ประโยชน์ของ Car Seat
ไม่ว่ายุคไหนใครๆ ก็ชอบกระเตงลูกไปไหนต่อไป แต่สิ่งที่เห็นแล้วไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย การที่เด็กเล็กยังกระโดดโดลเต้นอยู่บนเบาะหลัง หรือไม่ก็นั่งอยู่บนตักของแม่ หรือที่ซ้ำร้ายคือ นั่งอยู่ตรงที่นั่งคนขับ คั่นกลางระหว่างคนขับกับพวงมาลัย…อันตรายจริงๆ
และเมื่อถามไปยังผู้ใหญ่เหล่านี้ว่าทำไม คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับคือ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็แค่เด็ก โดยที่ไม่รู้ว่า ถึงเป็นเด็ก แต่ก็ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านความปลอดภัยระหว่างเดินทางไม่ต่างจากผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน และเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat คือ อุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมาก
เบาะนั่งนิรภัย…เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็กในการช่วยยึดรั้งสรีระเอาไว้ไม่ให้พุ่งไปข้างหน้าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุการชน หรือว่ามีการเบรกกะทันหัน จนกระแทกเข้ากับชิ้นส่วนแข็งๆ เช่น แผงหน้าปัดของตัวรถ ซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
การอุ้มเด็กเอาไว้บนตักโดยพ่อหรือแม่ รวมถึงการให้เด็กเล็กนั่งอยู่บนเบาะหลังโดยปราศจากการยึดรั้งโดยเบาะนั่งนิรภัยถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะจากการทดสอบพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุการชนที่ความเร็วเพียง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักของเด็กจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เท่า หรือเด็กอายุ 2 ขวบที่มีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มเป็น 200 กิโลกรัมในช่วงจังหวะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่ที่อุ้มหรือโอบไว้จะรั้งเอาไว้ได้
เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่ออยู่ในรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองไม่ใช่ต้องทำเพราะถูกกฎหมายบังคับ ในระหว่างเดินทางด้วยรถ เด็กเล็กก็ต้องนั่งอยู่ในเบาะนิรภัยเท่านั้น และไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กับเด็กได้ เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการยึดรั้งสรีระของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัยได้มาตรฐานเป็นหลัก ไม่สามารถนำมาใช้กับเด็กที่มีร่างกายเล็กได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายตั้งแต่บาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเกิดอุบัติเหตุการชน
ในการทดสอบชนของต่างประเทศ พบว่า หุ่นดัมมี่ของเด็กที่ถูกคาดเข็มขัดนิรภัยในรถ แทนที่จะนั่งอยู่ในเบาะนิรภัย มีแรงกระทำอย่างรุนแรงที่ช่องท้องถึงขั้นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอน่างรุนแรงของอวัยวะที่อยู่ภายใน หรือบางครั้งด้วยสรีระที่ผิดจากผู้ใหญ่ทำให้สายของเข็มขัดนิรภัยบาดเข้ากับลำคอในจังหวะที่ดึงกลับเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายพุ่งไปข้างหน้า…ตรงนี้ไม่ใช่เข็มขัดนิรภัยไม่ดี แต่เป็นการใช้งานที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมมากกว่า
การเลือกซื้อเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กควรเลือกให้ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย รวมถึงควรติดตั้งให้ถูกต้องด้วย เช่น เบาะนั่งสำหรับเด็กอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีควรติดตั้งแบบหันหัวไปทางด้านหน้ารถ หรือ Rear-Facing และควรวางไว้ที่เบาะหลัง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องการวางไว้บนเบาะหน้า ในกรณีที่รถยนต์มีถุงลมนิรภัยฝั่งคนนั่ง ก็ควรปลดการทำงานด้วย เพราะหากเกิดการชนแล้วถุงลมนิรภัยพองตัวขึ้น อาจจะกระแทกเข้ากับเบาะจนทำให้เด็กคอหักได้
นอกจากการยึดกับเข็มขัดนิรภัย 3 จุด แล้ว ในปัจจุบันจุดยึดแบบ ISOFIX เริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น ดังนั้น อาจจะเลือกซื้อเบาะนั่งสำหรับใช้ร่วมกับจุดยึดประเภทนี้มาใช้ก็ได้
ส่วนตำแหน่งของการวางเบาะอาจจะเลือกวางไว้ฝั่งซ้ายหรือขวาของเบาะหลังก็ได้ แต่การเลือกวางไว้ฝั่งเดียวกับเบาะคนนั่งด้านหน้าก็มีประโยชน์ตรงที่ บ้านเราใช้รถยนต์พวงมาลัยขวา เมื่อต้องจอดรถชิดกับฟุตบาธในสภาพปกติและนำเด็กลงจากรถแล้ว จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากกว่าการติดตั้งฝั่งเดียวกับเบาะคนขับ เพราะเบาะนั่งจะอยู่ชิดกับฝั่งฟุตบาธ
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th