรถยนต์แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่เพียงทำให้ยานยนต์มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต แต่การที่จำนวนกล่อง ECU ก็ลดลงด้วยนั้น ทำให้น้ำหนักของยานยนต์ลดลง และทำให้การทำงานของอุปกรณ์ชิ้นส่วนประสานกับระบบต่างๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ของบ๊อชจะมีพลังการประมวลผลเพิ่มขึ้นได้ถึงพันเท่าในช่วงต้นทศวรรษหน้า โดยบ๊อชได้เริ่มสร้างคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้ขึ้นมาแล้ว เพื่อรองรับระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบส่งกำลังรถยนต์ และการผนวกระบบอินโฟเทนเมนต์เข้ากับฟังก์ชันช่วยเหลือผู้ขับขี่
คีย์เลสอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนเป็นกุญแจรถ: ในอนาคต ระบบคีย์เลสสมบูรณ์แบบจะทำได้ โดยอาศัยบลูทูธสื่อสารระหว่างรถยนต์และสมาร์ทโฟน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสื่อสารใหม่บนสัญญาณ UWB (ultra-wideband) ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนบางรุ่นแล้ว สัญญาณ UWB จะทำให้สมาร์ทโฟนปรับค่าให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใกล้ๆ ในระยะ 2-3 เซนติเมตร ช่วยให้การสื่อสารกับรถยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้นเป็นพิเศษ ปัจจุบันบ๊อชทำงานร่วมกับพันธมิตรในการวางมาตรฐานการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างสมาร์ทโฟนและรถยนต์ ในงาน CES 2020 ครั้งนี้ บ๊อชจะนำเสนอรถยนต์สาธิตที่ใช้ระบบคีย์เลสสมบูรณ์แบบผ่านทางสัญญาณ UWB เป็นครั้งแรก
ระบบเซลล์เชื้อเพลิง – การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางไกลๆ: เซลล์เชื้อเพลิงเคลื่อนที่ ที่สามารถพกพาไปไหนต่อไหนได้ ทำให้มีพลังงานใช้ได้ยาวนานขึ้น พร้อมกับใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงน้อยลง อีกทั้งผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้การใช้รถขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน บ๊อชร่วมกับบริษัทสัญชาติสวีเดนชื่อ Powercell พัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงในเชิงพาณิชย์ นอกจากมีหน่วยเซลล์เชื้อเพลิงที่แปลงไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้แล้ว บ๊อชยังพัฒนาองค์ประกอบที่จำเป็นต่อระบบโดยรวมขึ้นมา เพื่อให้พร้อมก้าวสู่ขั้นตอนการผลิต
ระบบช่วงล่าง (Rolling chassis) – แพลตฟอร์มของระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า: ระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า ระบบบังคับเลี้ยว และเบรก ต่างเป็นองค์ประกอบของระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าที่บ๊อชสร้างขึ้นมารองรับ โดยได้พัฒนาร่วมกับบริษัท Benteler ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแชสซีและเทคโนโลยียานยนต์ และบริษัทได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ของบ๊อชทั้งหมดที่มีสำหรับยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้ ระบบช่วงล่างก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้บ๊อชปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ได้
E-axle – เทคโนโลยี SiC สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง: บ๊อชได้นำเสนอชุดขับเคลื่อนสมรรถนะสูงรุ่นใหม่ e-axle ที่ใช้โซลูชั่นส์เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพและกำลังไฟฟ้าที่อัดแน่นในระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ชุดส่งกำลังรุ่นใหม่นี้ โดดเด่นด้วยประสิทธิภาพของระบบที่ดีขึ้นได้ถึง 96 เปอร์เซนต์ ทำให้รถเดินทางได้นานขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์จากรอบการทดสอบตามมาตรฐาน WLTP ด้วยกำลังไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ต่อกิโลกรัม ทำให้ชุดขับเคลื่อนนี้มีกำลังไฟที่หนาแน่นกว่า e-axle รุ่นเดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ พัฒนาการเหล่านี้เป็นผลมาจากวิทยาการเชิงวิศวกรรมของซิลิคอนคาร์ไบด์เซมิคอนดักเตอร์ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า รวมทั้งการจัดวางอุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์กำลัง และระบบส่งกำลัง ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ได้มาก
