ผู้บริหารมิตซูบิชิก้มหัวขอโทษ-โกงตัวเลขประหยัดน้ำมัน
กลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาวที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สั่นคลอนมากยิ่งขึ้น หลังจากผู้บริหารระดับท็อปของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์เปอเรชั่น เรียงแถวออกมาก้มหัวแสดงการขอโทษต่อสาธารณชน เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน เพื่อรับผิดชอบต่อการบิดเบือนข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันของรถยนต์ขนาดเล็กมากกว่า 600,000 คันที่ผลิตออกขายในประเทศญี่ปุ่น
รถยนต์ที่เป็นประเด็นอื้อฉาวมี 4 รุ่น แบ่งเป็น eK Wagon และ eK Space ที่ถูกผลิตออกขายภายใต้โลโก้มิตซูบิชิ ส่วนอีก 2 รุ่นที่เหลือ Dayz และ Dayz Roox เป็นการรับผลิตให้นิสสัน หลังจากทั้ง 2 ค่ายหันมาจับมือเป็นพันธมิตรลุยตลาดรถยนต์ไซส์จิ๋วหรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Kei Car (K-Car) มาตั้งแต่ปี 2013 และเพิ่งประกาศต่อสัญญาความร่วมมือไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ในแถลงการณ์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ระบุว่าเจ้าหน้าที่นิสสัน เป็นฝ่ายแจ้งว่าตัวเลขประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันไม่ตรงตามตัวเลขที่แจ้ง พร้อมขอให้มิตซูบิชิ ตรวจการทดสอบแรงต้านทานการหมุนอีกครั้ง และผลการสอบสวนภายในพวกเขาพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมของผู้เกี่ยวข้อง โดยสื่อต่างประเทศสรุปว่าเป็นการปรับความดันลมยางเพื่อให้รถมีตัวเลขประหยัดน้ำมันดีกว่าความเป็นจริง
“เป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นโดยเจตนา มีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ระยะทางรวมในการวิ่งของรถเป็นที่พอใจ แต่สาเหตุที่พวกเขาต้องทุจริตในเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน” เท็ตซูโร่ ไอคาว่า ประธานมิตซูบิชิ มอเตอร์ส กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว “ผมรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”
ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 6 ของแดนอาทิตย์อุทัย ประกาศหยุดผลิต และจำหน่ายรถยนต์ทั้ง 4 รุ่นที่มีปัญหาแบบไม่มีกำหนดทันที โดยนับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2016 eK Wagon และ eK Space มียอดขายรวม 157,000 คัน ขณะที่ Dayz และ Dayz Roox มียอดขาย 468,000 คัน
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เพิ่งเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้ากลับคืนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยช่วงต้นยุค 2000 พวกเขาเผชิญวิกฤตเรียกคืนรถยนต์ล็อตใหญ่ไปครั้งหนึ่งแล้ว และหลังจากข่าวนี้ถูกรายงานออกไปหุ้นของบริษัทร่วงลงไป 15 เปอร์เซ็นต์ปิดที่ 733 เยนต่อหุ้น เป็นราคาดิ่งลงมากที่สุดในวันเดียวของพวกเขาในรอบเกือบ 12 ปี ขณะที่หุ้นของบริษัทนิสสัน ติดลบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส กลายเป็นบริษัทรถสัญชาติญี่ปุ่นเจ้าแรกที่บิดเบือนข้อมูลประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมัน หลังจากเมื่อปี 2014 Hyundai ค่ายรถดังของเกาหลีใต้ และ Kia บริษัทลูกของพวกเขายอมจ่ายค่าปรับ 350 ล้านดอลล่าร์ (ราว 1.15 หมื่นล้านบาท) ให้ทางการสหรัฐฯ ในข้อหาโฆษณาอัตราประหยัดน้ำมันรถยนต์ของพวกเขาเกินความเป็นจริง แต่ที่เป็นกรณีอื้อฉาวมากที่สุดคงหนีไม่พ้น เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว Volkswagen ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมัน ที่ถูกตรวจพบว่าแอบติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐฯ ผ่านข้อกำหนดด้านมลพิษ และต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6.7 พันล้านยูโร (ราว 2.6 แสนล้านบาท)
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ ออนไลน์ GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th