ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้น-ลงราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันมีการขยับตัวไปมา ขึ้นหรือลงอย่างต่อเนื่อง และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเงื่อนไขต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการขยับตัวในด้านราคา และวันนี้เรามาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องเมื่อถูกแปรรูปไปเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
น้ำมันเป็นสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ (commodity) คือเป็นสินค้าลักษณะและคุณภาพของสินค้าทั่วโลกไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และราคาเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยที่ใกล้เคียงกัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อย่างเสรีตามอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
สภาพเศรษฐกิจโลก
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน เมื่อใดที่เศรษฐกิจเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงขึ้น ในทางกลับกันราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลงเมื่อเศรษฐกิจไม่ขยายตัวหรือถดถอย เพราะมีปริมาณน้ำมันมากกว่าความต้องการของตลาด
กำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่น
ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอกับความต้องการก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากความต้องการน้ำมันดิบลดลงเหลือน้อยกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ผลิตได้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หรือหากประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มอัตราการผลิต ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบในตลาดเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงได้เช่นกัน
ฤดูกาลกับสภาพภูมิอากาศ
ฤดูกาลส่งผลกับราคาน้ำมันในตลาดโลก เมื่อฤดูเปลี่ยน อุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำมันปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ในฤดูหนาว ประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้
ภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อราคาน้ำมัน
แถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นภูมิภาคหลักของผู้ผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลก หากบริเวณดังกล่าวเกิดความไม่สงบ หรือความขัดแย้ง อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ (Supply) ในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ รวมไปถึงอุปสรรคการขนส่งในบางภูมิภาคของบางช่วงเวลา ก็ทำให้ปริมาณน้ำมันที่เข้าสู่ตลาดลดลงได้
อัตราแลกเปลี่ยน
น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดหลักของโลกนั้นซื้อขายกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนเกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนในการซื้อน้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
พลังงานทดแทนและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงาน
ในอนาคต หากการพัฒนาพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์ ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ฯลฯ สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการใช้งานในราคาที่สามารถแข่งขันกับราคาน้ำมันได้ อาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ตลอดจนนโยบายการยกเลิกการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในหลายประเทศ ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงได้
เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกที่หน้าปั๊ม สำหรับประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีและกองทุนต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐ รวมไปถึงค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th