“พัฒนชัย วระไวย์”…ผ่านมาเท่าไหร่ กว่าจะได้ใช้คำว่า “มอเตอร์ไซค์ คลาสสิก”…
เกือบทุกคำถามในยุคปัจจุบันสามารถหาคำตอบได้ในช่วงเวลาเพียงลัดนิ้วมือ ทำให้ผู้คนสมัยปัจจุบันไม่ค่อยได้ดื่มด่ำกับอรรถรสของเรื่องราวที่ไปที่มา มาวันนี้ทุกอย่างต้องหยุดอยู่ในภวังค์ กับเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ที่เป็นเหมือนกล่องเก็บช่วงเวลาแห่งความคลาสสิคเอาไว้ ก่อนที่มอเตอร์ไซค์เก่ามันจะกลายมาเป็น “ของเล่นคนรวย” และก่อนที่เขาจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ เขาต้องผ่านมาเท่าไหร่ กว่าจะได้ใช้คำว่า “มอเตอร์ไซค์ คลาสสิก”…
“รถโบราณ” เป็นคำที่เข้าใจง่ายหลายคนใช้เรียกมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่าๆ ที่หาได้ยากมีอายุอานามไม่ต่ำกว่าสามสิบปี ซึ่งมันปะปนซ่อนตัวอยู่ในสถานที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ เมื่อกาลเวลายิ่งผ่านไปมันทำให้คุณค่าเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ ที่สำคัญมันจะมีมูลค่ามหาศาลถ้ามันมาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบหรือสามารถใช้งานขับขี่ได้อยู่
ผู้ที่เป็นคนเล่นรถโบราณจะต้องเคยผ่านวงโคจรของการหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ข้อมูลนั้นบางส่วนถูกเก็บอยู่ในกล่องความทรงจำของผู้ชายคนนี้ “ป๋าชัย” ด้วยความสะดุดตาของเหล่าบรรดารถมอเตอร์ไซค์โบราณที่จอดอัดแน่นอยู่ในพื้นที่ของร้านซ่อมสร้างมอเตอร์ไซค์เล็กๆ พัฒนชัยยานยนต์ สามแยก อ.ต.ก.3 ถ.เลี่ยงเมืองนนท์ ถ้ามองเลยผ่านไปมันจะไม่มีเรื่องราวมานำเสนอ แต่เมื่อเราได้ลองเข้าไปสัมผัสกับชายคนหนึ่งที่นั่งเก็บชิ้นส่วนอะไหล่มากมายอยู่ โลกแห่งวันเก่าๆ ก็ย้อนกลับบมา
สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “คนรู้จริง มักไม่ค่อยโอ้อวด” มันทำให้เราเริ่มสื่อสารกับ “ป๋าชัย”ด้วยประโยคแรกว่า “มันเริ่มต้นยังไงครับลุง” เมื่อคำตอบแรกออกมาเสียงของเพลง “Rock&Roll” ในยุคสงครามเวียดนามก็ค่อยๆ ดังขึ้นเป็นแบ็คกราวน์เคล้าคลอไปกับประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ค่อยๆ ถ่ายทอดให้เราได้ฟัง
“ป๋าชัย” เริ่มจับงานกับการเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ในช่วงปี 2504-2507 ถูกแล้วมันคือยุคของสงครามเวียดนาม ประเทศไทยหลายพื้นที่เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน อีกฟากฝั่งหนึ่งของความโหดร้ายจากภัยสงครามมันนำมาซึ่งความแปลกใหม่ ทหารอเมริกันนำเอาของหลายอย่างติดตัวมาไม่ว่าจะเป็นไฟเช็ค ZIPPO , บุหรี่ และมอเตอร์ไซค์ เมื่อสงครามยุติลงสิ่งเหล่านั้นบางอย่างกลายเป็นสิ่งที่หลายคนนิยมและใฝ่หา
ด้วยอายุเพียงสิบกว่าปีงานแรกกับการเป็นผู้ช่วยช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ในยุคนั้นมีอย่าง กลาดเกลื่อนในตัวเมืองอุดรธานีอย่างเช่น TRIUMPH ,NORTON,BSA หรือ HONDA ตระกูล CB เขาเคยสัมผัสมาหมด เห็นมันตอนสมบูรณ์แบบวิ่งได้ใช้คล่อง ซ่อม บำรุงถอดประกอบจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงจะสามารถทำมันได้แม้เวลาจะผ่านมานาน แน่ แค่ไหนแกบอกว่าขนาดใส่กระบุงมาเป็นซากก็ยังสามารถสร้างมันให้กลับมาเป็นคันได้
คุณค่าของตัวรถที่มีสเน่ห์ด้วยรูปทรงและกลายเป็นของหายาก ปัจจุบันมันกลายเป็น ของเล่นคนรวย นับวันยิ่งมีราคาสูงขึ้นและหาได้ยากขึ้นเพราะส่วนใหญ่ถูกซื้อไปเก็บเป็นของ สะสม บางคนหันมาเล่นรถโบราณจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องรถบ้างพอสมควร เพื่อให้ สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม รถโบราณถ้าทำการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและใช้งาน อย่างถูกต้อง สามารถจะใช้งานได้อย่างสบายใจ
ผู้ที่มีกำลังทรัพย์และมีความชอบอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่กับผู้ที่ใจรักแต่ยังมีภาระหลายอย่างการเล่นรถพวกนี้ต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่มันจะสามารถอยู่กับเราไปได้นานๆ นับวันรถพวกนี้จะยิ่งหายากรถมีน้อยคนต้องการมาก อย่างในตอนนี้ตระกูล CB-77,CB-72 มีเงินแสนยังหาได้ยาก การปรึกษาผู้รู้เก็บข้อมูลก่อนจะเล่นจะเป็นการดี ที่สำคัญเลยในการหารถพวกนี้ที่สำคัญคือ ทะเบียนกับโครงรถ ต้องหมายเลขตรงกันจะยิ่งเพิ่มมูลค่า ส่วนอะไหล่อื่นๆ นั้นยังสามารถหาหรือสร้างทดแทนได้
เพียงบางส่วนของเรื่องราวและแง่คิดดีๆ ที่ได้รับคำแนะนำจากคนในวงการรถโบราณที่ต้องถือว่าเป็นตัวจริงในเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นอยู่สองสามเรื่อง เรื่องแรกคือคุณค่าแห่งประสบการณ์ เรื่องที่สองคือคุณค่าแห่งเวลาและเรื่องสุดท้ายคุณค่าทางด้านจิตใจ หลายคนบอกเงินซื้อทุกอย่างได้ ต่อท้ายหนักแน่นว่าทุกอย่างที่ต้องการล้วนแต่ใช้เงินซื้อ แต่กับของที่หายากมีเงินแล้วใช้เงินซื้อได้ไหม มันก็คงได้ถ้าเจ้าของเขาขาย หรือเขาต้องการเงินแต่ถ้าเขามีเงินเหมือนกันล่ะเงินคุณก็ไม่มีความหมาย ผ่านมาเท่าไหร่กว่าจะได้ใช้คำว่า “มอเตอร์ไซค์ คลาสสิก”
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ภาพ :ดนัย จำปาวัลย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th