ฟอร์ดจัดให้ลองของจริง “เทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะใหม่ล่าสุด”
ฟอร์ด ประเทศไทย จัดกิจกรรม Ford Advanced Driving Experience ให้ได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะใหม่ ในเรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และเอเวอเรสต์ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016 สัมผัสประสบการณ์การขับขี่ที่ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ
โดยการทดลองขับในครั้งนี้เป็นทริปสั้นๆ ผู้เขียนถูกเลือกให้ขับ เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร (คันไหนได้ทั้งนั้น เพราะติดตั้งระบบเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบใหม่เหมือนกัน) และขับแบบสบายๆ จากอาคาสาธร สแควร์ ถนนสาธร ขับผ่านการจราจรที่แออัดบนถนนสีลม แล้วขึ้นทางพิเศษศรีรัชขับยาวๆ ต่อเนื่องไปทางพิเศษอุดรรัถยา สุดทางลงปลายทางบางปะอิน ขับเข้าเขตชุมชนแล้วเลี้ยวเข้าวัดเชิงเลนไปชิมกุ้งเผาที่ร้านเรือนไทยกุ้งเผา พออิ่มแล้วจึงขับกลับมาเส้นทางเดิมสู่อาคารสาธร สแควร์ อีกครั้งเป็นอันครบถ้วน
ส่วนการทดลองระบบต่างๆ นี้ ทางทีมงานได้จัดช่วงการทดลองเป็นระยะๆ เนื่องจากบนทางพิเศษอุดรรัถยาเป็นทางตรงยาวและมีรถสัญจรค่อนข้างน้อยในช่วงเวลาที่ทดลองขับ เริ่มต้นจากระบบที่คุ้ยเคยกันดีกับ Cruice Control แต่มาพร้อมกับความพิเศษขึ้นที่เรียกว่า…ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) รถจะใช้เรดาร์วัดระยะห่างระหว่างรถคันหน้า โดยระบบจะตั้งค่าระบบควบคุมความเร็วแบบอัตโนมัติเพื่อให้รถอยู่ห่างจากรถคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยตามความเร็วที่ตั้งไว้ โดยผู้ขับไม่ต้องเหยียบคันเร่งหรือเบรคตามคันหน้า และหากรถคันหน้าเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่ำลง ระบบจะลดความเร็วลงอัตโนมัติเพื่อรักษาระยะห่างในระยะที่ปลอดภัย เมื่อถนนกลับมาโล่งและคันหน้าเร่งความเร็ว ระบบจะเร่งความเร็วตามสภาพการจราจรกลับมาที่ความเร็วที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งระบบนี้เหมาะมากหากต้องขับทางไกล
อีกหนึ่งระบบที่ถือว่าช่วยเหลือผู้ขับหากเกิดอาการหลับในหรือเผลอขับรถออกนอกเลน นั่นคือ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) ซึ่งระบบนี้จะทำงานร่วมกับกล้องที่ติดตั้งบริเวณหน้ารถเพื่อตรวจจับหาเส้นแบ่งเลนบนพื้นถนนข้างหน้า โดยระบบจะตรวจสอบว่าผู้ขับกำลังเบนรถออกจากเลนโดยตั้งใจหรือไม่? จากนั้นจึงเปรียบเทียบข้อมูลจากกล้องกับมุมและแรงบิดของพวงมาลัย หากระบบพบว่าผู้ขับกำลังเปลี่ยนเลนโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะเข้าควบคุมแรงบิดของพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้าเพื่อดึงรถกลับเข้าสู่เส้นทางเดิมอย่างนุ่มนวล หากรถยังคงเคลื่อนออกนอกเลน สัญญาณเตือนการเปลี่ยนเลนจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นที่พวงมาลัยซึ่งจะสั่นเบาๆ แต่ทำให้ผู้ขับรู้สึกได้
ถัดมาเป็น ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) จะตรวจสอบด้วยการใช้เรดาร์ที่ติดตั้งบริเวณหน้ารถ วัดระยะห่างของรถกับวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้า โดยจะป้องกันการชนที่ความเร็วสูงกว่า 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้นไป หากระบบวัดค่าเวลาก่อนชนได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมกระพริบไฟบนกระจกด้านหน้าและแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอแสดงข้อมูล หากผู้ขับไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน ระบบจะชาร์จแรงเบรกเตรียมไว้ ทำให้ผู้ขับสามารถหยุดรถได้เร็วขึ้นเมื่อแตะเบรก ระบบนี้จะช่วยลดความเสียหายจากการชนหรือหลีกเลี่ยงการชนได้แทบ 100% เลยทีเดียว
