อุบัติเหตุ กับการประกันภัย…
เมื่อพูดถึงการทำ ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประกันภาคบังคับ และประกันภาคสมัครใจ โดยในความหมายของประกันภัยทั้ง 2 ประเภทถือว่าเข้าใจได้จากชื่อประเภทอยู่แล้วซึ่งในภาคบังคับคือ จำเป็นต้องทำ ถ้าหากไม่ทำถือว่าผิดกฎหมาย…
ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ ซึ่งประกันภาคบังคับจะเกี่ยวข้องกับบุคคล คือเป็นหลักประกันว่าผู้เสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นจะได้รับการรักษาเยียวยา และประกันภาคสมัครใจจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งกรณีในการเกิดอุบัติเหตุที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีการชนเกิดขึ้น ซึ่งเราเป็นฝ่ายผิด แต่ไม่ได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจเอาไว้ ส่วนคู่กรณีมีประกันภัยชั้น 1 คุ้มครองอยู่ จะสามารถแยกรายละเอียดเป็นหัวข้อได้ดังนี้
- แบ่งฝ่ายได้เป็น 2 ฝ่าย คือ ผู้ผิดที่ไม่มีประกันภาคสมัครใจ และคู่กรณีที่ถูกซึ่งมีประกันภัยภาคสมัครใจชั้น 1 ฝ่ายหลังจะมีเจ้าของรถกับตัวแทนบริษัทประกันรวมอยู่ด้วยกัน
- โดยหลักแล้วตัวแทนประกันจะเป็นคนเจรจาค่าเสียหายกับฝ่ายที่เป็นผู้ผิด ซึ่งผู้ผิดจะให้ใครมาช่วยเจรจาก็ได้แต่เมื่อตกลงค่าเสียหายกันได้แล้วเจ้าของรถจะต้องเป็นคนจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดให้กับทางฝ่ายที่ถูก
- รายละเอียดการซ่อมของประกันภัยรถยนต์ชั้น1 คือซ่อมกับทางศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้น หรืออู่นอกที่บริษัทประกันระบุไว้ และเมื่อซ่อมแล้วรถต้องมีสภาพเหมือนเดิม (หรือตามความพอใจของเจ้าของรถ)
- ฝ่ายที่ผิดต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งหมดในการซ่อมรถของอีกฝ่าย โดยไม่สามารถเรียกร้องให้นำรถคันที่ถูกชนไปซ่อมที่อู่อื่นได้ นอกเสียจากตกลงกับทางเจ้าของรถได้เท่านั้น (ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าของรถที่เป็นฝ่ายถูกชนคงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น)
- ในการตกลงค่าเสียหายที่เกิดจากการซ่อม ทางตัวแทนบริษัทประกันภัยจะเป็นคนดำเนินการ เริ่มจากการให้ฝ่ายที่ผิดลงชื่อยอมรับ และให้ทางศูนย์บริการหรืออู่ที่จะส่งซ่อมประเมินค่าเสียหายทั้งหมด หลังจากนั้นจะส่งจำนวนยอดค่าเสียหายให้กับฝ่ายผิด
- ถ้าหากฝ่ายที่ผิด ไม่ยินยอมจะจ่ายค่าเสียหายตามที่ตัวแทนประกันแจ้งไว้ หรือไม่มีความสามารถในการจ่ายเต็มจำนวน ก็จะเกิดกระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางฝ่ายตัวแทนประกันต่อไป ซึ่งผลออกมาโดยมากคือ ฝ่ายผิดจะต้องจ่ายค่าเสียหายตามจำนวนตัวเลขที่ศาลตัดสินออกมา โดยในกรณีที่ฝ่ายผิดไม่สามารถจ่ายได้เต็มจำนวน อาจจะมีคำสั่งให้ผ่อนจ่ายเป็นงวดจนครบจำนวน
จากลำดับขั้นตอนเหตุการณ์ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่ผิดแล้วไม่มีประกันภัยรถยนต์ชั้นใดเลยจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคู่กรณี รวมถึงเวลาที่เสียไปกับขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นเจ้าของรถควรพิจารณาการทำประกันรถยนต์ตามประเภทที่เหมาะสมกับตนเอาไว้สักหน่อยก็จะเป็นการบรรเทาทั้งทรัพย์สินและเวลาที่เสียไปได้
ประเภทของการประกันภัย
ประกันภัยสำหรับรถยนต์นั้น จะมีให้ผู้ใช้รถได้เลือกตามความเหมาะสมถึง 5 ประเภท มีตั้งแต่ประเภท 1, 2, 3, 2+ และ 3+ โดยแต่ละประเภทจะให้ความคุ้มครองต่างกันดังนี้
ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นประกันภัยภาคสมัครใจที่ได้รับความนิยมที่สุด ประกันภัยประเภท 1 ให้การคุ้มครองความเสียหายต่อยานพาหนะทั้งฝั่งผู้เอาประกันภัยและคู่กรณีเมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด ความบาดเจ็บทางร่างกาย ความเสียหายจากไฟไหม้ โจรกรรม หรือภัยธรรมชาติเช่น น้ำท่วม นอกจากนี้ยังคุ้มครองไปถึงความเสียหายต่อกระจกรถ และค่าใช้จ่ายในการลากจูงด้วย
ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 คุ้มครองชีวิตร่างกาย ความบาดเจ็บ ทรัพย์สินของคู่กรณี เมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด รวมถึงให้ความคุ้มครองความสูญหายและเหตุไฟไหม้ของตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย แต่ไม่คุ้มครองถึงตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยกรณีชน หรือ พลิกคว่ำ
ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 ให้ความคุ้มครองเฉพาะชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของคู่กรณี เมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดเท่านั้น
ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ ให้ความคุ้มครองเหมือนประเภท 2 แต่มีส่วนเพิ่มคือการให้ความคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น ในวงเงินที่ได้ซื้อไว้ เช่น 100,000 หรือ 150,000 บาท
ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ ให้ความคุ้มครองเหมือนประเภท 2 แต่มีเพิ่มเติมในส่วนของการให้ความคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น ในวงเงินที่ได้ซื้อไว้ เช่น 100,000 หรือ 150,000 บาท
การเปลี่ยนเป็นประเภทความคุ้มครองของประกันภัย
การเปลี่ยนประเภทของประกันภัยรถยนต์จากเดิมที่เคยทำอยู่ไปเป็นอีกประเภทหนึ่งสามารถที่จะทำได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนประเภทของการประกันภัย จะมีเงื่อนไขดังนี้…
เปลี่ยนในกรณีต่ออายุกรมธรรม์
ในเงื่อนไขการเปลี่ยนที่เป็นการต่ออายุกรมธรรม์ หากผู้ใช้รถต้องการเปลี่ยนประเภทความคุ้มครอง เช่น เดิมเคยทำประกันภัยรถยนต์ประเภทที่3 อยู่ ในปีต่อไปต้องการเปลี่ยนเป็นประเภทที่1 สามารถทำได้กับไดเร็ค เอเชีย หากรถยนต์มีอายุไม่เกิน 10ปี และในกรณีที่มีการเปลี่ยนประเภทของการประกันภัยนี้ นอกจากการสอบถามข้อมูลผู้ใช้รถแล้ว เจ้าหน้าที่ของไดเร็ค เอเชีย ต้องขอตรวจสภาพรถก่อน โดยจะไม่คุ้มครองร่องรอยแผลเก่าที่มีอยู่ก่อนเปลี่ยนกรมธรรม์
การเปลี่ยนประเภทประกันภัยรถยนต์ระหว่างปี
หากผู้ใช้รถมีประกันภัยรถยนต์อยู่แล้ว ถ้าต้องการเปลี่ยนประเภท จากประเภทที่ 3 ไปเป็นประเภทที่ 1 ทางบริษัทฯสามารถดำเนินการให้ได้ โดยจะต้องขอตรวจสภาพรถก่อน บริษัทฯจะไม่คุ้มครองรอยแผลเก่าที่มีอยู่ก่อนเปลี่ยนกรมธรรม์ และผู้ถือกรมธรรม์จะต้องชำระเงินเพิ่ม เช่น ก่อนหน้านั้นได้ติดต่อซื้อประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 โดยจ่ายค่าเบี้ยไว้ที่ 3,000 บาท หากต้องการเปลี่ยนไปการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ซึ่งสมมุติมีค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ที่17,000บาทลูกค้าจะต้องเพิ่มเงินอีก 14,000บาท
แต่หากทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 อยู่กับบริษัทอื่น ลูกค้าก็สามารถทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ได้ แต่ต้องชำระค่าเบี้ยเต็มจำนวนตามปกติ การขอทำเรื่องคืนเงินส่วนต่างกรณีใช้กรมธรรม์ไม่ครบปี โดยต้องติดต่อกับทางบริษัทฯเดิมว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือว่าสามารถขอคืนได้เท่าไร หากไม่สามารถทำเรื่องขอคืนเงินส่วนต่าง ลูกค้าจะมีสิทธิในกรมธรรม์ 2 ฉบับ แต่ในการใช้สิทธิความคุ้มครองกรณีเกิดเหตุหรือการเคลม สามารถเลือกใช้สิทธิจากกรมธรรม์จากฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น
ทำเฉพาะ พรบ. แต่ไม่ทำประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่
การทำประกันภัยรถยนต์ถือเป็นความคุ้มครองภาคสมัครใจ ลูกค้าจะทำเฉพาะ พรบ.ซึ่งเป็นข้อบังคับตามกฎหมายเท่านั้นก็ได้ แต่พรบ.จะให้ความคุ้มครองเฉพาะร่างกายบุคคลภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของทรัพย์สินหรือรถยนต์ด้วย
ดังนั้นหากลูกค้าเป็นฝ่ายผิดในอุบัติเหตุครั้งนั้น ลูกค้าต้องจ่ายค่าเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งหมดทั้งของตนเองและคู่กรณีด้วยตัวเอง ซึ่งความเสียหายอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอาจสูงกว่าค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายในแต่ละปีก็ได้
เรื่อง: สมโภชน์ นันทโรจน์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th