ระบบ Connected biking – โซลูชั่นส์ที่ให้ประสบการณ์การขี่สองล้อแบบ 2.0:
สมองกลคอมพิวเตอร์ Kiox ที่ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่อง ช่วยให้ผู้ขี่เห็นข้อมูลการฝึกซ้อม เช่น ความเร็ว จังหวะการเต้นของหัวใจ และสมรรถนะของตนเองได้ตลอดเส้นทาง เมื่อกิจกรรมสิ้นสุดลง ก็สามารถประเมินข้อมูลในแอปพลิเคชัน eBike Connect บนสมาร์ทโฟนหรือทางพอร์ทัลออนไลน์ได้ นอกจากนี้ Kiox ยังเพิ่มฟังก์ชันระดับพรีเมียมให้ด้วย เช่น ฟังก์ชัน Lock ที่ช่วยป้องกันการขโมยข้อมูลดิจิทัล ขณะเดียวกัน SmartphoneHub ก็ช่วยให้ผู้ใช้เพลิดเพลินไปกับโลกแห่งการเชื่อมต่อในขณะที่ขี่จักรยานอยู่ได้ด้วยแอปพลิเคชัน COBI.Bike ซึ่งมีฟีเจอร์มากมายหลายฟังก์ชัน ทั้งการนำทางและติดตามการออกกำลังกาย ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับบริการหรือแอปฯ ภายนอก เช่น Apple Health, Google Fit และ komoot
ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ให้ความปลอดภัยและสะดวกสบาย ไม่ว่าบนท้องถนนหรือที่บ้าน
ระบบ Home Connect – แพลตฟอร์มขยายที่รองรับได้สำหรับทุกคน: บ๊อชกำลังขยายขอบเขตการให้บริการ IoT ในที่พักอาศัย โดย Home Connect เป็นแพลตฟอร์ม IoT แบบเปิดที่เชื่อมต่อทุกอย่างให้เข้ากับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านได้ ทั้งที่เป็นของบ๊อชหรือของแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบัน มีพันธมิตรร่วมให้บริการประมาณ 40 ราย และจะขยายจากห้องครัวไปยังส่วนอื่นๆ ในบ้าน ในช่วงกลางปี 2020 ระบบ Home Connect จะเริ่มให้บริการการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ระบบแสง ระบบทำความร้อน ระบบรักษาความปลอดภัย และความบันเทิงต่างๆ จากหลากหลายผู้ผลิต และจะมีกิจการพันธมิตรมาร่วมให้บริการมากขึ้นเป็นทวีคูณ ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายและยกระดับประสิทธิภาพของการใช้ชีวิตในบ้านให้มากขึ้นไปอีก
Application Store – ทุกอย่างมีครบจบในที่เดียว: ระบบเชื่อมต่อ IoT คือหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย ขณะนี้ บริษัทในเครือของบ๊อช คือ Security and Safety Things ได้พัฒนาแพลตฟอร์มไอทีของตนเองขึ้นมา เพื่อเชื่อมต่อให้อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลในวิดีโอและแอปพลิเคชั่นการรักษาความปลอดภัยในอาคารและสำนักงานต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงไม่ต้องเสียเวลาทดสอบว่าแอปพลิเคชันใดจะทำงานเข้ากับระบบที่ต้องการได้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากแอปพลิเคชันตัวอย่างที่แสดงในส่วน “Connected living and mobility” ที่งาน CES 2020
Spexor ให้คุณรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจได้ทุกที่ทุกเวลา: อุปกรณ์เตือนพกพาที่เป็นเพื่อนคู่ใจไปได้ทุกที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ในรถยนต์ รถบ้าน หรือโกดังเก็บของ Spexor จะคอยสอดส่องและรายงานให้ทราบทันทีที่มีการบุกรุก อุปกรณ์ชิ้นนี้มีตัวเซนเซอร์ตรวจจับเสียง การเคลื่อนไหว แรงดันอากาศ รวมทั้งตัวรับสัญญาณ GPS เมื่ออุปกรณ์ตรวจจับได้ว่ามีผู้บุกรุกเข้ามาในบริเวณ จะส่งสัญญาณเตือนเข้ามาที่สมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ผ่าน Wi-Fi หรือระบบ LPWA ตามมาตรฐานเทคโนโลยี IoT แบบไร้สาย
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th