ฝากระโปรงคาร์บอน ประโยชน์อย่างไร ในคำว่า “แพง”
ต่อเนื่องจากเรื่องของ “ฝากระโปรงแต่ง” ที่นำเสนอไปในคราวก่อนหน้า จนมาถึงแฟชั่นการแต่ง “ฝากระโปรงคาร์บอน” ซึ่งเป็นกระแสแรงแบบไม่มีตก เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ของแต่งเบื้องต้นไปเสียแล้วสำหรับสมัยนี้ ย้อนไปในยุค 90 ฝากระโปรงคาร์บอน จะนิยมเรียกว่า “ฝาเคฟล่าร์” และอีกแบบที่ราคาถูกกว่า คือ “ฝาไฟเบอร์” ซึ่งก็มีพวก “หัวหมอ” (จริงๆ อยากจะเรียกหัว…อย่างอื่น) ก็เอามา “โฆษณากำกวม” ให้คนไม่รู้มโนสับสน และเข้าใจกันผิดๆ ในวงกว้าง ครั้งนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า “ฝากระโปรงคาร์บอน” มันมีประโยชน์อย่างไร และ “มันคาร์บอนจริงหรือไม่” นี่แหละแสบ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อด้วยความไม่รู้…
- ฝากระโปรงไฟเบอร์ : ไฟเบอร์ หรือ “ไฟเบอร์กลาส” (Fiber Glass) เป็น “ใยสังเคราะห์” ที่นำมาทำฝากระโปรง จุดเด่นก็คือ “เบา” เคยเป็นเทรนด์ฮิตของรถซิ่งยุค 15 – 20 ปี ที่แล้ว แต่จริงๆ งานไฟเบอร์ที่นำมาสร้างกับรถแข่ง มันก็มีมานานหลายสิบปีแล้ว ไฟเบอร์เองก็มีหลายเกรด เกรดต่ำสุด ราคาถูก พวกนี้จะได้ “แค่โชว์” อย่างเดียว มันบอบบาง ไม่ทนทาน บางทีมือเท้าก็ “ลั่นกร๊อบ” เสียแล้ว ชิ้นงานก็ไม่สวย บิดๆ เบี้ยวๆ บวมๆ แนะนำว่าอย่าหาทำ อีกอย่าง มันเป็นความเชื่อที่ว่า “ไฟเบอร์คือส่วนประกอบของรถแข่ง” ไม่เถียงครับ แต่นั่นคือไฟเบอร์เกรดสูง ที่มีความทนทาน ซึ่งเขาจะนำไปใช้กับจุดที่ไม่ได้รับแรงมากๆ หรือแค่ “เปลือก” เน้นเบา พอชนที “กระจุยกระจาย” แต่อย่าลืมว่า รถแข่งจะสร้างโครงด้านในไว้แข็งแรงมาก เพราะฉะนั้น การเลือกใช้ “งานไฟเบอร์” จะฝากระโปรงหรืออะไรก็ตามแต่ ควรจะเป็นในส่วนที่ “ไม่ได้รับน้ำหนักมาก” และ “ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย” และ “เลือกของที่มีคุณภาพ” เพราะเจอบ่อยๆ วิ่งๆ ไป ฝากระโปรง “ฉีกบิน” ทำให้เกิดอันตรายได้ครับ…
- ฝากระโปรงคาร์บอนไฟเบอร์ : มีคำว่า “คาร์บอน” มาแล้วนะครับ ซึ่งที่มาของเส้นใยคาร์บอน จะเกิดจาก “วัสดุทางธรรมชาติ” เช่น กะลามะพร้าว ไม้เผาเป็นถ่าน เผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมาก จะเป็นการนำแร่ผลึกคาร์บอนมาถักทอเป็นเส้นใย (Fabric) จำนวนมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่แถวๆ 5-10 ไมครอน ซึ่งเล็กมาก ซึ่งเส้นใย 1 เส้นใหญ่ ที่เราเห็นด้วยตาเปล่า จะประกอบไปด้วยเส้นใยคาร์บอนเป็นจำนวน “หลายพันเส้น” หรือ “หลักหมื่นเส้น” แล้วแต่ความแข็งที่ต้องการ แล้วก็นำมาทอ (Woven) เป็นผืนผ้า อย่างที่เห็นในรูปนั่นเอง คุณสมบัติเด่น