แต่หากขับรถด้วยอาการเหนื่อยล้า ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) จะประมวลผลและเริ่มทำงานทันที โดยกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณกระจกหน้าซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบว่าผู้ขับมีอาการเหนื่อยล้า กล้องนี้มีหน้าที่ระบุและบันทึกตำแหน่งช่องทางที่รถวิ่งอยู่ เมื่อรถเคลื่อนที่ ระบบจะคาดการณ์ตำแหน่งที่รถควรจะอยู่โดยอ้างอิงจากตำแหน่งของช่องทางที่มีการบันทึกไว้ จากนั้นจึงวัดหาตำแหน่งที่แท้จริงของรถ หากพบว่ามีค่าความแตกต่างมาก ระบบจะส่งสัญญาณเตือนบนหน้าจอควบคุม หากผู้ขับยังไม่มีการตอบสนอง ระบบจะแสดงสัญญาณที่หน้าจอแสดงข้อมูล เพื่อให้ผู้ขับขี่ทราบว่าควรหยุดพัก แต่ ระบบนี้จะไม่ส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนช่องทางเพื่อเร่งแซง เนื่องจากระบบสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ขับกำลังบังคับรถออกนอกช่องทางโดยตั้งใจนั่นเอง
https://youtu.be/Sf8MI2qtitY
มีอีกระบบที่น่าลอง แต่ไม่ได้ลองใช้เพราะต้องใช้ในตอนค่ำคืนเท่านั้น เพราะมันคือ ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) โดยระบบจะทำงานที่ความเร็วสูงกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าจะตรวจสอบสภาวะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาว่าเมื่อใดต้องเปิดหรือปิดไฟสูง ซึ่งระบบจะเปิดไฟสูงเมื่อบริเวณนั้นมืดมากพอและไม่มีแสงไฟจากรถคันอื่นๆ โดยรอบ แถมเซนเซอร์ตรวจสอบยังทำงานได้ไกลถึง 720 เมตร อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบเทคโนโลยีเพิ่มเติมใน ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส รุ่นปี 2016 ได้แก่ ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ที่ช่วยให้การนำรถเข้าจอดเทียบข้างเป็นเรื่องง่ายดายด้วยการเหยียบคันเร่ง เข้าเกียร์ และเบรก โดยไม่จำเป็นต้องบังคับพวงมาลัย รวมไปถึง ระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert) ซึ่งจะคอยแจ้งเตือนผู้ขับในกรณีที่มีรถคันอื่นอยู่ในจุดบอดหรือเมื่อมีรถตัดผ่านในขณะถอยออกจากซองจอด ช่วยให้การถอยรถออกจากช่องจอดเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองขับ ผู้เขียนสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่าระบบเทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะใหม่ล่าสุด เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการใช้งานมาก ซึ่งจากการใช้งานจริง ไม่ได้ยุ่งยาก ปล่อยให้ระบบทำงานของมันไป ผู้ขับมีหน้าที่ขับให้เหมาะสมและปลอดภัย แต่หากเกิดเผอเรอในขณะขับไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ยังคงมั่นใจได้ว่ารถจะยังคงอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยต่อผู้ขับและผู้โดยสารมากที่สุด (ในเงื่อนไขที่ระบบทำงานตามที่กำหนดเอาไว้ด้วย) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ขับจำเป็นจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการขับรถ และไม่ประมาท หากไม่พร้อมควรจอดรถพัก ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบดังกล่าวนี้เข้ามาช่วย แต่มีเอาไว้ถือว่าไม่เสียหายอะไร
ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายมีดังนี้ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 3.2 ลิตร ไทเทเนี่ยม พลัส ราคา 1,749,000 บาท และ ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวล์ดแทรค 3.2 ลิตร ราคา 1,189,000 บาท
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th