พื้นแทร็กสนามช้างฯ นี่คือฝีมือระดับโลกโดยคนไทย
“ทิปโก้แอสฟัลท์” บริษัทของคนไทยโดยทีมงานคุณภาพคนไทย เป็นผู้สร้างผลงานชั้นเลิศพื้นแทร็กยางมะตอยในสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และเป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา วงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยคึกคักและมีผู้ให้ความสนใจติดตามกิจกรรมด้านนี้มากขึ้น เพราะด้วยการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งเปิดฤกษ์สนามด้วยการแข่งขันระดับโลก “ซูเปอร์ จีที” ในวันที่ 4-5 ตุลาคม 2557 ตามด้วยรายการแข่งขันทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ชั้นนำที่จ่อคิวลงแข่งตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นสนามทดสอบรถยนต์ให้กับค่ายรถต่างๆ ที่ต้องการทดสอบสมรรถนะได้อย่างเต็มที่และปลอดภัยต่อการทดสอบมากที่สุด
โดยความสำเร็จนี้มีอีกหนึ่งบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังนั่นคือ “บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน)” เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างผิวทางยางมะตอยของสนามแห่งนี้ ให้เป็นสนามระดับ FIA เกรด 1 รองรับการแข่งฟอร์มูล่าวันได้ พูดได้ว่านี่คือสนามแข่งรถที่คนไทยเป็นเจ้าของ คนไทยก่อสร้าง และคนไทยทุกคนมีโอกาสได้สัมผัสสนามแข่งมาตรฐานสากลระดับโลก
สำหรับ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่ใช้สำหรับการก่อสร้างและซ่อมบำรุงผิวการจราจร ร่วมกับ บริษัท ไทยสเลอรี่ซีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างและบำรุงรักษางานทางยางมะตอย โดยมีทีมวิศวกรเฉพาะทาง รวมถึงเครื่องจักรที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีทีมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีงานทางยางมะตอยที่ได้รับการถ่ายทอดจากบริษัท Colas S.A. ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกในการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกลุ่มบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จึงสามารถนำเสนอนวัตกรรมงานทางยางมะตอยที่มีคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่องเสมอมา
สำหรับยางมะตอยที่นำมาก่อสร้างเป็นผิวทางของสนามเป็นยางมะตอยชนิดพิเศษที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบชนิดพิเศษที่โรงกลั่นของกลุ่มบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ ในประเทศมาเลเซีย แล้วนำมาผ่านกระบวนการผลิตที่โรงงานในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน และสามารถจัดส่งยางมะตอยเพื่อใช้ในการปูพื้นสนามได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจุดสำคัญในการควบคุมคุณภาพคือ ใช้รถขนส่งยางมะตอยที่มีการควบคุมปริมาณและอุณหภูมิตั้งแต่ก่อนออกจากโรงงาน – ระหว่างทาง – จนถึงโรงงานผลิตส่วนผสมวัสดุแอสฟัลต์ (Hot Mix Plant) ทำให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและรักษาคุณภาพของส่วนผสมวัสดุแอสฟัลต์ได้เป็นอย่างดี
แต่การเข้ามาเป็นผู้ร่วมดำเนินงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าที่ Mr.Hermann Tilke ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสนามแข่งรถระดับโลกที่ได้รับการยอมรับมาแล้วหลายสนาม จะยอมรับถึงความสามารถของกลุ่มบริษัท ทิปโก้แอลฟัลท์ ทางผู้บริหารจำเป็นต้องเผยถึงกระบวนการทุกอย่างว่าได้มาตรฐานจริง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทของคนไทยสามารถสร้างผลงานเหนือกว่าบริษัทต่างชาติที่เคยทำสนามแข่งมาแล้วหลายสนามในโลกได้
สำหรับสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต แห่งนี้ เป็นสนามที่ได้รับการอออกแบบให้มีผิวทางที่มีความเรียบสูงเป็นพิเศษ เพื่อรับแรงเฉือนและแรงบิดจากความเร็วของรถแข่ง แต่มีความฝืดที่เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่อความปลอดภัยในการขับที่ความเร็วสูงสุดได้เป็นอย่างดี ซึ่งผิวทางยางมะตอยที่ใช้สำหรับการแข่งขัน (Race Track) และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของสนาม มีปริมาณพื้นที่ผิวทางยางมะตอยรวมทั้งหมดถึง 215,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ 2 ส่วนหลัก คือ
พื้นที่ส่วนหลัก (Race Track) เป็นพื้นที่หลักที่ใช้สำหรับการแข่งขัน มีพื้นที่รวม 144,400 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ 5 ประเภท
– Main Race Track 63,000 ตารางเมตร
– Short Cut 5,900 ตารางเมตร
– Pit Lane 5,300 ตารางเมตร
– Dragster 9,000 ตารางเมตร
– Run-Off 61,200 ตารางเมตร
ประกอบด้วยชั้นผิวทางรวมทั้งหมด 3 ชั้น มีความหนารวมทั้งหมด 17 เซนติเมตร ได้แก่
– ชั้นผิวทาง (Asphalt Base Course) ความหนา 8 เซนติเมตร
– ชั้นรองผิวทาง (Asphalt Binder Course) ความหนา 5 เซนติเมตร
– ชั้นผิวทาง (High Performance Wearing Course) ความหนา 4 เซนติเมตร
พื้นที่ส่วนรอง (Others Track) เป็นพื้นที่ใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ มีพื้นที่รวม 70,500 ตารางเมตรประกอบด้วยพื้นที่ 2 ประเภท คือ
– Dynamic Area 56,500 ตารางเมตร
– Wet Handling Area 14,000 ตารางเมตร
ส่วนวัสดุที่ใช้ในการสร้าง (Raw Materials) ประกอบด้วย วัสดุมวลรวม (Aggregate) หรือหิน 5 ประเภท รวม 80,000 ตัน ยางมะตอย (Asphalt) 4,700 ตัน และเพื่อควบคุมระดับความเรียบของผิวทางให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่ให้เกิดรอยต่อตามขวางของผิวทาง จึงได้นำเทคโนโลยีอุปกรณ์การวัดและปรับระดับแบบ Sonic ซึ่งใช้อุปกรณ์คานปรับระดับแบบอัตโนมัติ (Automatic Multiplex Beam) โดยมี Sonic Censors ที่มีการกำหนดค่าความหนาเฉลี่ยเอาไว้ และเพื่อให้มั่นใจว่าผิวถนนจะมีความเรียบสูง จึงมีการตรวจสอบความเรียบ (Evenness) หลังจากปูผิวในขณะที่ผิวทางยังร้อนอยู่ โดยใช้เครื่องมือ Straight Edge ทำการตรวจวัด ให้มีค่าความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ต่อความยาวของผิวถนน 4 เมตร แล้วจึงใช้รถบดล้อเหล็กสั่นสะเทือนทำการบดทับให้ได้ความแน่นตามกำหนด และหลังจากการบดทับจะทำการตรวจสอบความแน่นของพื้นผิว โดยใช้เครื่องมือทดสอบความแน่นของพื้นผิวแบบ Non Destructive Nuclear Density เพื่อหลีกเลี่ยงการขุดเจาะผิวสนามซึ่งมีความแตกต่างจากวิธีการทดสอบหาความแน่นของผิวสนามหรือผิวถนนทั่วไป
นอกจากการก่อสร้างผิวทางยางมะตอยของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ยังมีผลงานที่รับประกันคุณภาพไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างและบูรณะถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท งานซ่อมบำรุงพื้นผิวทางขึ้นลงสนามบินสุวรรณภูมิ งานซ่อมพื้นผิวและบูรณะโครงสร้างสะพานพระราม9 และงานก่อสร้างสนามทดสอบรถยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ บริษัท นิสสัน เอเชีย แปซิฟิค จังหวัดสมุทรปราการ อีกด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทของคนไทยที่สร้างงานในระดับมาตรฐานสากลเอาไว้มากมาย
และนี่คือ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งบริษัทของคนไทยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ที่แสดงศักยภาพให้ทั่วโลกได้เห็นอย่างเต็มภาคภูมิว่า “ฝีมือของคนไทยเป็นที่หนึ่งไม่แพ้ใคร”
เรื่อง/ภาพ : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th