พาน้องหมาเที่ยว-เรื่องนี้ต้องมีเทคนิค
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า หมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด หลายคนไม่ได้คิดว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่คิดว่าเป็นเพื่อนสนิท หรือเป็นสมาชิกของครอบครัว เวลาจะขับรถไปเที่ยวก็พาหมาไปด้วย แล้วจะทำอย่างไรให้น้องหมาปลอดภัยเมื่อต้องนั่งรถ?
หลายคนเลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อน มากกว่าจะเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เพราะไปไหนก็เอาหมาไปด้วย แล้วหมาจะเฝ้าบ้านได้อย่างไร เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่อยากนำเสนอคือ จะต้องทำอย่างไรให้ทั้งคนทั้งหมาปลอดภัยและมีความสุข เมื่อต้องเดินทางไปด้วยกันโดยรถยนต์
ไม่ใช่วันไหนนึกครึ้มใจอยากพาน้องหมาไปเที่ยว ก็จับใส่รถแล้วขับไปได้เลย เรื่องนี้ต้องมีการเตรียมตัวบ้าง เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวมีความสะดวกและปลอดภัย
เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง
การเดินทางคงไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเจ้าน้องหมาตัวโปรดเกิดทำพิษ (โดยไม่ตั้งใจ) และเรื่องจะยุ่งยากขึ้นไปอีกระดับ ถ้าน้องหมาตัวนั้นไม่เคยนั่งรถมาก่อน อาจเกิดอาการ CARSICK เช่น อาเจียร ส่งเสียงดัง หรือกัดแทะอุปกรณ์ในรถ
ก่อนพาน้องหมาเดินทางไกล ควรฝึกให้เขาเคยชินกับการนั่งรถในระยะทางใกล้ๆ ก่อน เช่น พานั่งรถไปหาเพื่อนบ้าน หรือพาไปสวนสาธารณะ เพื่อให้เจ้าตัวโปรดเคยชินกับสภาพแวดล้อมและปรับตัวเข้ากับรถได้ดี
ถ้าทำแล้วก็ยังมีอาการ CARSICK เมื่อเดินทางไกล อาจต้องเปลี่ยนใจให้เฝ้าบ้าน หรือถ้าอยากพาไปด้วยจริงๆ ก็ต้องพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อจ่ายยาแก้เมารถหรือยานอนหลับสำหรับสัตว์ โดยเจ้าของต้องพาน้องมาไปด้วย และบอกระยะเวลาในการเดินทางคร่าวๆ ให้คุณหมอทราบ เพื่อจะได้เลือกความแรงของตัวยาได้อย่างเหมาะสมกับน้ำหนักของหมา และเวลาในการเดินทาง
ถึงเวลาพาเที่ยว
สิ่งสำคัญเมื่อจะพาหมาขึ้นรถคือ ต้องหาวิธียึดหรือรั้งร่างกายของหมาให้ปลอดภัย เช่นเดียวกับคนที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และต้องเตรียมอาหารและน้ำให้ไว้เพียงพอกับระยะเวลาในการเดินทาง โดยใส่ชามที่ออกแบบมาสำหรับใช้ระหว่างการเดินทางโดยเฉพาะ และเตรียมของเล่นหรือกระดูกปลอมไว้ให้น้องหมาเคี้ยวแก้เหงาด้วย
ไม่ควรปล่อยหมาให้เดินเพ่นพ่านในรถ เพราะอาจรบกวนสมาธิของผู้ขับ และหากมีการเบรกกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ ร่างกายของหมาอาจปลิวทะลุกระจกออกนอกรถ หรือกระแทกเข้ากับคนในรถจนเกิดการบาดเจ็บหนัก
จากการเปิดเผยข้อมูลที่ได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่ามากถึง 98% ของคนขับรถในสหรัฐอเมริกา นำสัตว์เลี้ยงขึ้นรถโดยที่ไม่มีการรัดเข็มขัด หรือยึดรั้งร่างกายของสัตว์เลี้ยงเอาไว้ โดยในปัจจุบันนับจากการสำรวใจปี 2005 พบว่าคนอเมริกันนิยมนำสัตว์เลี้ยงขึ้นรถเพิ่มขึ้นมากถึง 300% เลยทีเดียว
ตรงนี้ถือว่าอันตรายมากกับผู้ที่อยู่ในห้องโดยสารและตัวสัตว์เลี้ยงเอง เพราะสุนัขที่มีน้ำหนักตัว 65 ปอนด์ หรือประมาณ 30 กิโลกรัมสามารถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 2,700 ปอนด์ หรือ 1,227 กิโลกรัมได้ เมื่อเกิดการชนที่ความเร็วในระดับ 30 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…คงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสุนัขตัวนั้นต้องปลิวไปตามแรงโน้มถ่วงและกระแทกเข้ากับใครคนใดคนหนึ่งในห้องโดยสาร