คือ มีความแข็งแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับเส้นใยอื่นในพื้นที่เท่ากัน, ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ ไม่เสียรูปง่าย, คายความร้อนได้เร็ว ฯลฯ ถึงถูกใช้ผลิตชิ้นงานที่ต้องการคุณสมบัติแข็งแรงและมีการยืดหยุ่นพิเศษ เช่น อากาศยาน รถแข่ง จุดยึดโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องการทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแรงสูง เลยเป็น “ของนิยม” ในการแต่งรถยุคปัจจุบัน ที่เมืองไทยสามารถผลิตชิ้นงานที่ทั้งสวยงาม และ มีสมรรถนะสูง ได้เยอะ จนต่างประเทศมาจ้างให้ทำ แต่ตัวเส้นใยคาร์บอนเองก็มี “หลายเกรด” เช่นกันนะครับ ถ้าของเกรดต่ำ เส้นใยจะไม่สานแน่น ดูแล้ว “โย้เย้” ไม่สวยงาม ไม่แข็งแรงด้วย แต่ถ้าของเกรดสูงมากๆ จะสวย การสานเส้นใยแน่นหนา แข็งแรง ราคาก็โดดไปเยอะ…
- ฝากระโปรงเคฟลาร์ : มันมาตั้งแต่ปี 1965 นั่นแน่ะ คำว่า “เคฟล่าร์” หรือ “KEVLAR” มาจาก “ยี่ห้อเส้นใยของ Dupont” เป็นชื่อทางการค้า ไม่ใช่ชื่อของเส้นใย เป็นการผสมกันของเส้นใย Aramid ที่มีความยืดหยุ่นสูง แถมมีสีสันต่างๆ เช่น เหลือง, ส้ม ฯลฯ ตัดกับใยคาร์บอน จึงเป็นลายเส้นเหลืองตัดดำ ดูแล้วโดดเด่น เลยเรียกติดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ผิดครับ แต่ขอให้รู้ว่ามันคืออะไร…
- ฝากระโปรงลายคาร์บอน : ดูดีๆ นะครับ “ลายคาร์บอน” อันนี้เสียมวยกันมาพอสมควรแล้ว มันเป็นคำโฆษณาที่ “กำกวม” จริงๆ มันก็คือ “ฝากระโปรงไฟเบอร์กลาส” ธรรมดาๆ นี่แหละครับ แต่เอาเส้นใยคาร์บอนแบบธรรมดามาวาง Lay ไว้บนหน้าเฉยๆ ให้ “ดูเหมือนจะใช่” ก็ต้องขอให้ “รู้ทัน” หน่อยแล้วกัน หรืออีกประเภทที่สุดยอดจริงๆ คือ “เอาสติกเกอร์ลายคาร์บอนมาแปะทับ” ดื้อๆ เลย ก็ต้องระวังครับ จะไปด่าร้านก็ไม่เต็มปาก เพราะเขาบอกแล้วว่า “ลายคาร์บอน” ถ้าไม่ซีเรียสหรือเน้นของราคาประหยัดก็ตามสะดวกครับ…
สำหรับเทรนด์การแต่งรถด้วย “อุปกรณ์ชิ้นส่วนจากคาร์บอนไฟเบอร์” ที่นอกจากฝากระโปรงแล้ว ก็ยังต่อยอดไปเป็นส่วนอื่นๆ อีกมากมาย โดยมากก็จะเน้นเรื่องความสวยงามเป็นหลัก แต่มันก็ช่วยเหลือในด้านความแข็งแรง น้ำหนักเบา ได้ด้วย ราคาก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ เราเป็นผู้ซื้อ ก็ต้อง “พิจารณาให้ดีก่อน” ว่าคุณภาพเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเจอของคุณภาพต่ำ ได้แค่ “โชว์ว่ากรูมี” ก็ต้องระวังเรื่องอันตราย เช่น ชิ้นส่วนฉีก บิน ทำอันตรายต่อคนอื่น ก็ไม่ควรใช้ครับ แต่งรถแล้วอย่าให้เดือดร้อนใครเป็นดีที่สุด…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th