ดังนั้น ควรนำน้องหมาใส่กรงที่มีความแข็งแรงเพียงพอ จากนั้นจึงนำไปใส่ไว้ในรถ และต้องยึดให้แน่นด้วยเข็มขัดนิรภัย ไม่ควรวางกรงไว้บนเบาะโดยไม่ยึด เพราะเมื่อเบรกกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ กรงก็ปลิวได้อยู่ดี แล้วหมาก็อาจบาดเจ็บ สรุปว่าต้องใส่กรง แล้วยึดกรงให้มั่นคง
วิธีนี้ตรงกับความเห็นของ ดร.บอนนี บีเวอร์ ศาสตราจารย์ประจำคณะ SMALL ANIMAL CLINICAL SCIENCES มหาวิทยาลัย TEXAS A&M ซึ่งระบุว่า ต้องทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสะดวกสบายและปลอดภัยที่สุด โดยใส่ในกรงซึ่งปูด้วยผ้าขนหนูหรือพรมเพื่อให้อ่อนนุ่ม โดยไม่ลืมที่จะใส่อาหาร น้ำ และของเล่นไว้ด้วย
ถ้าไม่อยากขังน้องหมาไว้ในกรง ก็ต้องใช้สายล่ามแบบครึ่งตัว (ไม่ใช่แค่ปลอกคอ) แล้วล็อกหรือคล้องไว้กับเข็มขัดนิรภัย วิธีนี้จะทำให้น้องหมามีอิสระมากขึ้น สามารถนอนหรือนั่งชมวิวเปลี่ยนอิริยาบทได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ควรเลือกสายล่ามที่ใช้ห่วงโลหะ เพราะห่วงพลาสติกอาจหักเมื่อถูกกระชากแรงๆ
สำหรับรถอเนกประสงค์หรือแวกอนซึ่งมีพื้นที่ด้านหลังเบาะหลังสามารถนำตาข่ายไนลอนหรือโลหะมากั้นระหว่างที่เก็บของด้านหลังกับเบาะหลัง แต่ต้องแน่ใจว่าการยึดตาข่ายนั้นแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงกระแทกได้ เช่นเดียวกับรถซีดาน ไม่ควรปล่อยน้องหมาโดยไม่มีการล่าม ควรล่ามด้วยสายล่ามแบบครึ่งตัวไว้กับห่วงบนพื้นรถ ปรับความยาวให้พอดีกับความกว้างของห้องเก็บของ ไม่ควรปรับไว้ยาวเกินไป เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ร่างกายของน้องหมาอาจกระแทกกับกระจก และหลุดออกไปนอกรถได้
ฝึกให้เคยชิน
ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนในการพาน้องหมานั่งรถไปด้วย สิ่งสำคัญคือ ต้องฝึกเขาให้เคยชินกับการนั่งรถ ก่อนจะพาไปเที่ยวไกลๆ การฝึกฝน การเตรียมพร้อม และการให้หมานั่งรถด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะทำให้การเดินทางไปกับสมาชิก 4 ขา เปี่ยมด้วยความสุขและความปลอดภัย
ข้อควรจำ
– น้องหมาบางตัวชอบท้าทายสายลม ยื่นหน้าออกไปนอกรถเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้หมาเจ็บตาเนื่องจากฝุ่นละอองหรือแมลง
– ใส่ใจอุณหภูมิรอบตัวน้องหมา ถ้าจำเป็นควรแง้มกระจกหรือปรับแอร์ให้ตรงตัวน้องหมาเพื่อระบายความร้อน การถูกแสงแดดโดยตรงอาจทำให้หมาร้อนจัด แม้จะเปิดแอร์แล้วก็ตาม โดยเฉพาะหมาขนสีเข้ม กรณีนี้ต้องพึ่งม่านบังแดดขนาดเล็กที่เป็นสุญญากาศ
– อย่าปล่อยหมาไว้ในรถตามลำพัง เพราะอุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อจอดรถกลางแดด ถ้าจะไปในสถานที่ๆ นำหมาเข้าไปด้วยไม่ได้ ก็ควรฝากไว้กับสถานที่รับฝาก หรือถ้าไม่มีก็ต้องมีสมาชิก 1 คน เสียสละอยู่เป็นเพื่อนหมา
– นำหลักฐานการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าติดตัวไปด้วยเสมอ อาจแขวนป้ายไว้ที่ปลอกคอ และเก็บหลักฐานเช่นวันรับยาไว้กับตัว
– ติดชื่อเจ้าของและเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ที่ปลอกคอ เผื่อในกรณีน้องหมาสูญหายหรือหลงทาง การเขียนเบอร์โทรศัพท์บ้านไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะคนที่เจอน้องหมาคงติดต่อใครไม่ได้ ถ้ามาเที่ยวกันทั้งครอบครัว
** พาน้องหมานั่งรถเที่ยวไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องทำอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและหมา **
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th